สัญญาณ จากลำปาง Vote For Change

สัญญาณ จากลำปาง Vote For Change

เกิด แลนด์สไลด์ อีกแล้ว สำหรับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง เขต 4 ที่ เดชทวี ศรีวิชัย จากพรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นำโด่ง ชนะ วัฒนา สิทธิวัง จากพรรคเศรษฐกิจไทย ใต้ร่มเงา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กลายเป็นชัยชนะของฟาก “ฝั่งประชาธิปไตย” ที่แม้แต่หัวหน้าพรรคก็ยังสารภาพ ไม่คิดว่าจะชนะขาดลอย

พิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 คอมเมนต์ว่า นี่เป็นคะแนนจากความรู้สึกของประชาชนจริงๆ ว่า “เลือกข้างฝ่ายค้าน ไม่เอาฝ่าย รัฐบาล ส่งใครมาก็ไม่เลือก สะท้อนความนิยมรัฐบาลตกต่ำอย่างหนัก

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันอีกเสียงว่า กรณีนี้คือแลนด์สไลด์เพราะ ชนะทุกเขต บ่งชี้ถึงกระแสนิยมฝั่งประชาธิปไตย ไม่เฉพาะกรุงเทพฯ หากแต่ขยายขอบเขตถึงต่างจังหวัด
นับเป็นเหตุการณ์และบรรยากาศทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง

Advertisement

ประเด็นนี้ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า ผลการเลือกตั้งนี้มีความชัดเจนว่า ศรัทธารัฐบาลเสื่อมลง ผู้คนมองว่าพรรคเสรีรวมไทยเป็นตัวแทนฝ่ายค้าน ในขณะที่อีกพรรคหนึ่งถือว่าอยู่ข้างรัฐบาล

“เรื่องนี้บ่งบอกอยู่ว่า แม้ในพื้นที่ที่อาจจะยอมรับว่าเป็นพื้นที่ของพรรคใหญ่ แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่ลง อีกฝ่ายคงนึกว่าสบาย เพราะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็เป็นเจ้าของถิ่น หมายความว่าพรรคพวกเขาเยอะ แต่ในที่สุดคนก็เลือกตามกระแสการเมือง มากกว่าเลือกตามกระสุน คือไม่ได้เลือกตามบ้านใหญ่ คำว่ากระสุนไม่ได้หมายความว่าซื้อเสียง คือเลือกตามกระแสการเมืองมากกว่า เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องรู้จากผลเลือกตั้งนี้ คนทางเหนือที่เคยเป็นถิ่นของพรรคพลังประชารัฐเอง ก็ถือว่าเป็นถิ่นของตัวเหมือนกัน แต่ว่าความไม่ชัดเจนก็กลายเป็นเพลี่ยงพล้ำไปอย่างที่คนนึกไม่ถึง” รศ.สุขุมวิเคราะห์

สำหรับประเด็นล่าสุด ที่คู่แข่งผู้แพ้พ่าย อย่าง หมอรวย วัฒนา เบอร์ 3 พรรคเศรษฐกิจไทย เข้ายื่นคำร้องต่อ ผอ.กกต.ลำปาง ขอให้ตรวจสอบผลเลือกตั้งซ่อม โดยให้เหตุผลทำนองว่าเป็นไปอย่างไม่สุจริตเที่ยงธรรม เข้าข่ายผิด พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.2561

Advertisement

เรื่องนี้ อดีตอธิการบดีรั้วพ่อขุน ให้คำตอบว่า

“ผมว่าทุจริตหรือไม่ ผลก็คือแพ้ และคนบอกว่าแพ้เพราะไม่มีจุดยืนชัดเจน ทำเป็นพรรคท้วงรัฐบาลบ้าง พรรคโหวตให้รัฐบาลบ้าง แตกตัวจากรัฐบาลอะไรอย่างนี้ แสดงว่าเล่นแบบเกมการเมือง มากกว่าเล่นการเมืองเพื่อส่วนรวม” รศ.สุขุมทิ้งท้าย

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) วิเคราะห์ถึงชัยชนะของการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปางเขต 4 ว่าประกอบขึ้นด้วยหลายปัจจัย ไม่ใช่เหตุผลเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

“ผมคิดว่ามีหลายปัจจัย คงไม่ได้มาจากปัจจัยการแลนด์สไลด์ของตัวพรรคเองหรือฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียว ปัจจัยประการแรก คือ เป็นการเลือกตั้งซ่อม การต่อสู้แข่งขันอาจจะไม่เข้มข้นมากนักและเป็นการเลือกตั้งซ่อมครั้งที่สอง เนื่องจากผู้สมัครรายเดิมถูกใบเหลือง เพราะฉะนั้นการต่อสู้ในโค้งสุดท้ายซึ่งวาระของสภาผู้แทนราษฎรเหลือไม่มากนัก ก็อาจจะไม่เข้มข้นเหมือนในช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือมีการเลือกตั้งซ่อมในช่วงแรกๆ ปัจจัยประการที่ 2 คือ การเลือกตั้งในครั้งนี้พรรคการเมืองใหญ่ อย่างเช่น พรรคเพื่อไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่หลักในภาคเหนือนั้นไม่ได้ส่งผู้สมัคร โดยอาจจะเป็นการหลีกทางให้พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันหรือในกรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นผู้ตรวจสอบใบเหลือง พรรคเพื่อไทยก็อาจจะหลีกทางให้ด้วยส่วนหนึ่ง” รศ.ดร.ยุทธพรอธิบาย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีก 1 เหตุปัจจัยที่นับได้ว่าเป็นประการที่ 3 ตามมุมมองของนักรัฐศาสตร์ท่านนี้ที่ชี้เป้าไปที่ กระแสรัฐบาล และเศรษฐกิจ ที่เข้าข่ายไม่สู้ดีด้วยกันทั้งคู่

“กระแสของทางรัฐบาลและกระแสเรื่องของเศรษฐกิจที่ไม่ดี ตรงนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเทคะแนนเสียงมาให้ทางฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าสถานะในวันนี้อาจยังไม่ชัดเจน บางเรื่องเห็นกับรัฐบาลแต่บางเรื่องไม่เห็นด้วย แต่ว่าตัวผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก็คือบุคคลซึ่งเคยสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐมาก่อน จึงทำให้ภาพของตัวผู้สมัครของพรรค ศท.อาจจะยังยึดโยงอยู่กับทางรัฐบาลมากกว่า เพราะฉะนั้น หากถามว่าแลนด์สไลด์ครั้งนี้เกิดจากความไม่นิยมในรัฐบาลหรือเกิดจากการที่คนต้องการแสดงหรือสะท้อนภาพออกมานั้น ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายปัจจัยเท่านั้นเอง” รศ.ดร.ยุทธพรกล่าว

ไม่ถามไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้มีแนวโน้มฉายส่องแบบยาวๆ ไปถึง เลือกตั้งใหญ่ หรือไม่?
รศ.ดร.ยุทธพรมองว่า อาจได้เห็นการ ขยายตัว ของปรากฏการณ์นี้มากขึ้น และแท้จริงแล้ว ไม่ได้เพิ่งเกิด ทว่า ปรากฏให้เห็นตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8 คว้าชัยชนิดที่ทุบทุกสถิติใน 47 ปีแห่งประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ด้วยเสียงประชาชนคนกรุงเทพฯ กว่า 1.3 ล้านเสียง

“ในการเลือกตั้งใหญ่เราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์แบบนี้ที่ขยายตัวมากขึ้น ที่จริงเราเห็นได้ตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว การเลือกตั้งเป็นความหวังของประชาชน เพราะฉะนั้น หลังจากนี้ไปการเลือกตั้งจะไม่เหมือนในอดีตที่เป็นในเชิงยุทธศาสตร์ คือ การไปรวบรวมเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุดและได้รับชัยชนะแล้วจึงมาตั้งรัฐบาลกันโดยใช้คณิตศาสตร์การเมืองในรัฐสภา แต่การเลือกตั้งในวันนี้เป็นการเลือกตั้งที่เรียกว่า Vote For Change หรือการเลือกตั้งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าประชาชนเองก็คงมองหรือให้ความสำคัญในจุดนี้ด้วย” อาจารย์รัฐศาสตร์ มสธ.กล่าว

นับเป็นบรรยากาศที่ชวนจับตา ในห้วงเวลาที่ผู้คนอยากสบตากับ “ความเปลี่ยนแปลง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image