สื่ออิสระพบผู้แทนสหประชาชาติ คุยปมถูกขึ้นบัญชี ‘บุคคลเฝ้าระวัง’ โอปอ ‘สนข.ราษฎร’ ร่วมด้วย

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม เวลาประมาณ 11.00 น.  ตัวแทนสื่อมวลชนอิสระ 3 ราย ได้แก่ ‘โอปอ’ สำนักข่าวราษฎร ‘โบ้ท’ ช่องเฟรนด์ทอล์ก และ ‘บุรภัทร’ จากช่องประชาไท เดินทางเข้าพบนายเดวิด เมอร์ฟี่ ตัวแทนองค์การสหประชาชาติและคณะ เพื่อหารือสถานการณ์การใช้กระบวนการทางกฎหมาย และ รายงานพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐต่อสื่อมวลชนอิสระ
.
โอปอ แอดมินเพจ ‘สำนักข่าวราษฎร’ กล่าวว่า ตนเป็นนักผู้สื่อข่าวอิสระมาแล้ว 2 ปี รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดง อยู่บ่อยครั้ง และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ถูกดำเนินคดีจากกรณีขณะปฎิบัติหน้าที่ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ต่อมาตนเองถูกเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นทะเบียนบเป็นบุคคลเฝ้าระวัง ประเภทสื่ออิสระ ซึ่งเป็นเหตุให้ทางเจ้าหน้าที่มักจับตา ถ่ายรูปขณะลงพื้นที่ และมีการไปเยี่ยมที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีสื่อมวลชนอิสระถูกดำเนินคดีจากการลงพื้นที่ถ่ายทอดสด จำนวน 6 ราย และมี 2ราย ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ด้วย

“การขึ้นบัญชีเป็นบุคคลเฝ้าระวังดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางของตน และถือเป็นการขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพ ในวันนี้จึงนำเรียนผู้แทนองค์การสหประชาชาติให้ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว” โอปอกล่าว
.
ด้าน โบ้ท จากเพจ ‘เฟรนด์ ทอล์ก’ กล่าวว่า ตนถูกขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายภาพทะเบียนรถและมีการไปพูดคุยกับพ่อแม่ที่หน้าบ้าน โดยเจ้าหน้าที่มีการกล่าวหาว่าตนไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ชุมนุม

“ขอตั้งข้อสังเกตว่า การขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวังนั้น เกิดภายหลังจากการเคลื่อนไหวในช่วง 2564-2565 ที่หน่วยงานจากทางรัฐบาลมีความเห็นให้สื่อมวลชนกระแสหลักระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

มีนักข่าวอีกท่านหนึ่งที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ คือ ยา ณัฐพล ซึ่งเป็นสื่อมีสังกัด ในช่วงวันที่ 23 เมษายน 2565 ถูกสมาชิกกลุ่มรักสถาบันทำร้ายได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งคดีความดังกล่าวยังไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด” โบ้ทกล่าว
.
บุรภัทร จาก ‘ประชาไท’ กล่าวว่า ตนเป็นนักข่าวที่ถ่ายทำสารคดีของการเคลื่อนไหวของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหาในมาตรา 112  จึงคิดว่าว่าการถูกขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวังดังกล่าวเกิดมาจากสาเหตุนั้น
.
ด้าน นายเดวิด เมอร์ฟี่ ตัวแทนองค์การสหประชาชาติ ได้รับฟังข้อร้องเรียนจากนักข่าวทั้ง 3 คน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image