ผู้กอง ธรรมนัส พรหมเผ่า เลือกช่วงจังหวะ เปิดตัวร่วมงานกับฝ่ายค้านได้อย่างเหมาะเหม็ง
เมื่อยึดฤกษ์ ก่อนสภาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพียงไม่กี่วัน
ประกาศแยกทางรัฐบาล ย้ายข้างยืน ไปอยู่อีกฝั่ง ในขณะที่ สภาผู้แทนราษฎร กำลังหาแนว
ร่วมต่อสู้ แย่งชิงจำนวนเสียง
เพื่อมาชี้ชะตา ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีรายบุคคล รวม 11 คน ที่มีเป้าหมายสำคัญตามยุทธการฝ่ายค้าน คือการเด็ดหัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เปิดทางเปลี่ยนแปลงการเมือง
การเปิดตัวเป็นฝ่ายค้าน ในเวลาที่อาจทำให้เกิดการได้เสียทางการเมืองนี้ เป็นที่เชื่อได้ว่า ทำให้รัฐบาลหวั่นไหว
อย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้จำนวนเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร ลดลง 17 เสียง
ในห้วงเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อดำรงคงไว้ซึ่งสถานะฝ่ายบริหารต่อไป
ตัวเลข 17 เสียงนี้ ไม่น้อยอย่างแน่นอน
ยิ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพรรคเล็ก พรรคน้อย
ที่แม้ มี ส.ส.เพียงคนเดียวก็ตาม แต่รัฐบาลได้พยายามรักษาไว้ซึ่งฐานค้ำ ไม่ยอมให้ไหลไปอยู่กับ
ฝ่ายค้าน อันจะทำให้เสียงของฝ่ายรัฐบาลปริ่มน้ำมากขึ้น
17 เสียงนี้ก็ยิ่งมีความหมาย และสำคัญอย่างยิ่งยวด
แทนที่ความมั่นใจ รัฐบาลจะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อย่างชิล..ชิล เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
ก็กลับกลายมาเป็นความพะว้าพะวง
ประมาทเศรษฐกิจไทยถอนตัวไม่ได้
ต้องบริหารจัดการ คุมเสียงที่เหลืออยู่ในมือให้ดี ปล่อยแตกแถวอีกมิได้อันขาด
พรรคเศรษฐกิจไทย แตกรังมาจากพลังประชารัฐ
ผู้กองธรรมนัส นำ ส.ส.จำนวนหนึ่ง แยกออกมาอยู่กับพรรคใหม่ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในพลังประชารัฐ
มุ้งใหญ่ ให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มร้อย
มุ้งรองกลุ่มผู้กอง แม้แรกเริ่มเดิมที ร่วมขบวนหามแห่มาด้วยกัน แต่นับจากคิดก่อการโค่นล้ม และถูกปลดพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ระหว่างนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ก็สะบั้นขาด
เหลือเพียงเยื่อใย ผ่านความผูกพันระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลัง
ประชารัฐ กับ ธรรมนัส พรหมเผ่า เท่านั้น
ที่แม้แยกตัวออกไปก็ยังเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล
แต่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 18 เสียง ที่ไม่มีที่นั่ง ตำแหน่งใน ครม.แม้แต่หนึ่งเก้าอี้
จะเรียกสนับสนุน ฟรีก็ไม่ผิดนัก
ต่างจากพรรคร่วมรัฐบาล ชาติไทยพัฒนา หรือรวมพลังประชาชาติไทย อย่างสิ้นเชิง ที่แม้มี
ส.ส. 12 และ 5 ที่นั่งตามลำดับ
แต่กลับได้รับการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรี
ในมุมของบิ๊กตู่ อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ไม่ยอมให้ตำแหน่งรัฐมนตรีตามการต่อรอง ไม่ว่าจะหลังถูกปลด หรือแยกตัว ผุดค่ายใหม่
แต่ในมุมเศรษฐกิจไทย อาจมอง ไม่มีเหตุผล
เลือกตั้งซ่อมลำปาง มันข้ออ้าง ปลายเหตุ
ประเด็นหลักจริงๆ ที่ทำให้ผู้กอง ตัดสินใจ แยกทางรัฐบาล คือปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรือรัง ระหว่าง พล.อ.กับ ร.อ.
ผู้กองธรรมนัส ประกาศถอนตัว เลิกเป็นเสาค้ำรัฐบาล
ย้ายฝั่งร่วมงานกับฝ่ายค้าน
แต่ใครต่อใคร แม้แต่ฝ่ายค้าน ก็ยังมองเสมอเป็นเพียงเกมเคลื่อนไหวต่อรอง ไม่เชื่อว่า แตกหัก
ภายในพรรคร่วมรัฐบาลเอง แม้หวั่นไหว
แต่ประเมินเลวร้ายสุด หาก ส.ส. 16-17 เสียงพรรคธรรมนัส โหวตทิศทางเดียวกับฝ่ายค้าน
นั่นคือ ไม่ไว้วางใจ บิ๊กตู่ และรัฐมนตรีเป้าหมาย
เสียงก็ไม่มากพอ เกินครึ่งจำนวน ส.ส.ในสภาปัจจุบัน 476 คน อันจะส่งผลให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไป
เสียงไม่ไว้วางใจเลวร้ายสุด สูงสุด รวมเศรษฐกิจไทย อยู่แค่ 226 เสียง
ขณะที่ จำนวนที่จะทำให้บิ๊กตู่ (หรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ) ตกเก้าอี้ ปีกฝ่ายค้านต้องปั่นให้ได้ 239 เสียงขึ้นไป
ต่อให้เศรษฐกิจไทยยกพรรค โหวตแตกหัก
ก็โค่นรัฐบาลไม่ได้ นี่เป็นเรื่องจริง
และเรื่องจริงอีกเหมือนกัน ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือความเคลื่อนไหวล่าสุดของธรรมนัส
มีข้อดีอย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็คือช่วยปลุก ศึกอภิปรายครั้งนี้มิให้เงียบเหงา แต่กลับคึกคัก มีชีวิตชีวา ชวนติดตาม
และคำตอบทุกประการ จริง-ทิพย์
ใครบ้าง ไม่น่าไว้วางใจ จะรวมอยู่ในศึกนี้ มีคำตอบในตัว
จำลอง ดอกปิก