สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ผลลัพธ์’ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ผลลัพธ์’ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ใครๆ ต่างก็ทราบกันดีว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ไม่มีศักยภาพจะโค่นล้มรัฐบาลลงได้อย่างฉับพลันทันที

เพราะสภาพการณ์และบริบทของสังคมการเมืองไทย ไม่ได้เปิดโอกาส หรือขยายความเป็นไปได้ ให้นักการเมืองเสียงข้างมากสามารถโหวตคว่ำรัฐบาลคาสภาผู้แทนราษฎรด้วย “เจตจำนงอิสระ” ของตน

แล้วทำไมการประชุมสภา ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงมีความสำคัญ จนประชาชนอย่างเราๆ ต้องติดตามดูการถ่ายทอดสด หรืออัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว?

Advertisement

ประการแรกสุด นี่เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนฯ ชุดนี้ ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายค้านจะมีหมัดเด็ดหรือไม่มีหมัดเด็ด มีข้อมูลใหม่หรือมีแค่ข้อมูลเก่าๆ ก็ตาม แต่เชื่อว่า ส.ส.ที่รับหน้าที่อภิปราย จะต้องพยายามปล่อยหมัดของตนเองอย่างสุดแรง

ไม่ใช่เพื่อเอาชนะน็อกคู่ต่อสู้ที่ถูกอภิปราย แต่เพื่อแสดงบทบาทอันน่าประทับใจให้ประชาชนได้มองเห็นและรับฟัง

ประการต่อมา แม้คะแนนโหวตไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจอาจมีสีสันให้วิเคราะห์ติดตามกันบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ทุกคนล้วนตระหนักดีว่า “ผลลัพธ์สำคัญ” ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งนี้) ไม่ได้อยู่ที่คะแนนเสียงในสภา

Advertisement

หากอยู่ตรง “ผลสั่นสะเทือน” หลังจากนั้น ที่จะส่งปฏิกิริยาต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้ามากกว่า

แม้หลายคน ทั้งที่อยู่ในหรือนอกแวดวงการเมือง อาจกำลังพยายามทำตัวเป็น “ศาสดาพยากรณ์” ด้วยการประเมินผลเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้ากันบ้างแล้ว ผ่านสายตาแบบ “ผู้เชี่ยวชาญ”

แต่ทุกคนคงไม่กล้าปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า ผลการเลือกตั้งรอบหน้านั้นไม่มีทางซ้ำรอยเดิมกับผลเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ในลักษณะ “สำเนาถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์”

นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้ง ส.ส. และเลือกตั้งนายกฯ ทางอ้อม ยังไม่ได้วางพื้นฐานอยู่บนภูมิทัศน์ทางการเมือง หรือการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นแบบเป๊ะๆ

รวมทั้งไม่ได้มีสถานภาพเป็นเพียงเบี้ยหมาก ที่ชนชั้นนำทางการเมืองบางกลุ่มและ “บ้านใหญ่” ต่างๆ จะขยับเคลื่อนไปมาบนกระดานได้ตามใจชอบ

เพราะผลเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตอันใกล้ จะต้องถูกผลัก ถูกป่วน ด้วยองค์ประกอบข้ออื่นๆ ที่ควบคุม หรือคาดเดาไม่ได้อีกเยอะแยะมากมาย

เช่น คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกประเทศ ซึ่งเป็น “จำนวนที่ไม่ถูกนับ”ในการเลือกตั้งระดับอื่นๆ

พลวัต-พัฒนาการ-ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ “รุดหน้า-ถอยหลัง” ไปตลอดสี่ปีที่ผ่านมา

ตลอดจนกระแสความนิยมของแคนดิเดตนายกฯ รายใดรายหนึ่ง ที่อาจก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ร้อนแรง และแพร่กระจายไปกว้างขวาง ก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่นาน (คล้ายคลึงกับกระแส “ฟ้ารักพ่อ” หรือ “ชัชชาติฟีเวอร์”)

ความผันแปรของ “องค์ประกอบที่คุมไม่ได้” เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็น “ผลลัพธ์” ของสถานการณ์ทางการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่า ที่ค่อยๆ เขยื้อนพาสังคมไทยไปสู่คูหาเลือกตั้ง

แน่นอนว่า ประสิทธิภาพในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ ส.ส.ฝ่ายค้าน รวมถึงความสามารถในการโต้ตอบของนายกรัฐมนตรีและบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย

ย่อมมีส่วนกระตุ้นเร้าต่อความผันแปรดังกล่าวอย่างสำคัญ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image