บทนำ : ไม่เข้าใจแต่‘รู้’

บทนำ : ไม่เข้าใจแต่‘‘รู้’’

กฎกติกาในการเลือกตั้งของประเทศไทย ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของเฉพาะกลุ่มการเมือง ล่าสุด รัฐสภาลงมติให้ใช้สูตรหารด้วย 500 เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของกลุ่มอำนาจ เมื่อเร็วๆ นี้ นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชาชนเข้าใจประเด็นหาร 100 หรือหาร 500หรือไม่” เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนต่อร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 หรือหาร 500 พบว่า ตัวอย่าง 62.35% ระบุว่า ไม่เข้าใจเลย รองลงมา 21.11% ไม่ค่อยเข้าใจ 11.74% ค่อนข้างเข้าใจ และ 4.80% เข้าใจมาก

เมื่อถามประชาชนที่เข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจ เกี่ยวกับสูตรหาร 500 พบว่า 36.41% ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา 30.41% ค่อนข้างเห็นด้วย และ 16.59% เห็นด้วยมากและไม่ค่อยเห็นด้วยในสัดส่วนที่เท่ากัน เหตุผลที่รัฐสภาลงมติใช้สูตรหาร 500 พบว่า ตัวอย่างที่เข้าใจมากและค่อนข้างเข้าใจ 28.11% ระบุว่า ต้องการให้ทุกคะแนนที่ประชาชนไปใช้สิทธิมีความหมาย รองลงมา 23.96% ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันต้องการคงอยู่ต่อไปหลังเลือกตั้งครั้งหน้า 20.28% ระบุว่า ต้องการให้โอกาสพรรคเล็กได้มี ส.ส.ในสภา 17.97% ระบุว่า ต้องการไม่ให้มีพรรคใดชนะแบบแลนด์สไลด์ และ 9.68% ระบุว่า เป็นการแลกเปลี่ยนกับการโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น

ปัญหาของรัฐธรรมนูญเป็นที่ทราบกันว่า ร่างขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ดังที่มีการพูดว่า ดีไซน์เพื่อพวกเรา จึงมีแนวทางหลายประการในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล อาทิ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การให้ ส.ว.จากแต่งตั้งมาเลือกนายกฯ และล่าสุด การที่รัฐสภาพลิกมาใช้ 500 หาร เพื่อสกัดการแลนด์สไลด์ของพรรคคู่แข่ง โดยไม่กังวลว่าขัดกับหลักเหตุผล และอาจขัดรัฐธรรมนูญเสียเองด้วย ทำให้เห็นชัดว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ประชาชนจะไม่เข้าใจวิธีการคำนวณ แต่ประชาชนรู้ดีว่า ต้องหาร 500 เพราะอะไรและเพื่อใคร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image