ดาบแรก ‘ศึกซักฟอก’ แค่ถากๆ หรือบาดลึก

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการประเมินการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันแรกของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการเปิดประเด็นข้อมูลการซักฟอกและการชี้แจงของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

การอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรกนั้น จากการเปรียบเทียบความรู้สึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้งที่ผ่านมา คิดว่าฝ่ายค้านทำได้ดีที่สุด ทุกครั้งจะมีการประเมินการทำงานของฝ่ายค้าน ที่ผ่านมาการอภิปรายเหมือนกันไม่มีผลกระทบอะไรมาก แต่ดูการอภิปรายครั้งนี้พบว่า ฝ่ายค้านทำการบ้านได้ดี สิ่งที่น่าตกใจมากคือ ฝ่ายรัฐบาล รัฐมนตรีหลายคนตอบคำถามไม่ได้ ที่เจ็บปวดที่สุดคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ หนีการตอบการอภิปรายต่อหน้าที่ประชุมสภา แสดงว่าล้มเหลวมาก โดยเดินออกจากสภาแล้วจะมาตอบพรุ่งนี้ ซึ่งแสดงถึงสภาวะไร้ความเป็นผู้นำอย่างสูงของรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าฝ่ายค้านได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จนทำให้รัฐมนตรีหลายคนตอบปัญหาไม่ได้

ยอมรับว่าเก่งมากคือการเดินคู่ขนานไประหว่างการอภิปรายในสภา กับการอภิปรายนอกสภา จากคนแดนไกลของพรรคเพื่อไทยคือ ฝ่ายค้านอภิปรายไป ส่วนข้างนอก สื่อของฝ่ายค้านพยายามส่งต่อข้อมูลให้กับประชาชน ปลุกประชาชนให้มาสนใจติดตามการอภิปราย ขณะเดียวกันผู้ที่มีบทบาทสำคัญของพรรคเพื่อไทย นายทักษิณ ชินวัตร ก็ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นคลับเฮาส์สื่อสารทางการเมืองต่อ เหมือนกับการทำงาน
คู่ขนานกันไป อย่างที่พรรคฝ่ายค้านบอกว่า ฝ่ายค้านอาจจะแพ้เกมในสภา แต่ข้างนอกอาจจะสร้างกระแสความสนใจทางการเมืองของประชาชน การเดินคู่ขนานดังกล่าว ถือว่าทำได้อย่างดีทีเดียว หากเปรียบเทียบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้งที่ผ่านมา

ที่สำคัญพรรคฝ่ายค้านหาประเด็นที่น่าสนใจใหม่ๆ มาอภิปราย ทำให้มองเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหาร ส่วนการตอบของซีกรัฐบาลเหมือนเดิม ตอบแบบข้างๆ คูๆ ตอบแบบไม่มีเหตุผล ไม่มีตรรกะ ไม่มีข้อมูล ตอบแบบวิธีการเดิมๆ เพราะมั่นใจว่าคณิตศาสตร์ทางการเมืองในสภา จะชนะฝ่ายค้านแน่นอน

ADVERTISMENT

การมองการอภิปรายระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดว่า นพ.ชลน่านสื่อสารได้ดี สามารถใช้เทคนิคความรู้ทางการแพทย์อย่างมีนัยสำคัญในการอภิปราย ส่วนการตอบโต้ของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น สังคมต้องทำใจเพราะทำได้แค่นี้จริงๆ เพราะมีปัญหาในการใช้ตรรกะ ไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่มีตรรกะรองรับ พยายามกล่าวในทำนองที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีบุญคุณกับประเทศ ถ้าไม่มีตนเองประเทศจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นประโยคที่พูดซ้ำกันมา 8 ปี หากมองในเรื่องการสื่อสารทางการเมืองถือว่าล้มเหลวมาก

การชี้แจงของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คิดว่าการสื่อสารของนายอนุทินอยู่ในลักษณะที่พอใช้ได้ ถึงจะไม่ดีมาก แต่ก็ยังมีข้อดีคือมีการยืนยันจากข้อมูลที่มีการรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศ ทางด้านสาธารณสุข หลักฐานเหล่านี้มองให้เห็นว่า ฝ่ายค้านไม่สามารถหักล้างได้ เพราะการชี้แจงมาจากข้อมูลที่เชื่อถือได้ ส่วนภาพลักษณ์การชี้แจงนั้นก็เป็นภาพลักษณ์เฉพาะตัว
ของนายอนุทิน แต่การที่นำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาชี้แจงนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับรองจาก WHO องค์กรสาธารณสุข ทางการแพทย์ ทำให้ข้อมูลมีการอธิบายไปในตัว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม การชี้แจงสไตล์เหมือนกับ นายอนุทิน แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้เป็นการเปิดข้อมูลใหม่ของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ในเรื่องนี้ นายศักดิ์สยามต้องตอบให้ได้ว่ากลุ่มที่เข้ามามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความสัมพันธ์อย่างไรกับนายศักดิ์สยาม ยอมรับว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่ผู้อภิปรายได้รับความนิยมและคะแนนสูงมาก ดูจากกระแสตอบรับมีมาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คิดว่าสไตล์น่าสนใจ เพราะสื่อสารเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา สไตล์คนเมืองชล และยังไม่วายกระแนะกระแหนทางการเมือง และพาดพิงไปถึงคนบางคนเกี่ยวกับการค้าแป้ง ทำให้มีสีสันทางการเมืองได้ดี

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้คิดว่าพรรคฝ่ายค้านจะใช้โอกาสการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อสร้างกระแสความนิยมให้กับตนเองอย่างเต็มที่ แล้วใช้วิธีการเดินคู่ขนานปลุกกระแสสังคม และขุดคุ้ยรัฐบาลต่อไป เพื่อสร้างความไม่เป็นธรรมทางการเมือง ขณะเดียวกันรัฐบาลอาจจะอาศัยกลไกของสภา โดยไม่สนใจฝ่ายค้านจะอภิปรายอย่างไร เพราะมีเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว ในที่สุดรัฐมนตรีทุกคนก็ผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นศึกอภิปรายสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปีหน้า หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าฝ่ายค้านต้องมีข้อมูลเด็ดที่จะล้มรัฐบาลได้ เหมือนดังที่โฆษณาไว้ก่อนจะมีการอภิปราย เมื่อการอภิปรายวันแรกจบลง สิ่งที่พบคือ ฝ่ายค้านได้มีการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจและประกอบกับท่าที น้ำเสียง และคำพูดต่างๆ ที่เสียดสีผู้ถูกอภิปราย สิ่งเหล่านี้เป็นที่เข้าใจได้ว่าคงเป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายค้านที่ต้องการนำเสนอข้อมูลการกระทำผิดและการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงพฤติกรรมของผู้ถูกอภิปรายให้ประชาชนรับทราบ นอกจากนี้ ยังเป็นการยั่วยุให้ผู้ถูกอภิปรายอารมณ์หลุด ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการขาดวุฒิภาวะของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย รวมถึงการแสดงความอึดอัดที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาลให้กับผู้ถูกอภิปรายได้รับทราบ

ถ้าถามว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่สมราคาคุยก่อนที่จะมีการเปิดอภิปราย ว่าจะ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” ที่มาจากฝั่งพรรคเพื่อไทย หรือการปล่อยโปสเตอร์ “เผาจริง” จากพรรคก้าวไกล ผมคิดว่าวันแรกเรายังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะทำได้จริงไหม แต่จากเท่าที่ดูการอภิปรายจะพบว่า นายสุทิน
คลังแสง พรรคเพื่อไทย และ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล มุ่งเป้าการอภิปรายไปที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนในช่วงโควิดที่ล้มเหลว ทำให้คนตายจำนวนมาก และเอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัทที่ผลิตวัคซีน และนโยบายกัญชาเสรีซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก มีเยาวชนนำกัญชาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และไม่มีการออกกฎหมายควบคุมอย่างรอบคอบก่อนที่จะประกาศใช้นโยบาย

การอภิปรายไปที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม การอภิปรายดังกล่าวมุ่งโจมตีในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว ประเด็นนี้ทำให้หลายคนในสังคมสนใจกันมาก เพราะผู้อภิปรายมีข้อมูลในการนำเสนอที่ชัดเจน และตั้งคำถามได้อย่างแหลมคมถึงเส้นทางการเงินของนายศักดิ์สยามก่อนที่จะมารับตำแหน่งรัฐมนตรี

พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลมุ่งอภิปรายไปที่ 2 แกนนำหลักของพรรคภูมิใจไทยในวันแรก ผมอยากชี้ให้เห็นว่าการอภิปรายที่เกิดขึ้นนั้นเล็งเห็นผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าภายใต้กติกาการเลือกตั้งที่หาร 500 พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคที่ได้เปรียบอย่างมากในกติกาดังกล่าว เพราะเป็นพรรคขนาดกลาง รวมถึงผลงานการเลือกตั้งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.เข้ามาค่อนข้างมากในระบบนี้ ยังไม่รวมถึงภายหลังมี ส.ส.จากพรรคอื่นย้ายเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นนั่งร้านสำคัญในการค้ำยันรัฐบาลประยุทธ์ในช่วงที่ผ่านมา การเปิดอภิปราย 2 แกนนำหลักของภูมิใจไทย ถึงแม้ว่าการโหวตลงมติในตอนสุดท้ายเชื่อว่ารัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านจะได้รับมติไว้วางใจจาก ส.ส. เนื่องจากระบบรัฐสภานั้นเอื้อและสนับสนุนต่อการบริหารงานของรัฐบาล แต่ข้อมูลที่ถูกอภิปรายของนายอนุทินในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนและการเปิดกัญชาเสรี รวมถึงพฤติกรรมของนายศักดิ์สยามในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและเอื้อต่อการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย จะต้องมีการถูกพูดต่อในสังคมและนำไปสู่การตรวจสอบจากองค์กรอิสระ รวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านยังใช้เรื่องดังกล่าวในการโจมตีนโยบายของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้

การอภิปรายนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกอภิปรายอย่างหนักหน่วงจากนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในเรื่องการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องในโครงการ “เคหะสุขประชา” ที่อ้างว่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกให้ประชาชนได้เช่า และการอ้างไปถึงการนำเงิน ถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งนายจุติลุกขึ้นตอบโต้เป็นเพียงการปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ แต่ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันถึงสิ่งที่ถูกกล่าวหารวมถึงไม่สามารถตอบคำถามของผู้อภิปรายได้ทั้งหมด ผมคิดว่าเราคงต้องรอดูในวันต่อไปของศึกอภิปรายว่า นายจุติจะมีการชี้แจงอย่างไร รวมถึงหลังการอภิปรายจะมีการยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการทำงานเพื่อค้นหาความจริงต่ออีกหรือไม่ แล้วถ้ามี ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดหรือให้ความเห็นต่อไปอย่างไร แต่ที่แน่ๆ เลย ก่อนการอภิปรายเกิดขึ้นจะเห็นความสั่นคลอนในพรรคประชาธิปัตย์เองที่มี ส.ส.ในพรรคจะใช้เอกสิทธิ์ไม่ยกมือลงมติไว้วางใจให้รัฐมนตรีของพรรค

ประเด็นนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ระบาดหนัก และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ถูกกล่าวหาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์กับแรงงานต่างด้าวผ่านการเก็บส่วยแรงงาน และการใช้ตำแหน่งเอื้อธุรกิจครอบครัว การตอบคำถามของนายชัยวุฒินั้น ได้ยอมรับถึงผลกระทบที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่าหน่วยงานกำลังแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญคือยังตอบไม่ได้ว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร และปัญหาเหล่านี้จะหมดลงเมื่อไหร่ เพราะนับวันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักมากขึ้น แต่สิ่งที่ประชาชนเห็นการแก้ไขปัญหาของทางกระทรวงดีอีเอส คือการเตือนอย่ารับเบอร์แปลกเท่านั้น

ส่วนการตอบคำถามของนายสุชาติ จะเป็นไปในลักษณะของการชี้แจงข้อมูลในเรื่องการถือหุ้นในบริษัทก่อนเข้ามาเป็น ส.ส. และการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้แรงงานนั้นมีระบบการตรวจสอบและการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ถูกกล่าวหา มากกว่านั้น การตอบคำถามนายสุชาติอดไม่ได้ที่จะมีการปะทะคารมกับผู้อภิปรายพร้อมกับเหน็บแนมกลับไป

สุดท้ายการเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งกล่าวหาถึงพฤติกรรมของนายกฯที่ขาดวุฒิภาวะผู้นำ และการทำงานที่ผิดพลาด เกิดการคอร์รัปชั่น เศรษฐกิจแย่ ประชาชนยากจน และการเป็นตัวตลกในเวทีต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่านายกฯจะโดนอภิปรายในลักษณะนี้มาทุกรอบการอภิปราย แต่ที่เห็นได้ชัดคือ นายกฯ ก็ยังมีหลุดลุกขึ้นพูดเพื่อตอบโต้และเหน็บแนมฝ่ายค้านในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอภิปรายเหมือนอย่างเคย

ภาพรวมของอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันแรกซึ่งเราจะเห็นว่าฝ่ายค้านเองมุ่งโจมตีไปที่รัฐมนตรีที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นแกนนำหลัก ทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการเปิดแผล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งการยั่วยุให้อารมณ์เสียและการเปิดประเด็นเรื่องการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อปูทางไปสู่การอภิปรายที่จะเจาะเฉพาะเรื่องต่อไปในอนาคต