บทนำวันศุกร์ที่22กรกฎาคม2565 : กัญชาทางการแพทย์

ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการอภิปรายถึงการปลดล็อกกัญชาพ้นจากการเป็นยาเสพติด โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเรื่องการควบคุมการใช้กัญชาในกลุ่มเสี่ยงและบางกลุ่มอายุ รวมถึงตั้งข้อสงสัยต่อคุณประโยชน์ของกัญชา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาชี้แจง โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กัญชาทางการแพทย์เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ 986 แห่ง ทั้งรัฐและเอกชน เพื่อจ่ายยากัญชา มีแพทย์ผ่านอบรมการใช้กัญชารักษาโรค 7.5 พันคน แพทย์แผนไทยอีก 7 พันกว่าคน ตั้งแต่ ปี 2562 ถึงปัจจุบันมีการจ่ายยากัญชารักษาโรคไปมากกว่า 4.5 แสนครั้ง ผู้ป่วยกว่า 1.4 แสนคน นับว่าเป็นประโยชน์มาก รวมถึงมีการทำการวิจัยกว่า 60 เรื่อง เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยแน่นอน

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์มีมานาน โดยแบ่งข้อบ่งชี้เป็น 3 ข้อใหญ่ 1.กลุ่มได้ประโยชน์ มีเอกสารอ้างอิง งานวิจัยชัดเจน อาทิ กลุ่มผู้ป่วยรับเคมี คลื่นไส้อาเจียน มะเร็งระยะสุดท้าย มีการศึกษาในไทยพบว่าดีขึ้น โรคลมชักในเด็ก ผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ 2.กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โดยมีการศึกษาที่เชียงใหม่ พบว่า ร้อยละ 13-14 ได้ผล ขณะที่โรคปลอกประสาทอื่นๆ และโรคอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา 3.กลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ คือ โรคมะเร็ง แต่ยังทดลองในหลอดทดลอง ซึ่งพบว่าสารสกัดในกัญชาสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้

ความห่วงใยผลกระทบจากการใช้กัญชา ซึ่งล่าสุดมีการอภิปรายในสภาระหว่างพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ แต่เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ความห่วงใยต่างๆ ควรเป็นไปด้วยหลักเหตุผล และหลักทางวิชาการ สำหรับเรื่องประโยชน์ทางการแพทย์ มีการค้นคว้าและทำวิจัย มีผลที่ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์หลายเรื่อง ที่เป็นปัญหามาก น่าจะเป็นเรื่องของการแพร่กระจายออกไปของกัญชาภายหลังการปลดล็อก และมีความไม่ชัดเจนว่าขอบเขตในการใช้อยู่ตรงไหน ทางรัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายและระเบียบ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการนำกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการแพทย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image