09.00 INDEX กระแส กดดัน ปรับ ครม.กระหึ่ม จากพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์

เหมือนกับจำนวนของ “มือ” ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากระหว่าง 248 ของฝ่ายรัฐบาล กับ 213 ของฝ่ายค้านมีความแน่ชัดอย่างยิ่ง ว่าผลของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปจะดำเนินไปอย่างไร

กระนั้นอย่างน้อยที่สุดการเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีบางคนกับสภาวะผันแปรของ “มือ” ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

นั่นก็เนื่องจากสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ ปฏิบัติการในการอภิปรายของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลต่อรัฐมนตรีบางคนส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้ง

ไม่ว่าจะเป็น นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ว่าจะเป็น นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความขัดแย้ง “ภายใน” ของพรรคร่วมรัฐบาล บางพรรคไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนต่อรัฐมนตรีของพรรค หากแต่ ยังแผ่ลามเข้าไปยังสถานะของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

จำนวนของ “มือ” ที่สังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย และการพลิกผัน แปรเปลี่ยนของ “มือ” ในสังกัดพรรคขนาดเล็กจึงทรงความหมายขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

เริ่มมีการพูดถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ของการปรับ ครม.เพื่อรับมือกับสถานการณ์เลือกตั้งในอีก 8 เดือนข้างหน้า

Advertisement

ทั้งหมดนี้แสงแห่งสปอตไลต์ฉายจับไปยัง 2 จุดสำคัญ นั่นก็คือ ตำแหน่งของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่นก็คือ ตำแหน่งของ นายจุติ ไกรฤกษ์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์

น่าสังเกตว่าไม่ว่า นายจุติ ไกรฤกษ์ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาจากแรงผลักและกดที่ดำรงอยู่ “ภายใน”

นั่นก็คือ พรรคพลังประชารัฐต้องการวางบทบาทให้กับหัวหน้าพรรค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อรับมือกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์มาจากความหงุดหงิด ไม่พอใจต่อบทบาทของ นายจุติ ไกรฤกษ์ ก่อให้เกิดกระแสนำไปสู่การลงคะแนนเสียงในแบบ “ฟรีโหวต”

ทำให้การลงมติในวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคมทรงความหมาย

ต้องยอมรับว่าหลังการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ความต้องการในการปรับ ครม.ดำรงอยู่สูงขึ้นเป็นลำดับ

เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนกรานไม่ปรับ

สถานการณ์จากญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจจึงเป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่แรงกดอย่างหนักหน่วงและรุนแรง

เป็นคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้านได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image