เปิดข้อเสนอคลองหลอด “ปะ-ผุ-เพิ่ม-เติม” ร่างรธน.

หมายเหตุ – ความเห็นของกระทรวงมหาดไทยต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อไปคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย

หมวดที่ 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

หลักการ
ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 วรรคสาม กำหนดให้ “การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น” เห็นควรเพิ่มคำว่า “ผังเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 37 วรรคสาม

เหตุผลประกอบ
ร่างรัฐธรรมนูญได้ใช้คำว่า “เพื่อประโยชน์อย่างอื่น” ซึ่งตีความได้หลากหลาย เห็นควรให้เพิ่มเติมคำว่า “ผังเมือง” ในมาตรา 37 วรรคสาม เพื่อให้เกิดความชัดเจน และให้มีฐานอำนาจรองรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง ซึ่งมีบัญญัติในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพ

Advertisement

หมวด 4 หน้าที่ของประชาชน

หลักการ
ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดให้ บุคคลมีหน้าที่ 10 ประการ เห็นควรเพิ่มให้บุคคลมีหน้าที่ “ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ”

เหตุผลประกอบ
เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกว่าการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะเป็นหน้าที่ของบุคคลทุกคน และเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกัน ปวงชนชาวไทยทุกคนพึงให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมกับรัฐในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

หลักการ
ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 52 กำหนเให้ “รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เห็นควรเพิ่มถ้อยคำว่า “ต้องมิให้กิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน อยู่ในความผูกขาดของเอกชน อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ”

Advertisement

เหตุผลประกอบ เพื่อป้องกันการผูกขาดตัดตอนการดำเนินกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ

หลักการ
ร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 6 มิได้บัญญัติหลักการบริหารราชการแผนดินให้ครบถ้วน เห็นควรกำหนดให้ “การบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย การบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดภารกิจ ขอบเขตของอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละส่วนให้ชัดเจน เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

เหตุผลประกอบ
1.เนื่องจากภายใต้มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันเดียวกัน แบ่งแยกมิได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องบัญญัติให้มีโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินทั้ง 3 ส่วน คือ การบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

2.กลไกของส่วนภูมิภาคในการเป็นส่วนเชื่อมโยงการบริหารงานระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการบริหารราชการแผ่นดิน หากไม่กำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจน อาจจะทำให้ภาคประชาชน และหน่วยงานราชการเกิดความสับสนในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 78 (2) และร่างรัฐธรรมนูญ 2558 (ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ในมาตรา 81 (3)

หลักการ
ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 กำหนดให้รัฐจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ฯลฯ เห็นควรเพิ่มเติม “ให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการบูรณาการการพัฒนาในเชิงพื้นที่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม และเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้จัดทำแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัดให้มีความเชื่อมโยงกัยอย่างเป็นระบบ”

เหตุผลประกอบ
เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนให้จังหวัดมีการจัดทำแผนและงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัดให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ มีทิศทางและเป้าหมายชัดเจนในทางเดียวกัน เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ

หลักการ
เห็นควรเพิ่มหลักการในเรื่อง “การผังเมือง” ไว้ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ดังนั้น “รัฐต้องจัดให้มีการผังเมือง การพัฒนาเมืองและชนบท ในลักษณะบูรณาการ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และการใช้การผังเมือง เป็นแนวทางและมาตรฐานในการพัฒนาสาธารณูปโภค และการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมและยั่งยืน รวมทั้งจัดระบบการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมและกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม”

เหตุผลประกอบ
หลักการ “การผังเมือง” มีความจำเป็นที่สมควรจะบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการผังเมืองเป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาทางด้านกายภาพ ตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับชุมชน โดยการบูรณาการเรื่องต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม นโยบายภาครัฐ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและเป็นระบบ โดยหลักการทำนองเดียวกันนี้ได้เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550

หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

หลักการ
เปลี่ยนคำว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็น “การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น”

เหตุผลประกอบ
เพื่อให้สอดรับกับบทบาทและภารกิจในการบริหารราชการ รวมทั้งสอดคล้องกับการจัดระบบการบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image