ชัชชาติ ไขว้หมัด วราวุธ ผนึกแก้มลพิษ ประเดิม ‘ฝุ่น PM2.5-น้ำเสียท้ายคลองหัวลำโพง’

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 กรกฎาคม ที่ห้องประชุม 301 ชั้น 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขตพญาไท กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ประชุมหารือร่วมกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ 2 หน่วยงานได้มาร่วมกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองหลังสะสมมายาวนาน 6 เรื่องไปพร้อมกัน คือ การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาขยะมูลฝอย การลดปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะในเขตเมือง เพื่อเพิ่มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาหลักของคนเมืองมาตลอด และช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานครดีขึ้น จึงได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และต้องเห็นผลรูปร่างชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ โดยเรื่องแรกที่จะทำร่วมกันคือการหาต้นตอของฝุ่น PM 2.5 แล้วนำไปรวมเป็นแผนระยะยาวในอนาคต เพราะกระทรวงทรัพยากรฯ มีโมเดลพยากรณ์การเกิดฝุ่นอยู่แล้วจึงง่ายต่อการร่วมกันแก้ปัญหา แล้วร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อทำบัญชีทำคาร์บอนฟุตปรินต์ในกรุงเทพมหานคร และการแก้ปัญหาน้ำเสียและคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมจุดที่รุนแรงที่สุดก่อน

“ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับฝุ่นที่ประเทศไทยเจอ ที่ประเทศรอบนอกมีการผลิตฝุ่นขึ้นมาแล้วพัดเข้ามา ยังดีที่ กทม.สามารถประสานงานกับทางกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ปริมณฑล ส่วนฝุ่นที่มาจากนอกประเทศ ทาง ทส.ได้แจ้งไปทางเลขาธิการอาเซียน เพื่อขอความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน

เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า 200 กว่านโยบายของท่านผู้ว่าฯ พูดไว้กับชาว กทม. กว่า 60 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพย์ฯ และวันนี้เราก็จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการทำงานของ กทม. เพราะ กทม.เป็นเขตการปกครองพิเศษ หลายอย่างที่กระทรวงทรัพย์ฯ อยากเข้าไปทำ และวันนี้ก็จะได้การต้อนรับอย่างดีจากทางผู้ว่าฯ และเราจะได้ทำงานร่วมกัน” นายวราวุธกล่าว

Advertisement

นายชัชชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาน้ำเสีย กทม.และกระทรวงทรัพยากรฯ จะเริ่มที่จุดน้ำเสียท้ายคลองหัวลำโพงลำดับแรก ด้วยการปรับปรุงคุณภาพน้ำจากตะกอนที่อยู่ข้างล่างก่อน ถือเป็นการทำต้นแบบแก้น้ำเสียจากคลองที่มีน้ำเสียมากที่สุด ส่วนการปลูกต้นไม้จะต้องปลูกให้มากขึ้น เพื่อทำคาร์บอนฟุตปรินต์ เพราะต้นไม้บางต้นทำได้ บางต้นทำไม่ได้ การเพาะกล้าไม้ การดูแลต้นไม้ และการปลูกต้นไม้เพราะกรุงเทพมหานครมีความรู้จำกัดต้องขอความช่วยเหลือจากกระทรวงทรัพยากรฯ

“เรื่องน้ำเสีย ทาง กทม.อยากจะเริ่มเล็กๆก่อน เช่น คลองหัวลำโพง เขตคลองเตย ที่เป็นคลองสั้นๆ โดยสาเหตุมาจากตะกอนดินเน่า ลองกำจัดต้นตอของเสียอย่างไร มอนิเตอร์น้ำอย่างไร ด้วยสเกลที่ทำได้ในระยะไม่นาน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบำบัดน้ำในคลองขนาดใหญ่ต่อไป

“ตั้งแต่มีการหาเสียงตอนเลือกตั้ง เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง ทั้งเรื่องขยะ น้ำเสีย เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง โดยมีหลายเรื่องที่ทาง ทส.ได้ทำไปแล้ว เช่น นักสืบฝุ่น ติดตั้งเซนเซอร์วัดฝุ่น แอพพลิเคชั่นการปลูกต้นไม้ หลายเรื่องที่สามารถร่วมมือกัน เพื่อเห็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว กทม.ทำงานคนเดียวไม่มีวันสำเร็จ สำหรับ 6 เรื่องที่รัฐมนตรีพูดมา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคณะทำงาน ออกตัวต้นแบบให้เกิดผลได้ภายในสิ้นปีนี้

กทม.จะเริ่มทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีเท่าไหร่ โดยก่อนหน้านานมาแล้วทางไจก้าเคยทำตัวเลขมาที่ 42 ล้านตัน ซึ่งต้องมีการอัพเดทข้อมูล เพื่อทำบรรทัดฐานออกมาตรการต่อไป

ส่วนฝุ่นที่เกิดจากนอกพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นสาเหตุหนึ่งที่มาร่วมกับ ทส. เพราะ ทส.ดูฝุ่นทั้งประเทศ รู้ถึงจุดกำเนิดฝุ่นในแต่ละพื้นที่ ซี่งต้องอาศัยอำนาจจากกรมควบคุมมลพิษบังคับใช้กฎระเบียบนอกพื้นที่ กทม. ส่วนเรื่องการลดฝุ่น ทาง กทม.เตรียมออกมาตรการ มีแนวทางพอสมควร ถ้าชัดเจนจะแจ้งให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ใช้รถบรรทุกเป็นตัวสำคัญ เพราะเป็นตัวปล่อย PM 2.5 เยอะ” นายชัชชาติกล่าว และว่า ต้องขอบคุณนายวราวุธที่กรุณาศึกษานโยบาย 60 ข้อ

 “ต้องขอขอบพระคุณท่านรัฐมนตรีมากที่กรุณาศึกษานโยบาย ว่ามี 60 นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ”นายชัชชาติกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image