เสา 6 ต้นที่กระทรวงกลาโหม คือหลัก 6 ประการที่ ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ สร้างเพิ่ม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างเสาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ที่หน้ากระทรวงกลาโหม

​อาคารกระทรวงกลาโหม เป็นอาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของพระราชวังหลวง หรือเมื่อออกจากประตูด้านหน้าวัดพระแก้ว ฝั่งตรงข้ามก็คืออาคารแห่งนี้

​การสร้างอาคารกระทรวงกลาโหม น่าจะเป็นโปรเจ็คฉลองร้อยปีกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งสร้างปี 2424 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี สร้างเสร็จเปิดทำการเมื่อ 18 กรกฎาคม 2427 เป้าหมายการสร้างเพื่อเป็นที่ประจำการของ “ทหารวังหลวง” หรือ “โรงทหาร” ของพระมหากษัตริย์ ที่แต่เดิมทหารเหล่านี้จะมีอาคารพักขนาดยาวตั้งอยู่ริมกำแพงวังหลวงด้านนอกด้านในโดยรอบ

เราต้องเข้าใจก่อนว่าในช่วงเวลานี้ ระบอบการปกครองของไทยยังเป็นแบบตกทอดมาจากสมัยอยุธยา มีวังหลวง วังหน้า และวังหลัง ซึ่งวังหลังได้หมดบทบาททางการเมืองไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แล้ว ดังนั้น จึงเหลือแต่ วังหลวง หรือพระบรมมหาราชวัง กับวังหน้า ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือวังหลวงห่างออกไปราวสามร้อยเมตร

Advertisement

​วังหน้ามีกองกำลังสมัยใหม่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระปิ่นเกล้าฯ พระมหากษัตริย์องค์ที่สองในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยกองทหารสมัยใหม่ของวังหน้ามีทั้งจำนวนและอาวุธยุทโธปกรณ์ “ไม่ด้อยกว่า” วังหลวง
​สภาพการณ์ที่ตึงเครียดและขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในช่วงสิบปีแรกของรัชกาลที่ 5 จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์วังหน้า” ปี 2417 เมื่อเกิดเพลิงไหม้โรงแก๊สในวังหลวงอย่างหาสาเหตุไม่ได้ นำมาสู่ความตรึงเครียดทางทหารของสองวัง นี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งของการสร้างสมกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของวังหลวงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

​กิจการทหารได้รับการเสริมสร้างเป็นอันดับแรกๆ ของสมัยรัชกาลที่ 5 ​หากเราลบภาพอาคารตึกขนาดใหญ่ที่อยู่รายรอบวังหลวงและถนนราชดำเนินที่มีอยู่ในตอนนี้ออกไป แล้วจินตนาการว่า อาคารตึกกระทรวงกลาโหมคืออาคารนอกวังหลวงที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในยุคปีนั้น ท่านจะเห็นความหมายอันสำคัญของ “โรงทหาร” ที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรของสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งนี้เพิ่มยิ่งขึ้น

​นายโจอาคิม กราซี สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารกลาโหมนี้เป็นฝรั่งชาติอิตาลี ที่รัชกาลที่ 5 จ้างมาทำงานเป็นคนแรกในประเทศ เขาออกแบบอาคารโดยใช้ศิลปะแบบปัลลาเดียน (Palladian) ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 ซึ่งหวนคืนความนิยมในแบบกรีก-โรมัน เน้นความหนาและทึบทึมของอาคาร สกุลศิลปะนี้ในขณะนั้นกำลังได้รับความนิยมในยุโรป อังกฤษและอเมริกา ดังนั้น สกุลศิลปะนี้จึงสอดรับกับแนวคิดกองทัพเพื่อสถปนาอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแบบโลกตะวันตก

Advertisement

​อย่างไรก็ตาม จากการค้นพบข้อมูลใหม่ของ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (เผยแพร่ใน มติชน, 16 มิถุนายน 2565 หน้า 13) ว่า

“พื้นที่ระเบียงชั้นสองของมุขโถง” ด้านหน้าของอาคารกระทรวงกลาโหม ได้สร้างต่อยื่นออกมาโดยจอมพล ป. ในขณะเป็น นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี 2479-2482

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เรามองเห็นได้ชัดขึ้นว่า จอมพล ป. ได้เพิ่มสัญญะหรือความหมายของหลัก 6 ประการ หรือนโยบายสร้างชาติไทยใหม่ 6 ข้อ ของคณะราษฎรไว้ที่เสา 6 ต้นที่เผยโฉมเด่นสง่ารองรับระเบียงที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งก็สอดรับกับการสร้างเสา 6 เสาขนาดใหญ่มากๆ ที่อาคารศาลฎีกา และอาคารสมาคมคณะราษฎรที่วังสราญรมย์ ทั้งสองอาคารนี้ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ด้านตะวันออกของพระราชวังหลวงในยุคสมัยเดียวกันกับการเพิ่มระเบียงเสา 6 ต้นที่อาคารกลาโหม

​หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ 1) หลักเอกราช 2) หลักความปลอดภัย 3) หลักเศรษฐกิจ 4) หลักสิทธิเสมอภาค 5) หลักเสรีภาพ 6) หลักการศึกษา

​ปี 2482 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคือหลักหมายการประกาศหลักเอกราชไทยที่สมบูรณ์ เพราะคณะราษฎรบรรลุความสำเร็จของเป้าหมายหลักนี้เมื่อได้แก้ไขสภาพ “กึ่งอาณานิคม” (semi-colony) หรือ “เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” (extraterritoriality) ที่เสียกึ่งเอกราชไปตั้งแต่ไทยเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงปี 2398 ในสมัยรัชกาลที่ 4 และลงนามแบบนี้กับอีก 14 ประเทศต่อเนื่องมาถึงกลางสมัยรัชกาลที่ 5

​เอกราชไทยที่สมบูรณ์นี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงให้วันที่ 24 มิถุนายน ตั้งแต่ปี 2482 เป็น “วันชาติ” และมีวาระเฉลิมฉลองวันชาติเป็นวันหยุดแห่งชาติ 3 วันตั้งแต่นั้นมา ทั้งได้ประกาศเอกราชในเนื้อเพลงชาติไทยที่เพิ่งร้องขึ้นปีแรก 2482 นี้ว่า “เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image