‘ปริญญา’ แถลงมติประชาชนโหวตคู่ขนาน 5.2 แสนเสียง ‘ไม่ไว้วางใจ’ 97%

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เวลาประมาณ 13.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 12 ตึกสังคมศาสตร์ 2  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มีการแถลงข่าว ผลการโหวต “เสียงประชาชน” ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ คู่ขนานสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการจาก 4 สถาบัน ได้แก่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ , นายภูมิ มูลศิลป์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ นายวันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม

นายปริญญา กล่าวว่า ผลการโหวตเสียงประชาชนในวันนี้ เป็นการลงมติไว้วางใจและไม่ไว้วางใจ คู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร และวิเคราะห์ผลที่ออกมา ซึ่งเจตนารมย์ของการจัด เสียงประชาชน มีสถาบันซึ่งรวมตัวกับ องค์กรพฤษภาประชาธรรม เห็นว่าควรต้องส่งเสริม ประชาธิปไตยให้ประชาชน และเสียงของประชาชน ได้ดังยิ่งขึ้นต่อไป เราจึงร่วมกันจัดลงมติคู่ขนาน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

“ประชาชนทุกคนที่มีมือถือ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถลงมติได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ชอบรัฐบาล หรือไม่ชอบรัฐบาล จะเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล หรือคนละฝ่ายกับรัฐบาลก็ตาม สังกัดพรรคหรือไม่สังกัดพรรค อยู่พรรคไหนก็แล้วแต่ ทุกคนเสมอกัน สิ่งนี้เรียกว่าประชาธิปไตยโดยตรง ซึ่งปกติการลงคะแนน แบบประชาธิปไตยโดยตรง ค่าใช้จ่ายจะสูง ถ้าทำทั้งประเทศ ซึ่งประเทศไทยเคยมีการลงประชามติ รัฐธรรมนูญไปแล้ว 2 ครั้ง ค่าใช้จ่ายสูงมาก ใช้เงิน 2-3 พันล้านบาท

ตอนนี้เรามีโทรศัพท์มือถือ ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สะดวกมากสำหรับประชาชน อยู่ที่ไหนก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด ลงมติได้เลย นี่คือเสียงของประชาชน ที่เป็นอำนาจของประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเราใช้ประชาธิปไตย แบบตัวแทนประชาชน เลือกตั้งผู้แทน ก็ไปออกเสียงในสภา ​แต่ช่องทางของประชาชน สามารถทำได้มากกว่าเดิม โดยไม่ต้องลงประชามติ ผ่านการเข้าคูหาหรือจัดหน่วย ซึ่งประชาชนยากลำบาก ในการเดินทางไปใช้สิทธิ์ นี่จึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย” นายปริญญากล่าว

​นายปริญญา กล่าวว่า เราคาดหมายว่าครั้งแรก น่าจะมีคนมาลงประชามติประมาณ 1 แสนโหวต ก็น่าดีใจแล้วถือว่าบรรลุเป้าแล้ว แต่ครั้งนี้มีคนมาโหวตถึง 5.2 แสนโหวต โดย 1 เครื่องเป็นการโหวต 1 ครั้งและ 11 คน แยกกัน โดยสามารถเลือกที่จะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ แตกต่างกันได้โดย 1 ครั้ง โหวตได้ 11 คน แต่ทั้งนี้อาจจะเป็นไปได้ ที่มีคนที่มีมือถือมากกว่า 1 เครื่อง การที่เราใช้วิธีนี้เพราะสะดวกที่สุด และถ้าจะทำให้เป็น 1 คน 1 เสียง คือครั้งต่อไป ที่เรากำลังวางแผนกันอยู่ โดยการใช้บัตรประชาชน

“ผมสังเกตว่าคะแนนที่ลงไป ไม่เหมือนกันเลยกับ สภาผู้แทนราษฎร เพราะสภาผู้แทนราษฎร ก็ทราบว่าคะแนนไว้วางใจ และไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องของการยกมือของ ส.ส. ซึ่งมีปัจจัยในเรื่องของ การเจรจาต่อรอง , การล็อบบี้หรือมากกว่านั้น เป็นตัวกำหนดในการจะไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจ แต่ประชาชนทั้งประเทศ คือ เจ้าของประเทศ และแสดงออกมา และน่าสนใจมาก ว่าผลที่ออกมาไม่ตรง กับเสียงที่ออกโดยผู้แทน สิ่งนี้ควรต้องส่งเสริมให้มาก เพื่อลดช่องว่างความแตกต่าง ระหว่างการโหวตโดยมีการเจรจา ต่อรองกับการโหวตโดยประชาชน” นายปริญญา กล่าว

Advertisement

​นายปริญญา กล่าวว่า การโหวตโดย “เสียงประชาชน” มีมาจากทั่วทั้งโลก ไม่ได้เฉพาะในประเทศไทย เพราะว่าอินเตอร์เน็ต จะอยู่ที่ประเทศไหน ก็สามารถโหวตได้ ฉะนั้นเรื่องนี้น่าสนใจมาก ถ้าคนไทยในต่างประเทศ ต้องการจะเลือกตั้ง ก็สามารถใช้มือถือได้เลย

“ผลสรุปของการลงมติ เสียงของประชาชน ที่มาร่วมโหวตใน 5.2 แสนคน คือ ลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คน ไม่มีใครผ่านเลย โดยคะแนนที่ออกมาอยู่ระหว่าง 96% – 97% ที่ไม่ไว้วางใจ โดยไว้วางใจเพียง 3 – 4% ทั้งนี้มีรัฐมนตรี 3 คนที่ได้คะแนน และไว้วางใจ 4% ไม่ไว้วางใจ 96% คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา , นายจุติ ไกรฤกษ์ , นายสุชาติ ชมกลิ่น ที่เหลือ 97% หมดเลย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วย โดยอันดับ 1 ที่ถูกไม่ไว้วางใจมากที่สุด คือ พลเอกประวิตรวงษ์สุวรรณ อันดับ 2 คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากการตรวจสอบของเราไม่พบว่ามีการโหวตซ้ำในมือถือ หรือไม่พบเลข IP ซ้ำ ในเครื่อง ผลโหวตที่ออกมา เพียงแต่ว่าจะมี 1 คน ที่มีมือถือเกิน 1 เครื่อง ตรงนี้ยอมรับตั้งแต่ต้น แล้วว่าอาจจะมีปัญหาจริงๆ จึงมีคนที่โหวตมากกว่า 1 ครั้ง โครงการนี้เป็นครั้งแรก เราจึงยังไม่ใช้เลขบัตรประชาชน เพราะถ้าใช้ไปแล้ว จะเกิดความยุ่งยาก ไม่ใช่ว่าประชาชนลำบากขึ้น แล้วจะไม่โหวต แต่ว่าความเกรงกลัวในเรื่องของ การแฮ็กข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้ เลขบัตรบัญชี มีเรื่องของคอลเซ็นเตอร์ต่างๆ โดยที่กระทรวงดิจิตอล ยังไม่แก้ไขปัญหานี้ได้ดีนัก ดังนั้นครั้งแรกเราจึงยังไม่ใช้ แต่ครั้งต่อๆไปถ้าทำให้ประชาชนเชื่อมั่น ไม่มีข้อมูลที่รั่วไหลและปลอดภัย ซึ่งในทางเทคนิคสามารถทำได้” นายปริญญา กล่าว

Advertisement

นายพิชาย  กล่าวว่า 1. การเปิดแบบฟอร์ม ให้ประชาชนโดยตรง เป็นการเปิดช่องทาง การมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นการเชื่อมต่อ ของการมีส่วนร่วม การเมืองภาคประชาชน และภาคต่างๆเข้าด้วยกัน 2. การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ ประชาชนให้ความสนใจ และติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ในอดีตประชาชน ก็ฟังและพูดคุยกัน บ้างวิพากษ์วิจารณ์กันไป ในสภากาแฟ แต่ไม่สามารถมีส่วนร่วมใดๆ ทางการเมือง ในกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา

“การที่นักวิชาการ 4 สถาบัน ร่วมกับกลุ่มที่จัดงานพฤษภา 35 ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปิดขยายช่องทาง การมีส่วนร่วมที่มีนัยยะสำคัญ ทางการเมืองในอนาคต ซึ่งมีกิจกรรมให้ประชาชน ร่วมลงมติในนโยบายสำคัญ ถ้าสมมุตในอนาคต มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็อาจจะให้ประชาชนพิจารณาดูว่า อยากจะร่วมอย่างไร ในมาตราใด
​ส่วนจะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ซึ่งประเด็นนี้ทำให้เรามีความหวัง สังคมไทยมีความหวังว่า ประชาชนตื่นรู้เป็นพลเมือง ที่สามารถเข้าร่วมทางการเมืองได้ ท่านโอกาสและช่องทาง” นายพิชายกล่าว

​นายพิชาย กล่าวว่า สำหรับแบบแผนของการลงมติ ระหว่างในสภา-นอกสภาจะแตกต่างกัน ตนลองอนุมาณดู และสรุปสั้นๆว่า “สภาล้าหลัง-ประชาชนก้าวหน้า”  สภาล้าหลังเพราะวิธีการโหวต เป็นไปตามพวกพ้อง โดยมีการกำหนดทิศทาง ในการโหวตไว้ล่วงหน้า ไม่ได้สนใจข้อมูลข่าวสาร ที่มีการอภิปรายในสภา ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการ ของระบบประชาธิปไตย เพราะในระบบประชาธิปไตย ที่ให้มีการอภิปราย คือ เป็นการใช้เหตุและผล ตามข้อมูลข่าวสาร แล้วจึงค่อยตัดสินใจ ​ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในฐานะที่เป็นผู้แทนประชาชน ไม่ใช่ได้รับคำสั่งว่า พรรคนี้ต้องโหวตอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงว่า การเมืองยังล้าหลังอยู่
​นายพิชาย กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลายครั้งจนกลายมาเป็น อัตลักษณ์ทางการเมือง ในยุคระบอบประยุทธ์ ถึง 3 ป. เป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้เกิด พรรคการเมืองขนาดเล็กมากมาย อีกทั้งความล้าหลัง ในการโหวตของสภา สังเกตได้ว่าเวลาโหวต คนที่ได้คะแนนสูงสุด หรือคนที่มีทรัพยากรมาก ก็จะมีแนวโน้ม ได้รับคะแนนไว้วางใจ ส่วนคนที่ดูแล้วไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ ที่ดีกับคนอื่นเท่าไหร่ ก็จะได้คะแนนไว้วางใจต่ำ

​“ภาคประชาชนโหวต โดยไม่มีความรู้สึกทางการเมืองใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เขารับรู้ข้อมูลข่าวสาร จากระยะเวลาที่ผ่านมา เขาจะโหวตไปตามความคิด เหตุผล และตามอารมณ์ เพราะฉะนั้นการโหวต ของประชาชน โหวตตามข้อมูลข่าวสาร ที่เขาได้รับรู้ และใช้ความคิดการตัดสินใจ ซึ่ง 500,000 แสนกว่าเสียง ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร จึงถือว่ากิจกรรม ที่ทำให้บรรยากาศของประชาธิปไตย มีชีวิตชีวา มีความกระตือรือร้น ทำให้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ถูกนำไปคิดไตร่ตรอง และลงมือทำโดยภาพรวม” นายพิชาย กล่าว

นายภูมิ กล่าวว่า พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย ในประเทศไทยเติบโตมาเรื่อยๆ ประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วม ก็มีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากสืบต่อไปยังคนรุ่นใหม่มากขึ้น ฉะนั้นการที่เราจะได้ทดสอบ นวัตกรรมสำหรับใช้เป็นเครื่องมือ ในกระบวนการประชาธิปไตย ก็เป็นจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาประชาธิปไตยเช่นกัน

“เชื่อว่าการที่จะเปิดพื้นที่ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ในรูปแบบประชาธิปไตยใหม่ๆ จึงมีโอกาสสำหรับประเทศไทยอีกมากต่อไป ในการมีส่วนร่วมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสาธารณะ โครงการที่จัดสร้างต่างๆ หรือการใช้นวัตกรรมชิ้นนี้ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ทั้งสิ้น ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น จากการริเริ่มโครงการนี้ ในระยะเวลาที่ไม่นาน แต่ผลตอบรับมหาศาล

เห็นได้ว่าประชาชน ทุกภาคส่วนของประเทศ และต่างประเทศ ให้ความสนใจที่จะเข้ามีส่วนร่วม ในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเสียงสะท้อนที่ออกมาแตกต่างกัน แต่พอมองย้อนไปในสภา กลับกลายเป็นว่า ครม.ได้เสียงไว้วางใจ ขอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้าไป ได้สะท้อนเสียงหรือเจตจำนง ของประชาชนจริงหรือไม่” นายภูมิกล่าว

นายวันวิชิต  กล่าวว่า โครงการ “เสียงประชาชน” เป็นนิมิตหมายดี ที่สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนสนใจและนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ตนเห็นว่า เป็นตลกร้ายที่เห็นว่า ผลโหวตในสภากับนอกสภา มีอันดับและตัวเลขย้อนแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เราเห็นคะแนนไว้วางใจสูงสุดในสภา คือ พลอ.ประวิตร แต่คะแนนไม่ไว้วางใจ นอกสภาสูงที่สุด คือ พล.อ.ประวิตร ซึ่งประชาชนล้นหลาม มีตัวเลขกลมกลมคือ 5.2 แสนคน โหวตให้พล.อ.ประวิตรไม่ได้รับความไว้วางใจสูงสุด

​“เรื่องของการเมืองที่ว่าด้วย การต่อรองผลประโยชน์ ความสัมพันธ์เชิงไขว้ ทางอำนาจทางการเมือง คือ พรรคการเมืองบางพรรค สมาชิกบางคน ที่เอาใจออกห่าง จากมติพรรค ไปโหวตสนับสนุน หรืองดออกเสียง อาจจะมีอนาคต ที่จะไปทำกิจกรรมทางการเมือง ร่วมกันหรือความสัมพันธ์ เป็นเรื่องส่วนบุคคล มีความเคารพบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ แน่นอนในสภา ที่เห็นพล.อ.ประวิตร เป็นคนที่มีบารมีสูงสุด ในทางการเมืองขณะนี้ แต่นอกสภาประชาชนกว่า 5.2 แสนคน โหวตไม่ไว้วางใจ มันเป็นความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ว่าตลอดระยะเวลา 8 ปีและเข้าสู่ปีที่ 4 ของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2562 เ จะเห็นได้ว่า 3 ป.มาด้วยกัน ยังอยู่กันด้วยกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังบริหารประเทศอยู่ แต่ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ก่อนหน้านี้ก็คือหมู่บ้านกระสุนตก ดังนั้นคน 97% ที่โหวตไม่ยอมรับ แล้วอาจจะมีความรู้สึกว่า มีความเป็นไปได้ว่าเบื่อ อาจจะต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะการอยู่ในอำนาจยาวถึง 8 ปี เราไม่เห็นว่ามีผู้นำที่เข้ามา แข่งขันในทางการเมือง นี่คือสิ่งที่ตนกังวลและเป็นห่วง

การทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน และภาควิชาการ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นความกล้าหาญ ที่จะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ ว่าเสียงสะท้อนของประชาชน ไปสู่ผู้บริหารประเทศเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันนักการเมือง ต้องมีหิริโอตัปปะทางการเมือง ต้องรู้จักละอายสิ่งที่เกิดขึ้นในสภา ว่าย้อนกับเจตจำนง หรือความเป็นจริง เพราะเท่าที่ดูประชาชนตอบ ในเรื่องของการไม่ไว้วางใจ และดูเนื้อหา 4 วันที่ผ่านมา คุณภาพการตอบคำถาม ของนักการเมืองมีทั้งไม่สนใจ และตอบไม่ตรง แล้วยังไปบูลี่ด้อยค่า คนที่กำลังอภิปราย ว่าเป็นคนที่มีเบื้องหลัง มีชนักติดหลัง นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น” นายวันวิชิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image