คลื่นลมในเศรษฐกิจจีนและสหรัฐ

เศรษฐกิจโลกเคยถูกคาดหวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเราได้ผ่านภาวะแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจมานานแล้วและอาจเชื่อกันว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ไม่น่าจะนานกว่ายุคเศรษฐกิจโลกตกต่ำในทศวรรษ 1930

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ถูกโจมตีจากภาวะวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อ 8 ปีที่แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวมาระยะหนึ่งแล้วและเป็นสัญญาณว่าอีกหลายประเทศน่าจะเริ่มฟื้นตัวตาม

ในขณะที่จีนซึ่งแสดงความเข้มแข็งอย่างดีในช่วงที่ประเทศพัฒนาแล้วประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็น่าจะยังคงเป็นพลังสำคัญของเศรษฐกิจโลกได้ดีถ้าประเทศเหล่านั้นทยอยฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐซึ่งบางไตรมาสเคยส่งสัญญาณว่าจะเติบโตได้สูงถึงใกล้ๆ ร้อยละ 3 ก็กลับอ่อนตัวลง ในขณะที่จีนเริ่มไม่สามารถรักษาเป้าหมายการเติบโตระดับร้อยละ 7 ไว้ได้และกำลังถูกโจมตีจากปัจจัยทางจิตวิทยาอย่างหนัก

Advertisement

ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลกและได้สร้างความตื่นตระหนกอย่างมากไปถึงภาคเศรษฐกิจจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดน้ำมันปิโตรเลียมด้วย

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถพึ่งพาอาศัยแรงผลักดันจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้ ความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยากกลายเป็นคลื่นลมที่พลิกผันในรอบทศวรรษ

คำถามสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจึงขึ้นอยู่กับประเด็นว่าทั้งสองประเทศนี้จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ

Advertisement

ในช่วงปีที่ผ่านมา ความผันผวนในตลาดสินทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่เดินตามหลังภาวะเศรษฐกิจด้วยความไม่มั่นใจนัก อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการคาดคะเนรายได้ที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ

การคาดการณ์ประการหลังนี้เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำนั้นสะท้อนถึงเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและขาดกำลังซื้อ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกทำให้เกิดความกังวลในสหรัฐอเมริกาว่าเศรษฐกิจของประเทศตนเองก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบตามมาท่ามกลางนโยบายการเงินที่จำเป็นต้องตึงตัวมากขึ้นเพื่อให้สภาพคล่องกลับเข้าสู่ระดับที่ใกล้ปกติ

ความจริงแล้ว ภาวะอ่อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้มิได้มาจากกำลังซื้อภายนอกประเทศมากนักเนื่องจากภาคส่งออกมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ ทว่ามาจากเศรษฐกิจภายในประเทศเองที่กำลังได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่เกิดปัญหาการผลิตล้นเกิน

ลักษณะที่ผสมผสานของตัวเลขทางเศรษฐกิจในสหรัฐจึงค่อนข้างสับสน ไม่ชี้ทิศทางที่ชัดเจนอย่างที่เคยเป็น ตัวเลขภาคแรงงานดี อัตราการว่างงานล่าสุดลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 4.9 อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ยอดขายค้าปลีกเริ่มอ่อนแอลง

ถ้าหากมองที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาพลังงานน้ำมัน เราจะเห็นปัจจัยลบที่ชัดเจนเพราะบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องลดรายจ่ายลงทุน บ้างต้องลดการจ้างงาน บ้างต้องขายสินทรัพย์ออกไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรักษากระแสเงินสดเพื่อให้เงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นและเพื่อการชำระหนี้

การปรับตัวในระยะต้นของบริษัทพลังงานมีผลกระทบระดับหนึ่งต่อรายจ่ายของระบบเศรษฐกิจและเมื่อบริษัทจำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ปัจจัยลบนี้ก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น

เราจะสังเกตเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนตัวตั้งแต่ราคาน้ำมันโลกทรุดตัวและบริษัทน้ำมันกำลังเริ่มมีปัญหาการชำระตราสารหนี้ที่ออกขายอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และกำลังเข้าสู่ระยะที่ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ

ปัญหาสภาพคล่องและการอยู่รอดทางธุรกิจน่าจะแสดงอาการอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 นี้หรืออาจจะตลอด 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะนี้มีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (High-yield bonds) กำลังเพิ่มปัญหาที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจพลังงานในช่วงที่ผ่านมามีความรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วและสามารถมีอิสระทางการเงินด้วยการออกตราสารหนี้ของตนเองจนกระทั่งมีสัดส่วนสูงประมาณร้อยละ 14 ของมูลค่าตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง รองลงเพียงเล็กน้อยจากธุรกิจสื่อสาร มูลค่าตราสารหนี้ที่เกิดในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซรวมถึงเหมืองแร่คิดรวมกันจะตกประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนจะเท่ากับร้อยละ 5 ของตราสารหนี้ทั้งหมดหรือร้อยละ 11.2 ของจีดีพี ถ้าหากไม่ระบาดไปยังสาขาอื่นๆ ผลกระทบต่อภาพรวมน่าจะมีจำกัด

ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจสหรัฐโดยทั่วไปยังนับว่าเข้มแข็งขึ้นอย่างช้าๆ ภาวะอ่อนตัวในปัจจุบันจึงยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพียงแต่อุตสาหกรรมพลังงานจะเป็นอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญในช่วง 1-2 ปีนี้

อุตสาหกรรมนี้มีปัญหาที่ไม่สามารถปรับลดการผลิตตามราคาที่ลดลงได้และในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตก็คาดคะเนจากประสบการณ์ในอดีตว่าราคาน้ำมันดิบมีโอกาสที่จะกลับมาสูงอีกภายในเวลาที่ไม่ยาวนานจนเกินไป การปิดกิจการจึงไม่เกิดขึ้นจริง

แต่เมื่อสถานการณ์ยังเลวร้ายต่อไปอีกนานเพราะราคาจะต้องปรับตัวแทนการปรับลดการผลิต หลายรายที่มีต้นทุนสูงจะต้องปิดตัว ส่วนที่เหลืออยู่จะเป็นส่วนที่มีต้นทุนต่ำและปรับประสิทธิภาพการผลิตได้ดี

กลไกตลาดเสรีจะคัดเฉพาะผู้ผลิตที่เข้มแข็งไว้ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เข้มแข็งอย่างมากในอนาคต ข้อมูลล่าสุดพบว่าผู้ผลิตหลายรายสามารถปรับตัวได้ดีและมีแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า 30 เหรียญต่อบาร์เรล ผู้ผลิตเหล่านี้มีความเข้มแข็งกว่าที่เคยทราบกันและจะกลายเป็นกลุ่มที่ครองตลาดแทน

ถึงแม้การฟื้นตัวในอนาคตจากภาวะอ่อนตัวชั่วคราวอาจไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตได้ในอัตราใกล้ร้อยละ 3 แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ของตนสร้างปัญหาทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างรุนแรง

ส่วนจีนเป็นเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง แต่ด้วยเหตุที่มีขนาดใหญ่และเติบโตสูงมากมาหลายทศวรรษ จึงเป็นธรรมดาที่จะรักษาอัตราการเติบโตที่สูงอย่างในอดีตไว้ได้ยาก อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจค่อยๆ ลดต่ำลงตลอดจนกระทั่งอยู่ในอัตราร้อยละ 6.9 ในปี 2558 ลดลงจากร้อยละ 7.3 ในปีก่อนหน้านั้น

การที่รัฐบาลจีนใช้จ่ายอย่างมากในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเริ่มอยู่ในระดับที่ควรระมัดระวัง และในช่วงที่ตลาดส่งออกอ่อนแอจีนก็เริ่มหันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศรวมทั้งการอาศัยการกระตุ้นทางการเงิน หนี้ภาคเอกชนซึ่งรวมถึงหนี้ผ่านสถาบันที่มิใช่ธนาคาร (Shadow banking) กลายเป็นส่วนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การปรับตัวทางโครงสร้างสู่การบริโภคในขณะที่สาขาบริการเพิ่งเริ่มเติบโตทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตสูงตามเป้าหมายที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ นักลงทุนต่างประเทศเริ่มขาดความมั่นใจ บางส่วนไม่เชื่อมั่นในตัวเลขสถิติที่จัดทำโดยรัฐบาล

รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากต่อภาพลักษณ์ จึงต้องการให้เงินเรนมินบีหรือเงินหยวนเป็นเงินตราสกุลหลักของโลกและต้องการเห็นหลักทรัพย์ของจีนอยู่ในดัชนี MSCI

การยอมรับบนเวทีสากลเคยทำให้จีนได้ผลประโยชน์มหาศาลซึ่งก็คือการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกนั่นเอง แต่ภาพลักษณ์ที่กำลังมีเข็มมุ่งอยู่ทุกวันนี้เป็นการเร่งรัดที่เร็วจนเกินไปและเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเชิงสัญญลักษณ์ที่จะมีต้นทุนสูงในรูปของปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน

ความพยายามเร่งความสำเร็จที่เงินตราของจีนจะอยู่ในตะกร้าเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะมีผลอยู่บ้างในปริมาณเงินตราที่ประเทศต่างๆ ใช้เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ แต่ปริมาณเงินตราส่วนนี้มีสัดส่วนเล็กและการตัดสินใจใช้เงินตราสำรองสกุลใดยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ก็ยังนิยมรักษาเสถียรภาพเงินตราของตนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งแม้แต่จีนเองก็เป็นเช่นนั้น

การบรรจุเงินเรนมินบีให้เป็นส่วนหนึ่งในตะกร้าเงินเอสดีอาร์จึงกลายเป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่คนภายในประเทศที่เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความต้องการเงินหยวนจะมากขึ้นและทำให้ค่าเงินหยวนสูงขึ้น ฟองสบู่สินทรัพย์จึงยิ่งสะสมรุนแรง

ในทำนองเดียวกัน ข่าวคราวที่หุ้นจีนจะอยู่ในดัชนี MSCI ทำให้นักลงทุนชาวจีนมองว่ากองทุนต่างๆ จะเข้าลงทุนในหุ้นจีนอย่างมหาศาล แต่ข่าวนี้ก็ไม่เป็นไปตามคาด

ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนภายในประเทศจึงแตกต่างกันไปคนละทิศทางและได้สร้างปัญหาเสถียรภาพให้แก่ตลาดทุนอย่างรุนแรงซึ่งในปีที่ผ่านมาเงินทุนไหลออกจากจีนมีมูลค่ามากถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

เศรษฐกิจที่กำลังอ่อนตัวของจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแต่มิใช่การทรุดตัวทางเศรษฐกิจ (Hardlanding) สถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ รัฐบาลเริ่มปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่อิงค่าเงินสหรัฐให้มีความเสรีมากขึ้นรวมทั้งมิให้ค่าเงินแข็งมากเกินไปด้วย

การปรับลดค่าเงินนี้คงจะดำเนินต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนตัวลงไปอีกซึ่งรัฐบาลจีนได้เริ่มปรับเป้าหมายให้ลดต่ำลงและยืดหยุ่นขึ้นเป็นร้อยละ 6.5-7.0

เป็นการไม่ง่ายที่จีนจะเติบโตได้ตามเป้าหมายดังกล่าวแต่เชื่อว่าการอ่อนตัวต่ำกว่าเป้าจะนำไปสู่ค่าเงินเรนมินบีที่ลดลงไปอีกซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่ามาตรการอื่นๆ สำหรับจีน

ส่วนที่ยากสำหรับรัฐบาลคือการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน นักลงทุนเหล่านี้มักทำธุรกรรมขนาดใหญ่และมีพฤติกรรมแบบไล่ล่าซึ่งสร้างความผันผวนอย่างมาก จึงเป็นการยากเกินไปที่รัฐบาลจะฝืนตลาดเงินทุนระยะสั้นให้มีความราบเรียบดังใจ

คลื่นลมในเศรษฐกิจจีนรวมทั้งสหรัฐอเมริกาจึงเป็นคลื่นลมที่มีความรุนแรงแต่ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นภัยหรือหาทางออกไม่ได้

การเติบโตในระยะปานกลางของทั้งสองประเทศที่ยังดีพอสมควรจะทำให้คลื่นลมดังกล่าวเหล่านั้นอ่อนกำลังลงในปีต่อๆ ไป

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐอีกไม่นานจะกลับมาเป็นข่าวร้าย ในขณะที่การชะลอตัวอีกของจีนก็จะสร้างปัญหาซ้ำเติมที่รุนแรงเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image