ที่เห็นและเป็นไป : อยากในอำนาจ จน‘ทิ้งคุณธรรม’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

กติกาโครงสร้างอำนาจรัฐ ที่ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.กำลังถูกทำให้เป็นเหตุของการตอกย้ำ “ความไม่ชอบธรรมทางการเมือง”

เพราะกำลังมีความพยายามอย่างทุรนทุรายที่จะให้เป็นกฎหมายที่สนองตอบ “ความกระหายสืบทอดอำนาจ” โดยละเลยที่จะนึกถึงความเหมาะควรอย่างสิ้นเชิง แม้กระทั่งที่เรียกว่า “มารยาทการอยู่ร่วมกันของเพื่อนร่วมชาติ”

เป็นความพยายามเขียนกฎหมายเพื่อบรรลุการสืบทอดอำนาจโดยไม่เห็นค่าของการรักษาหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสิ้นเชิง

ซ้ำเป็นความพยายามที่นับวันยิ่งผสมความตื่นกลัวว่าจะไม่ได้ตามความอยาก จนก่อความโกลาหลกระทั่งเสี่ยงต่อการที่จะทำให้กฎหมายขัดกันเองจนนำมาปฏิบัติไม่ได้

Advertisement

ซึ่งเป็นความเลอะเทอะยิ่งของการสร้าง “หลักกู” แบบโลเลปรับไปเปลี่ยนมาจนไม่เหลือ “หลักการ” ให้ยึดถือร่วมกัน

เริ่มจากเขียนรัฐธรรมนูญให้มี “ส.ส. 2 แบบ” คือ “ส.ส.เขตพื้นที่” กับ “ส.ส.ระบบบัญชีพรรค” แต่เลือกด้วย “บัตรใบเดียว” คือกาบัตรใบเดียวเลือกทั้งผู้สมัครเขตพื้นที่และผู้สมัครในบัญชีพรรค

โดยเป้าหมายที่จะให้พรรคการเมืองที่มีผู้สมัครซึ่งประชาชนให้ความสนับสนุนมาก จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

Advertisement

โดยลืมนึกไปว่า หากพรรคการเมืองนั้นแตกตัวเป็น 2 พรรค พรรคหนึ่งมีเป้าที่ ส.ส.เขตพื้นที่ อีกพรรคหนึ่งมุ่งไปที่บัญชีรายชื่อ ซึ่งหลังเลือกตั้งเมื่อกลับมารวมกันจะได้จำนวน ส.ส.เป็นกอบเป็นกำกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

ซึ่งเกือบไป หากพรรคคู่แข่งไม่เล่นใหญ่จนเกิดความผิดพลาด เปิดทางให้ถูกยุบพรรคโดยโต้แย้งไม่ได้ กติกานี้มีความเสี่ยงไม่น้อยที่จะทำให้พลาดเป้าสืบทอดอำนาจ แม้จะเล่นกลการนับคะแนนให้เกิด ส.ส.ปัดเศษจากพรรคได้คะแนนเสียงเพียงน้อยนิดเข้ามาเสริมแบบยากที่จะยอมรับด้วยความเข้าใจได้ก็ตาม

บทเรียนนั้นนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้บัตรเลือกตั้งเป็น 2 ใบ หนึ่งเลือก 400 ส.ส.เขต สองเลือก 100 ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค

แต่เพราะความวิตกว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะเลือก “ส.ส.เขต” กับ “บัญชีรายชื่อ” จากพรรคเดียวกัน จึงเริ่มหาทางป้องกันให้ “บัตร 2 ใบ” แต่เป็นคนละเบอร์ในแต่ละเขต

เท่านั้นไม่พอ ยังตื่นกลัวประชาชนจะฉลาดพอ การสร้างความสับสนนั้นไม่ได้ผล จึงพลิกกลับมาแก้ พ.ร.บ.เลือกตั้งใช้ การได้มาของ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน” แต่ต้องเอาหารจากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน เพื่อกำหนด ส.ส.พึงมี ปิดทางพรรคใหญ่ เปิดทางให้พรรคปัดเศษใน “ระบบบัญชีรายชื่อ”

ทว่าเมื่อมีเสียงเตือนแล้วนึกขึ้นได้ว่าหากพรรคคู่แข่งเล่นแตกแบงก์พันเหมือนเดิม แต่คราวนี้มีบทเรียนที่จะไม่ทำให้พรรคคู่ขนานไม่ถูกยุบไปก่อน จะได้ ส.ส.มากกว่ากับการคิดจากหาร 100

ทั้งที่โหวตผ่านหาร 500 ไปแล้ว เกิดความอยากจะพลิกกลับมาหาร 100 อีก

แต่วิธีการกลับมาเกิดความยุ่งยาก เลยเกิดความคิดว่าจะกลับใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวเหมือนเดิม

เพราะเชื่อว่าจะได้เปรียบและนำชัยชนะมาให้เหมือนที่เคยได้

แต่เพราะมี ส.ส.ในพรรครัฐบาลจำนวนมาก ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐเอง และพรรคที่หวังเกาะหูกางเกง “สืบทอดอำนาจ” อย่าง “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” และพรรคอื่นๆ เกิดวิตกว่าหากประชาชนรู้สึกว่าเลือก
ผู้สมัครพรรคเหล่านี้เท่ากับถูกบังคับให้เลือก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีไปด้วย จะทำให้หาเสียงยาก เพราะ “ความไม่ศรัทธาในตัว พล.อ.ประยุทธ์” จะเป็นตัวฉุดให้ “บัตรใบเดียว” ตัดสินใจยาก

เพราะแทนที่จะเป็นตัวเสริม กลับเป็นตัวถ่วง

เหตุของความโลเล ไปทางโน้นก็ติด กลับมาทางนี้ก็ขัด แท้ที่จริงแล้วเกิดความความขัดแย้งในใจตัวเองของ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะเลือกเดินอย่างไรระหว่างความเชื่อในโครงสร้างอำนาจที่กลไกออกแบบไว้ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ใช้สืบทอดอำนาจ กับการรับรู้ว่าในสิทธิที่จะเลือกของประชาชนนั้น หากอยู่ในฐานะที่ต้องสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” มีแนวโน้มจะถูกต่อต้านสูง

ความพยายามที่จะออกแบบโดยเปิดโอกาสให้เกาะหูกางเกง “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าไปอยู่ในศูนย์กลางอำนาจ ขณะเดียวกันยังหลอกประชาชนว่าไม่ได้สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ด้วย เป็นเรื่องขัดแย้งกันเองที่จัดการให้ลงตัวได้ยาก

ความกลัวไปเสียทุกทางว่าจะพ่ายแพ้ ทำให้เกิดความสับสน

จนลืมไปว่า “ไม่ควรอยากได้อำนาจ จนละเลยหลักการแห่งคุณธรรมที่เป็นเครื่องมือเอื้อต่อการอยู่ร่วมในสังคม หรือประเทศชาติเดียวกันอย่างสงบสุข”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image