รัฐเร่งแก้ขาดแคลนแรงงานบนเรือประมง ใช้ ม.83 เปิดทาง

รัฐเร่งแก้ขาดแคลนแรงงานบนเรือประมง ใช้ ม.83 เปิดทาง

วันที่ 31 กรกฎาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายภายใต้การบริหารราชการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน ของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเรือประมงเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ด้านนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จากการที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้มายื่นหนังสือขอให้มีการใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล จำนวน 30,000-50,000 ราย ประกอบกับคนต่างด้าวที่ได้รับการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,818 คน จะทยอยหมดอายุเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 จึงได้เสนอเพื่อเปิดใช้อำนาจ ม.83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย สามารถทำงานในเรือประมงได้อย่างถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

กระทั่ง ครม.ได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติในหลักการ “ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี” เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. … และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สามารถมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้ประกาศทั้ง 2 ฉบับ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายกำหนดให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุและมีรอยตราประทับตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า หรือคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการออกหนังสือคนประจำเรือและระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง สามารถยื่นคำขอหนังสือคนประจำเรือตามช่วงเวลา โดยรอบที่ 1 : ระหว่าง 1 เมษายน-30 มิถุนายนของทุกปี และรอบที่ 2 : ระหว่าง 1 กันยายน-30 พฤศจิกายนของทุกปี แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเรือประมงอย่างเร่งด่วนและอำนวยความสะดวก ในการขอรับหนังสือคนประจำเรือของแรงงานต่างด้าว รัฐบาลจึงเห็นชอบให้กรมประมงเปิดรับคำขอหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสำนักงานประมงจังหวัดที่มีอาณาเขตติดทะเล

Advertisement

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะมาขอหนังสือคนประจำเรือจะต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพรวมถึงการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมการประกันสุขภาพ หนังสือสัญญาจ้างในงานประมงทะเลครอบคลุมการสัมภาษณ์คนต่างด้าวโดยมีเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบความถูกต้องและลงลายมือชื่อกำกับ พร้อมรูปถ่ายสี ครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวกและแว่นดำ ขนาด 1.5 x 2 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 1 เดือน จำนวน 3 รูป และเมื่อยื่นคำขอแล้วจะได้รับใบรับคำขอ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการยื่นขอจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ภายใน 15 วัน พร้อมทั้งขอจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกับกรมการปกครอง ซึ่งใบรับคำขอนี้ไม่อนุญาตให้ใช้แทนหนังสือคนประจำเรือ และเมื่อจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเรียบร้อยแล้วให้นำหลักฐานมารับหนังสือคนประจำเรือพร้อมชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท จึงจะสามารถนำแรงงานออกทำการประมงได้

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง ทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในภาคประมง โดยการเปิดให้แรงงานต่างด้าวขอหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย ทำให้เกิดการส่งเสริมการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการภาคประมงสามารถทำการประมงได้อย่างไม่ติดขัดเกิดความคล่องตัว และมีความยั่งยืนผาสุกในการประกอบอาชีพต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image