‘ไพบูลย์’ จ่อยื่นศาลตีความ สูตรหาร 500 รับส่วนตัวโหวตให้ไม่ได้ มันขัด รธน.ชัด

‘พปชร.’ ย้ำจุดยืนไม่หนุนบัตรเลือกตั้งใบเดียว ลั่น ‘บิ๊กป้อม’ เห็นชอบด้วย จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความสูตรหาปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 ขัด รธน.หรือไม่

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 2 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงกรณีกระแสที่จะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว ว่าพรรค พปชร.มีนโยบายชัดเจนคือ ไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวทั้งสิ้น โดยมีเหตุผลคือ เราเคยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว เพื่อเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อย่างไรก็ตาม จากที่ปรากฏเป็นข่าวที่จะมีการเสนอให้มีการกลับไปแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปเลือกบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น อาจจะมีฝ่ายต่างๆ ที่มีความประสงค์ที่อยากจะได้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า จุดยืนของพรรค พปชร.ซึ่งมีการหารือร่วมกันของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ก็สนับสนุนเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบด้วย

เมื่อถามว่าเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 500 พร้อมยื่นศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ถูกต้อง ตนไม่สามารถเห็นชอบกับร่างที่หารด้วย 500 ได้ เพราะเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยจะยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง รัฐสภา ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง ทั้งนี้ ตนเห็นชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 นั้นเพื่อให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และต้องหารด้วย 100 เท่านั้น แต่การที่ไปบิดเบือนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเอาบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วนำมาหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน บวกกับ ส.ส.เขต 400 คน รวมเป็น 500 คน ทั้งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เรื่องนี้ต้องชัดเจน

เมื่อถามว่าจากกรณีพรรคฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์จะยื่นแยกใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ยื่นแยกได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีการเข้าชื่อ 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา โดยประเด็นที่ตนจะยื่นนั้นจะมีแต่ข้อกฎหมายที่จะชี้ว่าการหาร 500 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดทั้งบทบัญญัติที่เขียนให้สัมพันธ์โดยตรง รวมถึงขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งชัดเจนว่าจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ให้เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ปี 2550 และปี 2554 โดยมีเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ชัดเจนว่ามาตรา 93 และมาตรา 94 ไม่มีผลที่จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ได้ และมาตรา 91 ที่แก้ไขนั้นก็เป็นที่มาของการแก้ไขสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น การกลับไปไม่ใช้สูตรหาร 100 ก็เป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

“คนทั่วไปก็ดูแล้วก็คงเข้าใจ ในเมื่อเป็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรคะแนนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือก ก็จะต้องใช้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวคำนวณ ไม่เช่นนั้นประชาชนเลือก ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่ง ปรากฏว่าเมื่อหารออกมาแล้วกลับไม่มีพรรคการเมืองที่เลือกเลย ก็จะถือว่าเป็นการบิดเบือนเจตจำนงของประชาชนผู้ออกเสียงผ่านบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ก็จะต้องไปพิสูจน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายไพบูลย์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image