รัฐสภาล่ม! พรรคใหญ่ดึงเกม ไม่เข้าประชุม หวังผ่านกม.ไม่ทันเดดไลน์ หวนใช้หาร 100

งามไส้ ‘รัฐสภาล่ม’ เล่นเกมลาก ‘กม.ลูก’ เกินกรอบ 180 วัน ล้มกระดานหวนใช้ หาร 100 ‘ชวน’ หวั่นภาพลักษณ์เสื่อมเสีย งัดคำพระกระตุ้นสำนึกสมาชิกฯ ย้ำรับใช้สภา “อย่าไปรับใช้อะไรก็ไม่รู้” นัด วิป 3 ฝ่าย ถก 4 ส.ค.นี้ หาคิวแทรก กม.เลือกตั้ง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. … จำนวน 12 มาตรา ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นการออกกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (1) ซึ่งบัญญัติให้การดำเนินการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้าเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนมาก และมีความยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งในบางขั้นตอนไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน และไม่มีกลไกให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าของคดีได้โดยสะดวกและรวดเร็ว ทำให้เป็นภาระและอุปสรรคต่อประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมที่ล่าช้า จึงเห็นควรให้มีการตรา พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งคู่ความ คู่กรณี ผู้ต้องหา และผู้เสียหา ทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กรมพระธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ บรรยากาศการประชุมเป็นอย่างทุลักทุเล ใช้เวลาพิจารณากว่า 3 ชั่วโมงผ่านไปได้เพียง 5 มาตรา และยังเจอปัญหาเรื่องรอองค์ประชุม จนทำให้ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ลุกสอบถาม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ว่า เมื่อปี 2512 ต้องใช้เวลารอองค์ประชุมนานแบบปัจจุบันหรือไม่

ทำให้ นายชวนกล่าวตอบว่า ตอนนั้นมีสมาชิก 219 คน ประชุมที่ตึกอนันตสมาคม การลงมติคือ ยกมือ ในห้องมีเจ้าหน้าที่นับจำนวน ไม่มีการกดบัตร ส่วนการอภิปรายต้องยกมือ แล้วเดินออกไปที่ไมโครโฟน ไม่ได้สะดวกแบบนี้ สมัยนั้นมี ส.ส.น้อย ที่นั่งจำกัด

“ผมชื่นชมพวกเราทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีเท่าที่ทำได้ ข้อที่ไม่ควรละเลย คือ หน้าที่ ที่ต้องประชุมและลงมติ ผมไม่หวังว่า จะได้ 100 ทั้ง 100 แต่เกินกึ่งหนึ่ง 2 คน หรือ 5 คน ก็ชื่นชม ที่บางคนให้ประกาศชื่อคนกดบัตรแสดงตนนั้น ผมขอบอกว่า ไม่มีความลับ มีเอกสารในสภา ผมเตือนด้วยความหวังดี เพราะมีประสบการณ์ คือ ชื่อของเราจะปรากฏตอนหาเสียงเขตเลือกตั้ง ที่คู่ต่อสู้เอาไปประจาน ความไม่รับผิดชอบไม่เข้าประชุม ผมเตือนด้วยความหวังดี ให้ระวัง วันนี้ไม่เกิด วันหน้าเกิด ประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสทธิเปิดเผยข้อมูล ทั้งคำพูดและการลงมติในสภา ไม่เป็นความลับ” นายชวนกล่าว

Advertisement

ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธานกมธ. หารือด้วยว่า ขอให้สมาชิกร่วมพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วง และผ่านกฎหมายดังกล่าวให้ได้ ตนกังวลเห็นบรรยากาศลงมติใช้เวลานาน เพื่อรอองค์ประชุม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประเด็นทางการเมืองอย่างไร ขอให้ช่วยขับเคลื่อนกฎหมายปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อประชาชน เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง และหลังจากใช้เวลารอองค์ประชุมเกือบ 30 นาที พบว่ามีผู้แสดงตน 366 คน ส่วนการลงมติ พบว่ามีผู้ใช้สิทธิ 367 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 3 เสียง เท่านั้น

ต่อมา ที่ประชุมพิจารณาจนถึงมาตรา 7 นายชวนได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อแสดงตนเป็นองค์ประชุม ซึ่งใช้เวลากว่า 20 นาที จน นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ได้ลุกขึ้นถามนายชวนว่า ขอความรู้หน่อยว่า เกิดอะไรขึ้น ส.ส.ใหม่ไม่เข้าใจ นายชวนจึงถามย้อนกลับไปว่า ตนจะถามกลับเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไรเราก็ทำหน้าที่ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเกียรติ ถ้าเราถือคำพระ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ดังนั้น เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดไม่ต้องไปบ่นอะไร เวลาเป็นของมีค่าไม่ย้อนกลับมาอีกแล้ว ตนไม่เอาปัญหาบางเรื่องมากลบลบล้างความดีงามของภารกิจที่เราทำ

กระทั่ง นายคำพองกล่าวว่า “ยกนี้ ประธานกับสมาชิกใครจะอึดกว่ากัน” นายชวนกล่าวว่า เราไม่มีแตกต่างกันตนชื่นชมที่สมาชิกอดทน แม้จะฟังเพื่อนพูด และอดทนในการรอ ซึ่งไม่ค่อยมีเหตุผลที่ต้องรอมากขนาดนี้ แต่ท่านอดทนไม่บ่น ตนก็ร่วมกับท่าน เพราะไม่อยากให้ใครประณามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของรัฐสภา ตนต้องการปกป้องสภา และพวกเรา ดังนั้นขอให้อดทนจนถึงที่สุด

Advertisement

สุดท้ายองค์ประชุมครบ จำนวน 365 คน แต่สมาชิกกลับไม่ยอมลงมติ ปล่อยเวลาล่วงเลยไปประมาณ 5 นาที ทำให้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอนายชวนว่า เนื่องจากขณะนี้องค์ประชุมมีความสุ่มเสี่ยงที่จะล่ม จึงขอให้ประธานใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 56 ลงมติด้วยการขานชื่อแทน แต่นายชวนกล่าวว่า การขานชื่อจะใช้เวลามาก ตนจึงได้อดทนรอคอย ไหนๆ เราก็ใช้วิธีนี้มาด้วยความอดทน

ขณะที่ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. เสนอว่า ใครไม่มาลงคะแนน คราวหน้าเราแก้กฎหมายให้ตัดเงินเดือน หรือไม่ลงคะแนน 3 ครั้ง ก็ให้หมดสมาชิกภาพไป จะได้จบเรื่อง นายชวนกล่าวว่า ตัวเงินเดือนไม่ไปกระทบคนที่ไม่รับผิดชอบ ไม่มีผลอะไร เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล สุดท้ายที่ประชุมโหวตผ่านมาตรา 7 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 362 เสียง และงดออกเสียง 2 โดยมีผู้ลงคะแนน 364 เสียง ถือว่าผ่านกึ่งพอดี

สำหรับสถานการณ์การลงมติมาตรา 8 นายชวนได้รอสมาชิกมาเป็นองค์ประชุมนานกว่า 20 นาทีที่ยังขาด 20 กว่าคน ทำให้ นายเฉลิมชัย กล่าวเสนอว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ให้ยุบสภาไปเลย ทำให้ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวย้อนว่า “ขอให้ยุบ ส.ว. ไปก่อนเลย และเวลาที่องค์ประชุมขาด 4-5 คน ก็ขอไปเชิญผู้นำเหล่าทัพมาร่วมประชุมด้วย”

ทั้งนี้ ระหว่างรอลงมติ นายสมชายในฐานะ กมธ.กฎหมายลูก ได้ลุกขึ้นสอบถามนายชวนว่า จะมีการพิจารณากฎหมายลูกในวันนี้เลยหรือไม่ เพราะ กมธ.ได้มาคอยอยู่หน้าห้องแล้วหรือจะไปพิจารณาวันที่ 9-10 สิงหาคมตามที่หารือกับวิป 3 ฝ่ายไว้

ด้าน นายชวนกล่าวว่า ตนตั้งใจว่าเมื่อจบร่างกฎหมายนี้แล้วจะนำกฎหมายลูกเข้าทันที ส่วนจะพิจารณาได้แค่ไหน ต้องดูกัน สำหรับการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 9-10 สิงหาคม เป็นการคาดการณ์ยังไม่ตกลงอะไร เนื่องจาก ส.ว.แจ้งมาว่า จะมีการประชุมนัดพิเศษ ในวันที่ 9 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม จะหารือกับวิป 3 ฝ่ายอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ หารือว่า ขอให้ประธานส่งสัญญาณให้ กมธ.งบประมาณ ที่ประชุมอยู่มาร่วมเป็นองค์ประชุมรัฐสภา เพราะกังวลว่าร่าง พ.ร.ป. ที่อยู่ในวาระ 3 จะตกไป หากเกินวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมาตนได้หารือกับนายชวน แล้วว่าให้นำเข้าวันที่ 9 สิงหาคม และนายชวนบอกว่า เข้าแน่นอน และส่วนตัวไม่ได้กังวล ถ้าญัตตินี้ตกไป แต่จะทำให้สภานี้เสียชื่อแน่นอน

ทำให้นายชวนชี้แจงว่า ตนได้คุยนอกรอบกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานรองประธานรัฐสภาแล้วเมื่อสักครู่ว่า วุฒิสภาจะประชุมวันที่ 8 สิงหาคม และประชุมนัดพิเศษในวันที่ 9 สิงหาคม แต่นายพรเพชรบอกว่า วันที่ 9 สิงหาคมอนุญาตให้ประชุมร่วมรัฐสภาได้ ดังนั้น ในวันที่ 4 สิงหาคม จะหารือกับวิป 3 ฝ่าย เพราะอย่างไรสภาต้องรับผิดชอบ

“หากสภาเสื่อม ถ้าไปทำอะไรก็ตามที่ไม่รับใช้สภาแล้วไปรับใช้อะไรก็ไม่รู้ แล้วทำให้สภาเสียหายและเสื่อมเสีย ซึ่งผมไม่ต้องการให้สภาเสื่อมเสีย ผมถึงได้ขอร้องให้อดทน และพวกเราก็ไม่บ่นกัน เพราะปกติหากองค์ประชุมไม่ครบ ก็จะขอเลิกประชุมกัน” นายชวนกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทั่งเวลา 16.47 น. องค์ประชุมก็ยังไม่ครบ นายชวนจึงบอกว่า ตนขอรอถึงเวลา 17.00 น. ถ้าไม่พร้อมก็ต้องปิดประชุมไป จนเวลา 17.00 น. นายชวนได้แจ้งจำนวนองค์ประชุมว่า ขณะนี้ มีจำนวน 357 เสียง หรือขาดอีก 7 เสียงจึงจะครบองค์ประชุม ซึ่งในมาตรา 8 นี้ ใช้เวลารอเพื่อโหวตถึง 53 นาที จากนั้นนายชวนจึงสั่งปิดประชุมในเวลา 17.01 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม ส.ส.ที่เล่นเกมไม่ยอมเข้าแสดงตนเป็นองค์ประชุม ประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ การโหวตมาตรา 8 ส.ส.อยู่ในห้องประชุมพรรคละ 3-4 คนเท่านั้น เพราะไม่ต้องการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยการหาร 500 จึงพยายามไม่ยอมให้ร่าง พ.ร.ป. ผ่านวาระ 3 ทันวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งจะครบกรอบเวลา 180 วัน เพราะขณะนี้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่ต้องการกลับไปใช้การคำนวณหาร 100

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปิดประชุมเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบในการประชุมรัฐสภานั้น ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 5 กรกฏาคม ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … วาระสอง, ครั้งสอง วันที่ 27 กรกฎาคม ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย วาระสอง และครั้งที่สาม วันที่ 3 สิงหาคม ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image