ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จัดเครื่องผลักดันน้ำ 20 ลำ ช่วยบรรเทาน้ำท่วม จ.เพชรบุรี

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จัดเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำ และกำลังพล 100 นาย เข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่อำเภอเมือง และ อำเภอท่ายาง โดย พล.ร.ต.วิพันธ์ ชมะโชติ ผู้แทนกรมอู่ทหารเรือ เป็นประธานในการปล่อยขบวนช่วยเหลือ เฉพาะกิจผลักดันน้ำ ณ อู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลา 09.00 น. และจะเดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำเรือผลักดันน้ำไปช่วยผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเลจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย

14959029_10211348580249495_1214900448_o

โดยจะดำเนินการทยอยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามจุดที่กำหนดไว้ 3 จุด คือ 1.สะพานรถไฟหลังจวนผู้ว่าเพชรบุรี จำนวน 10 เครื่อง 2.สะพานวัดกุฏิ จำนวน 10 เครื่อง 3.วัดต้นสน ปากน้ำบ้านแหลม จำนวน 20 เครื่อง

ขีดความสามารถของเครื่องผลักดันน้ำที่สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือสามารถผลักดันน้ำและสูบน้ำได้ดังนี้ 1.สามารถผลักดันน้ำต่อเครื่องได้ 24.2 ลูกบาศก์เมตร/นาที จะสามารถดึงน้ำรอบๆตัวไปได้อีก 1:3 หรือประมาณ 72.7 ลูกบาศก์เมตร/นาที หรือ 104,660 ลูกบาศก์เมตร/วัน เเละ 2.สามารถนำมาสูบน้ำได้ 24.2 ลูกบาศก์เมตร/นาที

Advertisement

14954521_10211348580489501_348636802_o

14924053_10211348581969538_208010774_o

สำหรับความเป็นมาของเรือผลักดันน้ำ สืบเนื่องมาจาก ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2538 กรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ จึงทรงมีพระราชดำริว่า “ทหารเรือมีรถสายพานลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) และเรือลาดตระเวนลำน้ำ (PBR) ที่มีระบบขับเคลื่อนแบบ วอเตอร์เจ็ต จะช่วยเร่งน้ำให้ไหลเร็วขึ้นจะทำให้น้ำไหลไปสถานีสูบน้ำที่ปลายคลองต่างๆได้ปริมาณมากขึ้น”

พลเรือเอก ประเจตน์ ศิริเดช ผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น จึงสนองพระราชดำริ โดยสั่งการให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นำรถสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 2 คัน ไปช่วยเหลือผลักดันน้ำในวันที่ 12 ตุลาคม 2538 และปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำตลอด 24 ชั่วโมง

ผลจากการผลักดันน้ำของกองทัพเรือในครั้งนั้น ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ.2541 ตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ให้กรมอู่ทหารเรือซึ่งเป็นหน่วยหลักในการซ่อมสร้างเรือของกองทัพเรือ ดำเนินการออกแบบและสร้างเรือผลักดันน้ำชุดแรกขึ้นทั้งหมด 9 ลำ เมื่อแล้วเสร็จกองทัพเรือได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งปัจจุบันเรือชุดดังกล่าวกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบดูแลใช้งาน

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2554 รัฐบาลได้มีหนังสือถึงกรมอู่ทหารเรือ แต่งตั้งให้ นาวาเอก ดอกเตอร์สมัย ใจอินทร์ โฆษกกรมอู่ทหารเรือ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น ปัจจุบัน ได้รับพระราชทานยศพลเรือตรี) เข้าเป็น “คณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง” โดย พลเรือตรี สมัย ได้เคยเปิดเผยว่า “เรื่องเรือผลักดันน้ำนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และวันนี้ก็ได้นำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร” และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือ โดย อู่ทหารเรือธนบุรี อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า และ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ระดมสรรพกำลังสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี พ.ศ.2554

ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือ ขนาด 329 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลบ.ม./วัน ขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลบ.ม./วัน ขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลบ.ม./วัน

เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว

 

14971577_10211348580529502_1346116531_o

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image