คนรุ่นใหม่ทำโพลยื่น ‘ชัชชาติ’ 96% ชี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ผู้ว่าฯ รับ ‘มีสิทธิถาม’

คนรุ่นใหม่ทำโพลยื่น ‘ชัชชาติ’ 96% ชี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ผู้ว่าฯ รับ ‘มีสิทธิถาม’

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เวลา 16.30 น. ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง รับฟังข้อเสนอ “ขนส่งขนสุขสาธารณะ” จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่และกลุ่มดินสอสี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของข้อเสนอที่ยื่นต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มี 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.การกำหนดเพดานราคาค่ารถไฟฟ้าที่เป็นธรรมที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง 2.ผลจากสัญญาการจัดจ้างกับบริษัทเอกชน ส่งผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรพยายามเปิดสัญญา ดังกล่าวนี้แก่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลงบประมาณค่าใช้จ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3.ระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบควรเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐต้องสนับสนุนและดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

สำหรับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อดังกล่าวเกิดจากภาคีเครือข่ายขนส่งขนสุขสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วย สภาเด็กเยาวชนกรุงเทพฯ SYSI เครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ FeelTrip สหภาพคนทำงาน บางกอกนี้ดีจัง Youthwell เครือข่ายสลัมสี่ภาค สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กลุ่มดินสอสี ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ร่วมมือกันปฏิบัติการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะของผู้คนหลากหลายเพศ วัย สถานะ อาชีพ ภูมิลำเนา/ถิ่นอาศัย จำนวน 3,204 คน รวม 9,574 ความคิดเห็น บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 21 สถานี ตั้งแต่สถานีคูคต-สถานีเคหะ

โดยผลการสำรวจพบว่า 96% เห็นด้วยว่ารถไฟฟ้าราคาแพง เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่จะไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ 99% เห็นด้วยว่าควรเปิดสัญญารถไฟฟ้า โดยเฉพาะสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง คู่สัญญาคือ บริษัทกรุงเทพธนาคมกับบีทีเอสซี 97% เห็นด้วยว่ารถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน รัฐควรสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

Advertisement

ทั้งนี้เครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ขนส่งขนสุขสาธารณะ” ระบุว่าจะติดตามการดำเนินการของกรุงเทพมหานครในการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว พร้อมทั้งจัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และสร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบขนส่งขนสุขสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีกิจกรรมคืนข้อมูลผลสำรวจกับสาธารณะตามสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก 8 สถานี ในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2565 กิจกรรมที่ 2 แรลลี่รถไฟฟ้า พาชาวบ้านชุมชน คนจนเมืองขึ้นรถไฟฟ้าท่องกรุงเทพฯ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 และกิจกรรมปิดท้าย เทศกาลขนส่งขนสุขสาธารณะ วันที่ 12 สิงหาคม 2565 หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติกล่าวว่า เครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ขนส่งขนสุขสาธารณะ” เป็นกลุ่มที่มีความสนใจเรื่องขนส่งสาธารณะ ได้นำผลโพลสำรวจความเห็นประชาชน ในประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นร่วมกันกับกรุงเทพมหานคร จากโพลการสำรวจพบว่าประชาชน 96% เห็นด้วยว่ารถไฟฟ้าราคาแพง ประชาชน 97% เห็นด้วยว่ารถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะ ประชาชน 99% เห็นด้วยว่าควรเปิดสัญญารถไฟฟ้า ซึ่งในข้อสุดท้ายนี้ กทม.ทำไปแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กทม. กรุงเทพธนาคม และบริษัทเอกชน ในคู่แรกกทม.กับกรุงเทพธนาคม ได้เปิดสัญญาไปแล้ว ซึ่งสัญญาจะล้อกับคู่ที่ 2 คือกรุงเทพธนาคมกับบริษัทเอกชน ในสัญญาจะเขียนไว้ว่าห้ามเปิดเผยต่อสาธารณชน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เป็นการผิดสัญญา ในส่วนของบริการสาธารณะคือบริการที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ แต่รถไฟฟ้ายังมีประชาชนที่ยังไม่เข้าถึงได้ จึงยังไม่เป็นบริการสาธารณะ 100% ส่วนราคาแพงไปไหม ซึ่งเรื่องนี้ก็เกี่ยวเนื่องกัน หากราคาแพงประชาชนก็ยังไม่สามารถใช้เข้าถึงได้

ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวกับกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ว่า เป็นสิ่งที่ดีที่กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และมีคำถามว่า ทำไมรถไฟฟ้าราคาถึงแพง ทำไมรถไฟฟ้าไม่เป็นบริการสาธารณะ ซึ่งคำถามเหล่านี้ประชาชนมีสิทธิตั้ง และเป็นหน้าที่ กทม.หรือผู้ที่ดูแลรับผิดชอบที่จะต้องหาคำตอบร่วมกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีได้ให้โจทย์กลับไปว่า ไม่ควรแตะหลายประเด็นเพราะจะได้คำตอบที่ไม่เป็นรูปธรรม ควรให้ยึดที่ประเด็นเดียวโดยเอาโจทย์จากชีวิตจริงมาคิดร่วมกัน ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางรถเมล์ที่อยากจะเพิ่ม อยากให้กทม.วิ่งเองหรืออยากจะร่วมกันทำ จะวิ่งเส้นทางไหน ราคาเท่าไหร่  พัฒนาให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่ หรือควรจะ BRT ต่อหรือไม่

“ข้อดีของคนรุ่นใหม่ คือไม่มีต้นทุนเดิม จึงกล้าคิดนอกกรอบได้ง่าย ไม่เหมือนคนรุ่นเก่า ซึ่งมีรูปแบบเดิมอยู่ในใจ จึงคิดทะลุออกไปนอกกรอบได้ยาก คนรุ่นใหม่จะคิดผิดคิดถูกก็ไม่เป็นไร แต่ทำให้เรากล้าคิด ถือว่าเป็นจุดแข็งที่กล้าคิดนอกกรอบ แล้วเรามาช่วยกันหาคำตอบที่เป็นไปได้” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image