ศานนท์ สะกิดรัฐ เปิดทางเยาวชนร่วมการเมือง นักวิชาการฟันธง ‘เฟคนิวส์’ ไม่มีวันจาง ต้องสร้างภูมิต้านทาน

ศานนท์ สะกิดรัฐ เปิดทางเยาวชนมีส่วนร่วมการเมือง นักวิชาการฟันธง ‘เฟคนิวส์’ ไม่มีวันจาง ต้องสร้างภูมิต้านทาน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 6 สิงหาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “สื่อ vs ข่าวปลอม: เยาวชนกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ ดร.มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้ง The Reporters

นายศานนท์กล่าวว่า ความหมายของการมีส่วนร่วมทางการเมืองอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ภาพใหญ่คือการมีส่วนร่วมทางสังคม บางครั้งการเมืองในปัจจุบันอาจจะตามไม่ทันเนื่องจากสื่อและสังคมไปกว้างกว่านั้น การเมืองอาจหมายถึงวัฒนธรรมการรับฟังซึ่งกันและกัน อย่าง กทม.เองเราก็เปลี่ยนวัฒนธรรมภายในเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางสังคมที่กว้างขึ้น อย่างเช่น การเปิดทราฟฟี่ฟองดูว์ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ กทม.จะรับฟังเสียงจากประชาชน การเปิดพื้นที่ให้ชุมนุมโดยหน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวก และการเปิดเผยข้อมูล OPEN BANGKOK ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการมีส่วนร่วมในอนาคต ให้เยาวชนได้รับรู้ข้อมูลของภาครัฐ

“สิ่งสำคัญไม่ใช่การทำให้เยาวชนมามีส่วนร่วมกับการเมือง แต่เป็น การทำให้การเมืองปัจจุบันเปิดให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า เนื่องจากในทุกวันนี้เยาวชนพร้อมที่จะพูด พร้อมที่จะรับฟังอยู่แล้ว ที่แพลตฟอร์มต่างๆ เกิดขึ้นก็เพราะประชาชนอยากมีที่ระบาย ในขณะที่ภาครัฐไม่ได้เปิด ภาครัฐควรคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะเปิดให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า นายศานนท์กล่าว

Advertisement

ด้าน ดร.มนต์ศักดิ์กล่าวว่า การเมืองอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น การต้องต่อรองเลือกร้านอาหารในครอบครัว การเลือกเข้าเรียนมหาลัย แต่สังคมไทยผลักคำว่า “การเมือง” ให้ไกลตัวออกไป การมีส่วนร่วมทางการเมือง ต้องเข้าใจ 2 คีย์เวิร์ด บทบาทหน้าที่พลเมือง (functioning) สมรรถภาพ (capability) เข้าใจสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่รูปแบบทางการเมืองทำให้เราเข้าใจว่ามีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย

ดร.มนต์ศักดิ์กล่าวว่า สนับสนุนพื้นที่แสดงความเห็นที่ปลอดภัย พร้อมกับให้ทุกคนมีทักษะการฟังการยอมรับความเห็นแตกต่าง แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เยาวชนไม่พร้อมการมีส่วนร่วมทางการเมือง พร้อมกับต้องฟังคนอื่นให้เป็นก่อน กล้าที่จะตั้งคำถาม เช่นการใส่เครื่องแบบ ต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่า เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

Advertisement

เฟคนิวส์เป็นหนึ่งในระบบนิเวศ จะไม่จางหายไป สิ่งสำคัญคือต้องแยกระหว่างข้อเท็จจริง กับความคิดเห็น เห็นด้วยว่าต้องหยุดให้เวลา หรือตั้งคำถามก่อนที่จะเชื่อ ด้านสถาบันการศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย เพื่อสร้างภูมิต้านทาน ทำให้เกิดกระบวนการตั้งคำถาม วิเคราะห์ และถกเถียง เพื่อลดเฟคนิวส์” ดร.มนต์ชัยกล่าว

ขณะที่ น.ส.ฐปณีย์ กล่าวว่า เราทุกคนเกิดมาต้องอยู่กับการเมือง เพราะการเมืองก็คือสังคม ตนทำข่าวการเมืองมา 23 ปี การร่วมกิจกรรมทางการเมืองมีการซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เป็นหัวหน้าห้อง ประธานนักเรียน มาตั้งแต่สมัยประถม คำว่าการเมืองอยู่ในตัวเรา ไม่ใช่ไปมีตำแหน่ง แต่คือการไปมีส่วนร่วมกับเรื่องต่างๆ ในสังคม รวมไปถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

“ในสมัยเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ยังเป็นเด็กและสนใจการเมือง อ่านหนังสือพิมพ์ ได้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ ดังนั้นสื่อมีบทบาทอย่างมากในสังคมการเมือง ยิ่งยุคสมัยนี้ทุกคนสามารถเป็นนักสื่อสารได้ ซึ่งการมีส่วนร่วมทางการเมือง คือการได้สื่อสาร” น.ส.ฐปณีย์กล่าว

น.ส.ฐปณีย์กล่าวต่อว่า สื่อมีบทบาทอย่างมาก ในการแก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาชาวบ้าน การมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่อยู่เพียงท้องถนน การดูไลฟ์ประท้วงก็เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย ด้านเฟคนิวส์หรือข่าวปลอม ต้องตระหนักแยกแยะให้ออกก่อน ต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มามีความน่าเชื่อถือหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image