‘รมต.ปชป.’ จี้กลางวงครม. เบรกเกมโดดร่ม กม.ลูก ‘บิ๊กตู่’ โบ้ยคุยกันเอง ส.ว.แฉ 2 พรรคใหญ่จับมือล่ม

‘รมต.ปชป.’ จี้กลางวงครม. เบรกเกมโดดร่ม กม.ลูก ‘บิ๊กตู่’ โบ้ยคุยกันเอง ส.ว.แฉ 2 พรรคใหญ่จับมือล่ม

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า การประชุม ครม. ช่วงหนึ่งนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … พูดถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันที่ 10 สิงหาคม อยากให้ทุกฝ่ายเข้าร่วมให้ครบองค์ประชุม เพื่อพิจารณากฎหมายกำหนดระยะเวลาในการดำเนินคดี และอีกฉบับคือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หากเห็นตรงกันว่าจะไม่เดินหน้าต่อค่อยดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้องค์ประชุมไม่ครบ และควรมีการชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าอยากกลับไปใช้ร่างกฎหมายเดิมเพราะอะไร เป็นวิธีการที่ดีกว่าการอ้างเรื่องไปประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ทั้งนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดขึ้นมาว่า “เป็นเรื่องสภา ผมไม่เกี่ยวข้อง พวกคุณไปพูดคุยกันเอง”

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ขอเข้าพบนายกฯเนื่องจากมีข้อหารือเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงระดับซี 11 ที่อยู่ในการกำกับดูแล ส่วนที่คาดการณ์กันไปว่าจะมีการหารือเรื่องประเด็น 8 ปีนายกฯนั้นไม่ได้พูดเรื่องดังกล่าว ส่วนกฎหมายลูกก็ไม่มีการพูดคุย เพราะพูดคุยตอนประชุม ครม.แล้ว โดยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานในวาระของวิปรัฐบาลว่าในวันที่ 10 สิงหาคม จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะมีกฎหมายเข้าสองฉบับ ฉบับแรกคือกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการดำเนินคดี และอีกฉบับคือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่จะเริ่มพิจารณาได้เวลาใดยังไม่ทราบ เนื่องจากการพิจารณาต้องเริ่มจากกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการดำเนินคดี และยังมีความเป็นห่วงว่าอาจจะมีผู้มาประชุมไม่อยู่ หากไม่อยู่จะทำให้พิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ได้

ด้าน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้เสียง ส.ว.แตกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งฝ่ายจะมาประชุมและไม่มาประชุมร่วมรัฐสภาในสัดส่วนใกล้เคียงกัน 50-50 ทำให้แนวโน้มการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น่าจะพิจารณาเสร็จทันภายใน 180 วัน เพราะดูแล้วการประชุมดังกล่าวไม่น่าจะมีองค์ประชุมครบทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคเพื่อไทย (พท.) และ ส.ว.บางส่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image