เปิดความมุ่งหมาย กรธ. มาตรา 158 ชี้นายกฯนั่ง 8 ปี ป้องผูกขาดอำนาจ จนเกิดวิกฤตการเมือง

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กมธ.

เปิดความมุ่งหมาย กรธ. มาตรา 158 ชี้นายกฯนั่ง 8 ปี ป้องผูกขาดอำนาจ จนเกิดวิกฤตการเมือง

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวได้เปิดเผยรายงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ได้จัดทำรายงาน ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยตั้งใจว่า นอกจากจะบอกเล่าความมุ่งหมายและความหมายแล้ว ยังจะบอกเล่าถึงเหตุผล ความเป็นมาของแนวคิดที่นำมาบัญญัติ พัฒนาการของมาตรานั้นๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงแนวความคิดและความมุ่งหมายล่าสุดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรานั้นๆ ด้วยโดยหวังว่าจะได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาหากมีเหตุให้ต้องตีความ

แม้ความตั้งใจนี้ไม่อาจบรรลุผลทั้งหมดเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสภาวการณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้จัดทำความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบในรายมาตราตามแนวคิดดังกล่าวได้เป็นส่วนใหญ่

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

มาตรา 158 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

Advertisement

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

Advertisement

คำอธิบายประกอบ

(1) บทบัญญัติลักษณะนี้ ได้มีการบัญญัติเป็นครั้งแรกไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช 2475 (มาตรา 46) และได้บัญญัติทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 3 ที่วางหลักไว้ตั้งแต่ในเบื้องแรกแล้วว่าพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยอันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามลำดับการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี

ในขณะเดียวกันการแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง นับเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและพระมหากษัตริย์ที่สอดคล้องต้องกันและบ่งบอกให้รู้ว่าเป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างประชาชนและพระมหากษัตริย์ดังจะสังเกตเห็นได้ว่าในกรณีที่ผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง จะไม่มีการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงแต่งตั้งอีก เพราะถือว่าประชาชนได้เลือกมาโดยตรงแล้ว

ส่วนคณะรัฐมนตรี อันเป็นฝ่ายบริหาร และผู้พิพากษาและตุลาการ อันเป็นฝ่ายตุลาการนั้น เมื่อมิได้เป็นการเลือกโดยตรงจากประชาชน รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และเพื่อป้องกันมิให้พระมหากษัตริย์ต้องทรงรับผิดชอบในการกระทำของฝ่ายบริหาร จึงได้มีบทบัญญัติในมาตรา 182 ที่บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญซึ่งมุ่งหมายให้ผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบในผลของการกระทำนั้น ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 6 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

สำหรับบทบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันเช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 (มาตรา 171) นั้น มุ่งหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ในการใช้อำนาจบริหารที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ผ่านทางคณะรัฐมนตรีนั้น เป็นการใช้อำนาจผ่านคณะบุคคล มิใช่ผ่านรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง ในการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีจึงต้องดำเนินการตามความเห็นร่วมกัน หรือที่เรียกว่า “มติ” ของคณะรัฐมนตรี และเมื่อเป็นการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกัน จึงย่อมต้องรับผิดชอบร่วมกันในผลที่เกิดขึ้น ความเสียหายหรือความผิดพลาดใดๆที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง หากผลนั้นเกิดขึ้นต่อประเทศชาติหรือสังคมหรือประชาชนโดยทั่วไป คณะรัฐมนตรีย่อมต้องรับผิดชอบในทางการเมืองร่วมกัน จะอ้างว่าเป็นการกระทำของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง โดยคนอื่นมิได้ร่วมกระทำด้วยไม่ได้ เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญา ผู้ที่มิได้ร่วมรู้เห็นหรือร่วมสนับสนุนด้วยก็อาจไม่ต้องรับผิดได้

(2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้วางหลักการใหม่ในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 159 โดยกำหนดหลักการให้พรรคการเมืองต้องเปิดเผยรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่า จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น โดยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าว่าบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีคือบุคคลใดเพื่อให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าถ้าตนเลือกพรรคการเมืองใด ตนจะได้ผู้ใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเนื่องจากการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นกิจการของสภาผู้แทนราษฎรโดยแท้ จึงกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลาแปดปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกินแปดปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image