บทนำ : อีกหนึ่งทางออก

บทนำ : อีกหนึ่งทางออก

นักวิชาการหลายคน ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 กำหนดห้ามนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นนักวิชาการอีกคน ที่ร่วมแสดงความเห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ระบุในหนังสือ “คำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 ย่อหน้าสุดท้ายความว่า การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้ คำถามคือ นานเกินไปนั้นกี่ปี คำตอบก็ปรากฏในบทบัญญัติมาตรา 158 อย่างชัดเจนแล้วคือ หากเกิน 8 ปี ก็ถือว่านานเกินไป

รศ.ดร.พิชายระบุต่อไปว่า ความเป็นจริงที่ไม่มีใครสามารถบิดเบือนได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องกันครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 อย่างแน่นอน ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดหรือการตีความแบบใดที่ล้มล้างความจริงประการนี้ได้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ใกล้จะเข้าข่ายผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวนานเกินไป ตามที่ระบุเอาไว้ในเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ประกอบกับ สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันก็มีร่องรอยหลักฐานการปรากฏตัวของวิกฤตทางการเมือง อันเนื่องมาจากการผูกขาดอำนาจที่ยาวนานเกินไปของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยเหตุนี้การดำรงตำแหน่งต่อไปของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์มีโอกาสกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่ในสังคมได้

ปัญหาวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากสังคม และหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าอาจเกิดวิกฤตทางการเมืองติดตามมา ข้อสังเกตของ รศ.ดร.พิชายก็คือ การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤตกหรือเร่งเร้าให้เกิดวิกฤตได้ เป็นอีกประเด็นที่เสนอเพิ่มขึ้นมา นอกเหนือจากการพิจารณาวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง และได้มีการเผยแพร่เนื้อหาของเจตนารมณ์ของการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จากหนังสือเล่มเดียวกับที่ รศ.ดร.พิชายระบุ ทำให้ได้ทราบถึงความมุ่งหมายของมาตรา 158 แห่งรัฐธรรมนูญว่า ต้องการบังคับใช้มาตรานี้อย่างไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image