โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ 12 สิงหาคม

โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ 12 สิงหาคม

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ.2565

ทั้งนี้ ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรืออาศัยที่ศาล หรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนวันที่ศาลออกหมายสั่งหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

โดยนักโทษจะต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้ว ถึงวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา ถึงที่สุดหรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า ในกรณีต้องโทษจำคุกหลายคดี ให้ถือเอากำหนดโทษในคดีที่มีโทษสูงที่สุดเป็นเกณฑ์

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2565 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เพื่อให้โอกาสบุคคลเหล่านั้นได้กลับตน ประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติสืบไป

Advertisement

ครั้งนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี หรือชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยมเท่านั้น และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาฯ จะมีทั้งกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ส่วนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป และกลุ่มที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกตามสัดส่วนที่กำหนด โดยแตกต่างกันตามประเภทความร้ายแรงของคดี และตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด เช่น นักโทษเด็ดขาดคดีอาญาทั่วไป ชั้นเยี่ยม ได้รับการลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดีมาก ได้รับการลดโทษ 1 ใน 5 และชั้นดี ได้รับการลดโทษ 1 ใน 6 เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ร่วมกันบำบัดฟื้นฟู พัฒนาพฤตินิสัยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำและทัณฑสถาน ตั้งแต่การให้การศึกษา การอบรมพัฒนาจิตใจ การฝึกทักษะอาชีพ ไปจนถึงการแนะแนวการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกปฏิบัติการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็กให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้มีความรู้ติดตัว เป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ สามารถนำไปประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังพ้นโทษได้

นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายภาคสังคมและชุมชนในการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือ โดยหวังว่าสังคม ตลอดจนผู้ประกอบการ หรือห้างร้าน บริษัทต่าง ๆ จะให้โอกาสผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ร่วมให้กำลังใจและเปิดใจยอมรับผู้ก้าวพลาด ให้ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก อันถือเป็นการปกป้องและคุ้มครองสังคมให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image