อจ.อ่านเกม-สภาถกพิเศษ ต่อรอง-ล่มซ้ำ!

อจ.อ่านเกม-สภาถกพิเศษ ต่อรอง-ล่มซ้ำ!

อจ.อ่านเกม-สภาถกพิเศษ
ต่อรอง-ล่มซ้ำ!

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีการนัดประชุมร่วมสองสภานัดพิเศษ วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เกิดปัญหาสูตรคำนวนปาร์ตี้ลิสต์

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

กรณีประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ล่มซ้ำซากสะท้อนถึงความขัดแย้งฝ่ายประชาธิปไตยกับอำนาจเผด็จการ เป็นเกมชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองชัดเจน

Advertisement

ส่งผลให้ผู้สนับสนุนสองฝ่ายขัดแย้งรุนแรง นำไปสู่สังคมแตกแยก นับตั้งแต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจ 2 ครั้ง เมื่อปี 2549 และ 2557 มากว่า 16 ปี ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้วิธีปกครองแบบครอบงำระบอบประชาธิปไตย

แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และส่งเสริมจัดตั้งพรรคเล็ก เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากอำนาจเผด็จการ

ในขณะที่โลกโลกาภิวัตน์มีคนรุ่นใหม่ และพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งผลให้สังคมมีความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย ทำให้สังคมไม่เป็นเอกภาพ พร้อมตั้งคำถาม โดยเฉพาะนักวิชาการและพรรคการเมือง กรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

Advertisement

การพิจารณาและการลงมติการคำนวณใช้สูตรหาร 500 ของสภา ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ส่วนตัวมองว่าโอกาสผ่านเป็นไปได้ยาก เพราะผู้มีอำนาจได้กำหนดเกมการเมืองมาแล้ว โดยทำให้สภาล่มเพื่อล้มสูตรหาร 500 ถ้าปล่อยให้สภาลงมติผ่าน ส่งผลให้พรรคเล็กมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น ทำให้มีอำนาจต่อรองผลประโยชน์ และเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้าได้ จึงต้องการตัดปัญหาที่อาจเกิดในอนาคตได้ โดยลดบทบาทพรรคเล็กและลดการต่อรองให้เหลือน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม พรรคเล็กยังมีโอกาสและมีที่ยืนในสภาได้ หากปรับตัวตามสถานการณ์ โดยไม่ยึดติดกับสูตรหาร 500 มากเกินไป หากพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านสนับสนุนสูตรหาร 100 เชื่อว่าทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะไม่ว่าใช้สูตรไหนเลือกตั้ง ทุกพรรคต้องทุ่มเทและเต็มที่ เพื่อขอโอกาสประชาชนมาทำหน้าที่ในสภาอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องพรรคไหนได้หรือเสียเปรียบ ขึ้นอยู่กับประชาชนตัดสินใจ ให้โอกาสมากกว่า

ที่สำคัญพรรคเล็กต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพร้อมเข้าสู่กติกาเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา แม้เสียเปรียบพรรคขนาดใหญ่ แต่ยืนหยัดเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนอำนาจเผด็จการ เชื่อว่าประชาชนมองเห็น และให้โอกาสเข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าว

หากทุกฝ่ายสนับสนุนสูตรหาร 100 ตามร่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เคยเสนอสภาพิจารณามาแล้ว เชื่อว่าเป็นทางออก และขับเคลื่อนการเมืองไทยไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น

ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นหลักการดังกล่าว เพื่อให้ประเทศฟันฝ่าวิกฤตการเมือง และหลีกเลี่ยงการต่อต้านที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ ในต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจใช้เวลา 10-15 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว การเมืองไทยต้องใช้เวลาประเมินผล และพิสูจน์เช่นเดียวกับทั่วโลก

ถ้าประชาชนเห็นว่าไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ประชาชนและประเทศเสียหาย หรือเป็นการผูกขาดอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง อาจมีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกครั้งได้

ปิยณัฐ สร้อยคำ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ยิ่งรัฐบาลใกล้ครบวาระ สถานการณ์การเมืองในรัฐสภายิ่งเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่นับว่าร้อนแรงและเป็นชนวนให้เกิดภาวะ ลับ ลวง พราง ของพรรคการเมืองทั้งภาครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวมไปถึงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ต่างจับตาสูตรเหล่านี้อย่างหนัก และเป็นเหตุให้สภาล่มซ้ำแล้วซ้ำอีกในห้วงเดือนที่ผ่านมา

โดยส่วนตัวมองว่า วันที่ 15 สิงหาคมนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไทยและผลลัพธ์ของการเจรจาต่อรองครั้งใหญ่ เพราะสูตรในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในครั้งนี้ จะเป็นคำตอบที่นำไปสู่การตั้งรัฐบาลในสมัยถนัดไป

โดยปรากฏการณ์ที่เป็นไปได้มี 2 แนวทางที่สำคัญ คือ แนวทางที่ 1 พลิกเกม คว่ำกระดานสูตร 500 เพราะส่วนตัวเชื่อว่าในขณะนี้ ทั้งบรรยากาศของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล หรือแม้กระทั่งเศรษฐกิจไทย มิได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคแกนนำรัฐบาลหรือฝ่ายค้านมากนัก

รวมถึงการต่อรองจากพรรคร่วมดังกล่าวมีสูงเกินไป จึงทำให้ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยต่างต้องเดินเกมเพื่อสร้างแต้มต่อและโอกาสในการ
กวาดที่นั่งให้พรรคของตนให้ได้มากที่สุด เนื่องจากหากมองในมุมของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ การใช้สูตรหาร 100 จะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะส่งผลให้เกิดการชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ซี่งทั้งสองพรรคต่างมองว่าหากช่วงชิงพื้นที่จาก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้เข้าสู่พรรคของตนได้ จะทำให้การจัดตั้งพรรครัฐบาลในอนาคตมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การใส่เกียร์ว่างให้สูตรหาร 500 จะตัดโอกาสของพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กไม่ให้ได้ที่นั่ง ซึ่งทำให้พรรคแกนนำไม่ต้องเปิดดีลหรือต่อรองให้ลำบากอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นเหตุให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งตามกฎหมายจะต้องกลับไปใช้ร่างที่กำหนดวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100

ส่วนแนวทางที่ 2 หากพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเพื่อไทย สามารถต่อรองและประสานประโยชน์กับพรรคร่วมขนาดกลางและขนาดเล็กได้สำเร็จ และจับมือกันเพื่อเตรียมการเลือกตั้งในครั้งหน้า

โดยใช้เสียงจากพรรคร่วมเหล่านี้ในการสนับสนุนให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมส่งผลให้การเมืองของสภาในรอบที่จะถึงนี้ สามารถผ่านมติและรับหลักการสูตรหาร 500 ไปได้ เพื่อเปิดทางเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งต่อไป

ดังนั้น วันที่ 15 สิงหาคมนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งนัดแห่งการชี้ชะตา ทั้งโอกาสและความอยู่รอดของพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องต่อรองแบบสุดตัวเพื่อให้มีที่นั่งในสมัยหน้า รวมไปถึงชัยชนะและเสถียรภาพของพรรคขนาดใหญ่ที่ต้องคว้าไว้ให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าดีลดังกล่าว วางอยู่บนหมากที่เดิมพันค่อนข้างสูงของทั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งการเลือกสูตรใดสูตรหนึ่งนั้น ย่อมส่งผลต่อความร้อนแรงของอุณหภูมิการเมืองไทยแน่นอน

ทั้งนี้ แม้พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วมอื่นๆ จะดีลกันได้ลงตัว แต่เกมการเมืองในวันนี้ไม่ได้มีเพียงพรรคการเมืองเท่านั้น

ส่วนตัวมองว่าปัจจัยที่ต้องจับตามองมากที่สุด คือ ส.ว.ทั้ง 250 เสียง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐสภาจะเลือกสูตรไหน เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามจะได้ที่นั่งหรือจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่ ส.ว.ยังคงมีวาระ 5 ปี และมีบทบาทสำคัญในการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เพียงดีลระหว่างพรรคการเมือง แต่ยังรวมไปถึงการดีลกลุ่มอำนาจในวุฒิสภา

ซึ่งพันธมิตรและคู่แข่งทางการเมืองในวันนี้อาจเปลี่ยนไปแล้วก็เป็นได้

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันจันทร์ที่ 15 สิงหาคมนี้ มีความเป็นไปได้อาจจะประสบปัญหาเช่นเดียวกับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเนื่องจาก ส.ส.ยังไม่มีความเป็นอิสระ ในการแสดงบาทของตัวเอง ยังคงมีผู้นำของพรรคการเมือง บังคับสมาชิกพรรคได้ ไม่ได้มีอิสระในการคิด และยังเป็นพันธุกรรมทางการเมืองที่ติดต่อกันมา

โดย ส.ส.ควรตระหนักว่า บทหน้าที่ของ ส.ส.คืออะไร ส.ส.เป็นตัวแทนภาคประชาชน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนและประเทศชาติ การกระทำที่ผ่านมาถือว่าไม่เห็นหัวชาวบ้าน เอาการเมืองเป็นตัวนำมากกว่าประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ พฤติกรรมแบบนี้ยังเป็นการเมืองแบบเก่า แล้วเป็นการเมืองที่ไม่ได้ให้เกิดความงอกงามหรือรูปแบบใหม่

สิ่งแรกที่ผิดคือผิดบทบาทหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ เล่นการเมืองมากเกินไปโดยที่ไม่ได้ดูว่าอะไรควรทำหรืออะไรไม่ควรทำ หรืออะไรควรให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ผมประเมินว่าสภาน่าจะล่มไม่แตกต่างจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา เพราะหัวหน้าพรรคการเมืองก็ยังมีแนวคิดและการควบคุมการแสดงออกทางความคิดของ ส.ส.ภายในพรรค ผ่านทางพันธุกรรมทางการเมืองที่สืบทอดกันมา ทำให้ประเมินว่าคงจะมีทิศทางที่ไม่แตกต่างจากการประชุมสภาสัปดาห์ก่อน ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ประเมินว่าสูตรการหารจำนวน ส.ส.คงจะกลับไปหาร 100 เหมือนเดิม เนื่องจากสภาก็ยังไม่เหมือนเดิม ยังไม่ได้มีการพัฒนาไปไหน การแสดงออกของ ส.ส.ยังไม่ได้เป็นอิสระ ยังคงยึดโยงกับผู้นำ ยังคงยึดกับพรรคการเมืองเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม มองว่าการสืบทอดทางการเมืองนั้นไม่ควรที่จะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมทางการเมือง แต่ควรที่จะเปิดโอกาสให้คนดีมีฝีมือ เข้ามาในทางการเมือง เพื่อร่วมพัฒนาประเทศชาติ ในขณะที่ทิศทางการแสดงออกทางความเห็นในทางการเมือง ควรจะมีความเป็นอิสระ มากกว่าการต้องเดินตามความเห็นภายใต้ความคิดของผู้นำพรรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image