‘กนกรัตน์’ ชวนคิด ‘ชีวิตหลังม็อบ’ มอง ‘วีโว่’ คือผลลัพธ์บทเรียน ‘สันติวิธี’ บ่มเพาะวิถีทะลุแก๊ซ

‘กนกรัตน์’ ชวนคิด ‘ชีวิตหลังม็อบ’ มองลึก ‘วีโว่’ คือผลลัพธ์ของบทเรียน ‘สันติวิธี’ บ่มเพาะวิถีทะลุแก๊ซ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่ The Jam Factory เขตคลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่ม We Volunteer หรือ วีโว่ จัดงาน “2nd Anniversary Schedule of We volunteer” ระหว่างวันที่ 13-14 สิงหาคมนี้ เวลา 10.30 -18.00 น. เพื่อฉลองครบรอบ 2 ปีการก่อตั้งกลุ่มวีโว่ วันที่ 16 สิงหาคม 2563

โดยภายในงานมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน อาทิ วงเสวนา ดนตรี บูธอาหารและสินค้าจาก Market Man ทุเรียน จาก ไมค์ระยอง ปลากหมึกย่าง น้ำลำไย สายไหม และเบียร์ จากกลุ่มประชาชนเบียร์ ไปจนถึงน้ำดื่มราษฎร โดยกลุ่มวีโว่ ได้นำสินค้าและอาหารมาจำหน่าย อาทิ น้ำปลาร้า เสื้อยืดสกรีน, เสื้อสงกรานต์ ไปจนถึงจำหน่ายกุ้งเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของกลุ่มวีโว่ นอกจากนี้ ยังมีการบูธตักไข่กุ้ง ราคา 30 บาท ที่ด้านหน้างานอีกด้วย

บรรยากาศเวลา 12.30 น. มีการแสดง Performance Art สะท้อนถึงนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังข้อหาอาญามาตรา 112 ขณะเดียวกันภายในงานยังมีการจัดแสดงเกี่ยวกับอุปกรณ์การชุมนุม อาทิ ถัง หมวก ป้าย เสื้อ รูปภาพ ไปจนถึงปลอกกระสุนยาง แก๊สน้ำตา จากการถูกตอบโต้โดยเจ้าหน้าที่รัฐตลอดการชุมนุม 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำว่าประชาชนไม่ควรถูกรัฐตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นนี้

ต่อมาเวลา 13.00 น. มีวงเสวนาในหัวข้อ “การเดินทางของการเคลื่อนไหว จากอดีตจนถึงปัจจุบัน” โดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง ผู้ดำเนินรายการช่อง Voice TV ร่วมให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหว ตลอด 2 ที่ผ่านมา ดำเนินรายการ โดย เติร์ท โฆษกกลุ่มวีโว่

Advertisement

ถามถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับกระบวนการเคลื่อนไหวในอดีต เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นไปอย่างไร และจุดสิ้นสุดเป็นอย่างไร ?

ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวถึงประสบการณ์จากการสัมผัสการเคลื่อนไหวว่า ตนเองเป็นรุ่นที่เติบโตมาพร้อมกับ เสื้อแดง – เสื้อเหลือง ในวัยเด็ก เคยอาจไปร่วมพฤษภาทมิฬ หรือร่วมสมัชชาคนจนบ้าง แต่ไม่ใช่มูฟเมนต์ของยุคสมัยที่ตนมีส่วนร่วมจริงๆ

Advertisement

“ตัวเองเป็นลูกของคนเดือนตุลา ตั้งแต่อยู่ในท้องยังไม่คลอดก็ไปม็อบเดือนตุลา พอถึงพฤษภาทมิฬ อยู่ ม.ปลาย ได้ไปเข้าร่วม เพราะพ่อเป็นคนตื่นตัวทางการเมือง จากนั้น ตอนเรียน ป.ตรี ช่วงมีม็อบสมัชชาคนจน ก็ได้เห็นพัฒนาการของขบวนการเคลื่อนไหวของคนสามัญชนธรรมดา

แต่พอมายุคที่เราตื่นตัวและมีส่วนร่วมมากที่สุด คือช่วงเสื้อเหลืองเสื้อแดง เป็นอาจารย์มหาลัยตอนเสื้อเหลือง วาทกรรมทางการมืองแตกต่าง เป็นยุคต่อต้านนักการเมืองจากกเลือกตั้งรุนแรงที่สุด นักวิชาการคนไหนฝ่ายก้าวหน้า ต้องวิจารณ์ วลีนี้มาจาก อ.เกษียร เตชะพีระ คือวิพากษ์นักการเมือง พรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้งที่ไม่ถูกทำให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ขณะเดียวกันก็ถูกสอนให้กลับมาสู่ประชาธิปไตยทางตรง คือต้องมีส่วนร่วมของการเมืองภาคประชาชน

ฉะนั้น นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้า เอ็นจีโอ ทุกกลุ่ม ร่วมทุกขบวนเพื่อต่อต้านนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เติบโตขึ้น และมีอำนาจมากแตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ก็เริ่มด้วยขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณ ก่อนปี 2549 ต้องยอมรับว่าผู้คนในสังคมยังไม่ได้ตั้งคำถามต่อระบอบเผด็จการ เพราะเราจินตนาการไม่ออกถึง การกลับมาของระบอบทหาร และอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ช่วงพันธมิตรที่มีแคมเปญต้านทักษิณหลายแบบ โดยส่วนตัวมองว่าจุดที่ทำให้เปลี่ยนมากที่สุด คือเรื่องมาตรา 7 ที่จุดนี้เริ่มเอ๊ะ ตั้งคำถามว่า ไม่ใช่ทางออกของการเมืองภาคประชาชนที่เราฝันถึง คือจุดตัดสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการเสื้อแดงไม่เห็นด้วยกับระบอบรัฐประหาร” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวต่อว่า พอมาถึงเสื้อเหลือง-เสื้อแดง คำถามยากขึ้นมา เรากำลังต่อต้านประชาธิปไตย เพื่อไปหาเผด็จการ หรือจริงๆ แล้ว เรากำลังเรียกร้องการเมืองแบบทางตรง แล้วต่อต้านระบบเลือกตั้ง ซึ่งทั้งเหลืองทั้งแดง เรียกตัวเองเป็นขบวนการประชาธิปไตยทั้งคู่ ทั้ง 2 ฝั่งมีคนจากหัวก้าวหน้าทั้งคู่ มันถึงทางแพร่งที่ทำให้ไม่รู้จะตอบอย่างไรในจุดนั้น

ไทยแค่จุดเริ่มต้น เราเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ปี 2530 ด้วยซ้ำ ที่เริ่มมีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ช่วงปี 2530-2540 ชนชั้นนำยังพอคุมได้ อำนาจภาคประชาชนไม่ได้กระจุกตัวที่พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่พอมีพรรคไทยรักไทย ของคุณทักษินเข้ามา ก็ไปสู่ประชาธิปไตยอีกแบบ ทำให้คนเริ่มตั้งคำถาม แต่ชนชั้นนำกังวลไปแล้ว ซึ่งทางออกคือ รัฐประหารปี 49

ถามว่า ขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา มีจุดเด่นอะไรบ้างที่ยังต้องวิเคราะห์กันอยู่ คุณูปการของการเคลื่อนไหวในแต่ละยุคคืออะไร ?

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวว่า มองภาพรวมของพัฒนาการการเมืองภาคประชาชน เป็นเส้น เริ่มต้นตั้งแต่ 2475 จากคนในระบอบราชการ ต่อมาคือ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ, สมัชชาคนจน, ปฏิรูปการเมือง 2540 มาจนถึงเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เราเห็นภาพของประเด็นที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นการยกระดับของการถกเถียง ที่เติบโตมาขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 90 กว่าปี ของประชาธิปไตยไทย

“คนที่เข้าร่วม ปี 2475 นับอย่างไรก็ไม่เกิน 500 คน 14 และ 16 ตุลา คนเข้าร่วมมากขึ้นหลักหมื่น เป็นฝ่ายซ้ายหลากหลายเฉด หลังจากนั้น พฤษภาทมิฬ เห็นพลังใหม่ๆ เข้ามา เห็นคน 50,000- 100,000 เข้ามาร่วมชุมนุมอย่างเข้มข้น ทั่วประทเศ เห็นคนชนชั้นกลาง ภาคเอกชนมาร่วม พอถึงสมัชชาคนจน เห็นการขยายตัวของประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน นักการเมือง เข้าไปร่วมชุมนุม พอถึงเสื้อเหลืองเสื้อแดงเป็นการแสดงพลังของคนธรมดาในทุกปี ทุกกลุ่มได้รับการกระตุ้น (Empower) เริ่มเชื่อว่า 1 คนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ กระบวนการทั้ง 10 ปี ปลุกจิตสำนึกของคนให้ไม่กลับไปเป็นแบบเดิม

พอหลังรัฐประหาร การเคลื่อนไหวของเยาวชน บอกเลยว่า เรามาถึงจุดที่มองไม่เห็นถึงความตื่นตัวของผู้คน ความเข้าใจถึงอำนาจของตัวเอง เราไม่เห็นคนมาม็อบ แต่ถ้ามองในมุมมที่มีความหวัง ทุกคนรอการเลือกตั้ง แม้กติกาจะไม่พอใจ” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว และว่า

มันไม่เป็นแบบเดิม เป็นการตั้งคำถามอีกแบบ คือการตั้งคำถามกับอำนาจที่อยู่เหนือสุด เพื่อสร้างกลไกทางการเมืองมากกว่า

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวตอนหนึ่งว่า ช่วงม็อบประชาชนปลดแอก และคณะราษฎรเริ่มต้น มีทีม 30 คน นั่งล้อมนักวิชาการ ตนขนลุก

เหมือนทีมอเวนเจอร์ มีทีมประสานนักการเมืองเพื่อไปต่อรอง มีทีมประสาน มีทีมการ์ด เห็นแล้ว อูหูว คือมันน่าตื่นเต้นมาก มีทีมวิเคราะห์ออนไลน์ ถ้าเทียบกับความสามารถก่อนเกิด 14 ตุลา 16 อาจารย์ท่านนึงเทียบว่า ห่างกันหลายล้านปีแสงมาก คือมันสะท้อนการก้าวไปแบบที่ถ้าให้เรามาประเมิน ในเชิงกลไก ความสามารถ เป็นชุดความรู้อีกชุด เปรียบเทียบแทบไม่ได้เลย คนที่ไม่เคยรู้จัก เห็นหน้า กระตุ้นให้เกิดสำนึกประชาธิปไตยได้ขนาดนี้”

“แต่จุดด้อย ซึ่งไม่แน่ใจว่าแฟร์หรือไม่ถ้าจะไปประเมิน คือความเป็นขบวนการ หรือ องค์กร ซึ่งเป็นโมเดลสำเร็จรูป แต่รุ่นพวdคุIไม่มีอะไรเลย เถียงกันทุกอย่าง ตั้งแต่เลือกเวที เลือกสี เลือกแสง จะเอาใครขึ้น ท้ายที่สุดการเถียงกันเองโดยไม่มีกรอบ นำไปสู่ปัญหาของการจัดตั้ง แต่ก็เป็นวัฒนธรรมที่ไปสู่สิ่งใหม่ที่คนรุ่นก่อนไปไม่ได้ เพราะคนรุ่นก่อนมีแพทเทิร์นแบบเดิมคือ 1.ประเมินสถานการ์ณ 2.หาจังหวะก้าวทางการเมือง แต่คนรุ่นคุณ บางทีคิดไม่ออกว่า ทำไมจังหวะนี้ การอิมโพไวส์เป็นทั้งจุดอ่อน และจุดแข็ง ฝ่ายความมั่นคงประเมินจำนวนคนไม่ได้” ผศ.ดร.กนกรัตน์เผย

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวอีกว่า การเถียงกัน เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างประชาธิปไตย อีกแบบ ซึ่งไม่ใช่ปัญหา แต่ชัยชนะจะเกิดจากการการสร้างเครือข่ายนอกกลุ่มเยาวชน ทำงานร่วมกับพรรคการเมือง มวลชนชายขอบ คนรุ่นเด็กกว่า-ใหญ่กว่า ซึ่งต่างคนต่างทำอาจจะเป็นจุดเด่น มากกว่าการที่จะต้องมีขบวนการที่ยิ่งใหญ่ เข้มแข็ง เหมือนสมัยคนเดือนตุลา

ผศ.ดร.กนกรัตน์ ยังย้ำด้วยว่า ชีวิตหลังม็อบเป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่อชัยชนะ ไม่มีวันที่จะชุมนุใหญ่ไปได้ 2-4 ปีติด การชุมนุมไม่ใช่สัญลักษณ์ของความสำเร็จ แต่การไปสู่อะไรต่อจากนั้น ไปสร้างประชาธิปไตยอีกรูปแบบอย่างไร ไปทำงานกับพรรคการเมือง หรือทำงานศึกษามากขึ้นอย่างไร คือชัยชนะในระยะยาว

เมื่อถามว่า กลุ่มวีโว่ และการ์ดอื่นๆ ได้สร้างมาตรฐาน หรือคุณูปการอย่างไร ควรมีการ์ดในการชุมนุมหรือไม่ ?

ผศ.ดร.กนกรัตน์ระบุว่า วีโว่ เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของกลไกขบวนการเคลื่อนไหว ที่โฟกัส “สันติวิธี” ถ้ามองให้ลึก วีโว่ เป็นผลลัพธ์ของการถอดบทเรียนเรื่องสันติวิธีที่น่าสนใจที่สุด ขบวนหนึ่งของไทย

“ตกผลึกว่า สันติวิธีก่อนหน้า เป็นสันติวิธีเชิงเครื่องมือ เรารู้ว่า ในหลายครั้งที่ผ่านมา ถ้าเราบอกว่าใช้สันติวิธี แล้วผลักดันไปสู่การเผชิญหน้า และรัฐใช้ความรุนแรงกับเรา เราชนะ เพราะรัฐจะถูกทำให้กลายเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกกลุ่มจะพูดว่าตัวเองสันติวิธี แต่บ่อยครั้งที่มีการพาตัวเองไปสู่การเผชิญหน้า
แต่ปัจจุบัน ไม่ชนะ รัฐกลับมีความชอบธรรมมากขึ้น ซึ่งคนรุ่นใหม่ตระหนักมากๆ การมีวีโว่ คือการพยายามไม่ยอมให้มีการเผชิญหน้าไม่ว่ากรณีใดใด เพราะคนรุ่นใหม่รู้ว่า ‘สันติวิธี’ คือวิธีเดียวที่จะทำให้คนมาม็อบได้ และเรียนรู้ว่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ม็อบชนะ” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

ก่อนเล่าว่า จากการสัมภาษณ์ทะลุแก๊ซ มรดกที่ วีโว่ ทิ้งไว้ให้กับชีวิตหลังม็อบราษฎร คือ ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซจำนวนมาก เป็นคนที่ผ่านการอบรมของวีโว่

“วีโว่สร้างคนอีกเจนเนอเรชั่น ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการม็อบ นี่คือกลไกที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ความสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ไม่ได้จัดตั้ง แต่คนที่กระจายตัวอยู่ ก็มาจากกลุ่มวีโว่ ทำให้น้องๆ รู้ข้อจำกัด สิ่งที่รัฐจะทำ รู้การวางแผน และการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวของทะลุแก๊ซ วีโว่ไม่ใช่กลไกที่ทำให้เกิดทะลุแก๊ซ แต่ทำให้การเผชิญหน้าลดน้อยลง ซึ่งวีโว่อาจจะไม่รู้ตัว มันเกิดขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ที่วีโว่ใส่ลงไปตลอดกระบวนการ” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว และว่า

นับตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เรายังไม่เคยเห็นแพทเทิร์นการชุมนุมซ้ำกัน คุณคิดและถามตัวเองตลอดเวลา ซึ่งรุ่นก่อนมีแพทเทิร์น ไม่ใช่พวกคุณไม่เชื่อแพทเทิร์น แต่รู้ตลอดเวลาว่า อะไรคือข้อจำกัด คือคำถามของคนยุคนี้ที่พร้อมพาตัวเองไปสู่ทางออกอีกแบบ เราไม่รู้ว่าม็อบจะมาเมื่อไหร่ จังหวะไหน ที่ไม่จัดม็อบไม่ใช่เพราะไม่มีคนมาม็อบ แต่คุณคิดตลอดเวลา ว่าทำแล้วเฟลอย่างไร เราให้เราก็ให้คำตอบไม่ได้ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

จากนั้น เวลา 16.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ “การชุมนุมทำไมต้องมีการ์ด” โดย เป้ กลุ่มการ์ด Mayhem, เฮียเหลียง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “พิราบขาว” และ นุ่น หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ปลดแอก”

สำหรับวันพรุ่งนี้ (14 สิงหาคม) จะมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย, น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มาร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “นักการเมืองกับเรื่องม็อบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image