ที่เห็นและเป็นไป : ปัดโธ่! โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ “เขาต้องการอยู่ยาว” ใส่ความพิศดารไว้ให้กับการเมืองไทยมากมาย ด้วยเจตนาเปิดทางการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และสร้างอุปสรรคให้ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ไม่ให้เหลือโอกาสที่จะเข้ามาควบคุมศูนย์กลางอำนาจรัฐ

ประเทศที่ควรพัฒนาไปด้วยดี ด้วยทรัพยากรและทำเลเอื้อต่อความมั่งคั่่ง และอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนมากกว่า ทั้งในเรื่องฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการเจริญงอกงามของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ปลอดจากภัยธรรมชาติรุนแรง เจริญรุ่งเรืองมาก่อนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน และอื่นๆ

ความพิศดารที่รัฐธรรมนูญถูกใช้ควบคุมการจัดการบริหารประเทศได้ตามอำเภอใจของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้อาวุธ และกองกำลังยึดครองอำนาจไว้ได้ ไม่เพียงกดทับการพัฒนาประเทศให้คนประชากรชุดใหม่ รุ่นลูกรุ่นหลานต้องมองตากันเลิ่กลั่ก ว่าอนาคตจะมีชะตากรรมอย่างไร กับระบบบริหารจัดการที่นับวันจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปในโลกยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้

การเรียกร้องให้จัดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่ขัดขวางการไปสู่อนาคตที่พอจะหวังในโอกาสการได้มีชีวิตที่เหมาะสมกับยุคสมัยของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยยังพอฝันเห็นสิ่งที่พออุ่นใจได้ กลับถูกปราบปรามอย่างเข้มข้น และรุนแรง ในระดับเกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนในแผ่นดินนี้

Advertisement

กระนั้นก็ตาม แม้จะถูกกดทับด้วยการใช้อำนาจหนักหน่วงแค่ไหน ผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้เหมือนไม่มีทางจะทำอะไรได้ ได้แค่นั่งมองตาปริบๆ ให้การบริหารที่เกรี้ยวกราดเอาเป็นเอาตายที่จะสืบทอดอำนาจนี้ดำเนินต่อ โดยเหมือนหมดหนทางที่จะคลี่คลาย หรือกระทั่งให้เกิดการประนีประนอมเกิดขึ้นได้บ้าง

“เขาต้องการอยู่ยาว” จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนถูกยัดเยียดให้รับรู้และยอมรับ

ในทางการเมือง “รัฐสภา” ไม่เพียงสาระสำคัญของบทบาทถูกควบคุมด้วย “พลพรรคที่เสวยวาสนาจากการแต่งตั้ง” แต่ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ถูกทำให้หมดสภาพที่จะแสดงบทบาทที่พอจะพึ่งพาได้

Advertisement

พวกหนึ่ง ขายวิญญาณเพื่อแลกกับเศษอำนาจและผลประโยชน์ที่ได้รับการหว่านโปรยมาให้ เพื่อรักษาตัวเองและเครือว่านวงศ์วานไว้ในสังคมชั้นสูง ทั้งแบบยกพรรค และ “แลกกล้วยกันเป็นคราวๆ”

อีกพวกหนึ่ง ที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยืนหยัดเชิงอุดมการณ์เคียงข้างประชาชน ถูกขบวนการที่จัดตั้งไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ “เขาอยากอยู่ยาว” ไล่ล้างทำลาย ทุกจังหวะที่มีโอกาส จนความพิลึก พิศดารต้องการจัดการกับคู่แข่งทางการเมืองอย่างอธิบายด้วย “มาตรฐานที่เท่าเทียม” ไม่ได้ กลายเป็นเรื่องธรรมดาเสียจนคนทั่วไม่รู้สึกว่าแปลกประหลาดอย่างไร

ยุคสมัยเช่นนี้ ก็ต้องเป็นเช่นนี้ จะเอาอะไรกันมาก

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเอื้อให้ทุนผูกขาด ปล่อยภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากความไม่ชอบมาพากลให้ประชาชนแบกรับอย่างไม่เปิดเผย โจ่งแจ้ง ไม่ต้องหาทางปิดบัง เหมือนเมื่อก่อนที่หัวใจเคยหลงเหลือความละอายอยู่บ้าง

ความเหลื่อมล้ำขยายกว้าง เสียงเรียกหาการอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมกว่านี้บ้างไม่ดังพอที่จะฝ่าการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดของแต่ละคนได้

มีไม่น้อยเลยที่ต้องเลือกสละชีวิตตัวเอง และคนในครอบครัวอันเป็นที่รักเพื่อหลีกหนีภาระของชีวิตที่ต้องแบกรับ

เหล่านี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในแบบที่โลกยุคข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวต่างๆ ถูกบันทึกไว้ถ้วนถี่อย่างทุกวันนี้ สามารถหารูปธรรมมายืนยันได้ง่ายดาย ถ้าคิดจะหา

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ ผลของ “รัฐธรรมนูญ ฉบับ เขาอยากอยู่ยาว” กำลังจะพิสูจน์ความพิศดาร และแปลกประหลาดของการอยู่ร่วมกันอีกครั้ง อย่างมีนัยสำคัญ

“รัฐธรรมนูญ” บัญญัติห้ามไม่ให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ขยายความไว้ชัดว่าให้รวมเวลาถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนููญฉบับนี้ประกาศใช้ด้วย ไม่ยกเว้นใคร แม้จะไม่ได้เป็นต่อเนื่อง หรือเว้นวรรคไป

ที่กำหนดเช่นนี้ว่ากันว่าเจตนาคือ ปิดทาง ทักษิณ ชินวัตร ผู้ยังมีบทบทผู้นำทางการเมืองสูง กลับมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ

แต่กลับกลายเป็นเรื่องนึกไม่ถึงว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ของ “นายกรัฐมนตรี” ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งเก้าอี้ที่ห้ามอยู่เกิน 8 ปี จนจะครบกำหนดในไม่กี่วัน

ที่บอกพิศดารพันลึก และเหลือเชื่อว่าจะพยายามอธิบายรัฐธรรมนูญกันเช่นนี้คือ

แม้เสียงคัดค้านจะดังขรมจากนักกฎหมายที่เคยชินกันการตีความในหลักการที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจากตัวบท และเจตนารมณ์ที่สืบหาจากความเห็นของคณะกรรมการร่าง จะออกมาในทางเดียวกันคือ “ต้องนับจากที่มีแต่งตั้งครั้งแรกเมื่อมี 2557” เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ หมายถึงจะหมดคุณสมบัติในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ทว่ากับมีนักฎหมายจำพวกหนึ่ง เริ่มที่จะเรียงหน้าออกมาชี้นำการตีความเรื่องนี้ ทำนองว่า “แม้จะเรียกกว่านายกรัฐมนตรีเหมือนกัน แต่การนั่งในตำแหน่งในห้วงเวลารัฐประหาร ซึ่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ให้เอามานับรวม”

เป็นความเห็นบางจำพวกที่ไม่ต้องอาศัยบทบัญญัติอะไรมาอ้างเป็นข้อยกเว้น ทั้งที่ในเรื่องอื่นๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนข้อยกเว้นไว้ละเอียดทุกกรณี

และที่เป็นความพิศดารของ “การตีความรัฐธรรมนูญ” ของ “นักฎหมายบางจำพวก”

ตีความให้ “นายกรัฐมนตรีที่มาจากการกลไกรัฐประหาร” มีทางออกที่เหลือเชื่อจากข้อห้ามที่บังคับใช้กับ “นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง”

เป็นความพิศดารที่ชัดเจนว่า ไม่มีอะไรปิดบังเพราะความรู้สึกหลงเหลือความเหนียมอายอะไรอีกแล้ว

พิศดารระดับที่หากจะให้บอกกันตรงๆ ไปเลย ว่า “ข้าจะเอาแบบนี้ เอ็งมีอะไรมั้ย” ก็คงลอยหน้าลอยตาบอกได้ โดยไม่แคร์ว่าใครจะรู้สึกอย่างไร

ยุคสมัยเช่นนี้ จะเอาอะไรกันนักหนาเล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image