‘ดิเรกฤทธิ์’ ยัน ‘ส.ว.’ ไม่ร่วมลงชื่อ ยื่นศาล รธน.ตีความ หาร 100 ยก เป็นปัญหา ‘ส.ส.’ ต้องแก้เอง

‘ดิเรกฤทธิ์’ ยัน ‘ส.ว.’ ไม่ร่วมลงชื่อ ยื่นศาล รธน.ตีความ หาร 100 ยก เป็นปัญหา ‘ส.ส.’ ต้องแก้เอง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของ ส.ว. ต่อการร่วมเข้าชื่อกับ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … ว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นสภาถ่วงดุล มีความเป็นกลาง ดังนั้น ส.ว.จะไม่มีการร่วมลงชื่อเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของ ส.ส. และสภาผู้แทนราษฎรที่มีฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะดำเนินการ ขณะที่ ส.ว. ไม่ควรร่วมลงชื่อ ส่วนตัวจะไม่ร่วมยื่นกับ นพ.ระวี แต่ยังขอสิทธิส่วนตัวที่จะแสดงความเห็น

“การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ เมื่อใครมีข้อสงสัย หรือไม่เห็นด้วยกับแนวทาง และมีความเห็นไม่ตรงกันซึ่งยอมรับว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้หาร 100 หรือ หาร 500 ในร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งต่างมีประเด็นที่มองได้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ กรณีที่ขณะนี้กลับไปใช้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งฉบับของรัฐบาล หากมีปัญหาที่สงสัยว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ต้องนำไปสู่การยุติข้อสงสัยให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวถึงประเด็นการเล่นเกมเทคนิคไม่ร่วมแสดงตน เพื่อเป็นเหตุให้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ที่ กมธ.พิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลา ว่า ในประเด็นดังกล่าวมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มองว่าเป็นการไม่ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกรัฐสภาต้องมีหน้าที่เข้าร่วมประชุม พิจารณากฎหมาย อีกฝ่ายมองว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อยับยั้งร่างกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ส่วนตัวมองว่าผู้ที่ไม่มาร่วมประชุมนั้นคือ ไม่มาทำหน้าที่ และอาจทำให้เป็นปัญหาทางการเมืองได้ในอนาคต รวมถึงเกิดทัศนคติการทำงาน พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องได้ เช่นเดียวกับกรณีที่มีการวิจารณ์บุคคลที่ที่กินเงินเดือนแต่ไม่ทำหน้าที่

“อนาคตหากมีคนไม่ชอบรัฐบาล ไม่ต้องมาลงมติไม่ไว้วางใจให้นอนอยู่บ้าน หรือไม่ถูกใจกฎหมายนอนอยู่บ้าน เท่ากับคัดค้าน วิธีการแบบนี้ ผมไม่เห็นด้วย และอาจจะกระทบต่อการพัฒนาการเมือง ส่วนกรณีที่มี ส.ว.มาร่วมแสดงตน 150 คนไม่มา 99 คนนั้น ยอมรับว่าเป็นเพราะมีความเห็นต่าง หากประเด็นนี้จะถูกนำไปโยงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญกำหนด เชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ และเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ถูกยื่นต้องอธิบาย เบื้องต้นผมทราบว่าจะมีผู้ที่ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว” นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image