ถกงบ’66 ต่อครั้งที่ 5 ‘หมอวาโย’ แฉ สนง.เลขาฯสภาเตรียมสร้างตึกใหม่พันกว่าล้าน แหย่ของบแล้ว 50 ล้านบาท หวั่นผิด กม.จัดซื้อจัดจ้างฯ ด้าน ‘ไอติม’ ขอตัดงบโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยวุฒิสภา 28 ล้านบาท อัดทำปฏิบัติให้ได้ก่อนสอนคนอื่น ‘รังสิมา’ จี้ ปธ.สภาสั่งสมาชิกห้ามเบิกงบอาหารซ้ำซ้อน เหตุเปลืองงบปีละ 100 ล้าน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ โดยมี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท วาระ 2 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายสุชาติได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบการเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แทน น.ส.วทันยา บุนนาค ที่ได้ลาออก โดยมี นายธนกร วังบุญคงชนะ เลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐแทน พร้อมกล่าวปฏิญาณตนก่อนเข้าทำหน้าที่ ทำให้ขณะนี้มี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 478 คน ส่วนองค์ประชุมกึ่งหนึ่งคือ 239 คน
ทั้งนี้ นายสุชาติแจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่า จากกรณีที่มี ส.ส.หลายคนปรึกษาตนว่าระบบการลงคะแนนขัดข้องหรือไม่ เพราะตัวเลขอยู่ที่ 235-237 คน ซึ่งองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง 239 คนเสียที ตนจึงได้เรียกเจ้าหน้าที่มาเช็กระบบทั้งหมดแล้ว โดยบริษัทยืนยันว่าระบบไม่ได้ขัดข้องและเป็นปกติทุกอย่าง จึงอาจเกิดการผิดพลาดในการเสียบบัตร หรือในการกด และตนได้สอบถามว่าหากกดซ้ำกันจะขึ้นบวกไปอีกหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีการบวกเพิ่ม เพราะระบบจะจำการแสดงตนเพียง 1 ครั้ง หากบัตรขัดข้องควรดึงบัตรออกมาก่อน แล้วเสียบไปใหม่อีกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่เพิ่มจำนวนผู้กดบัตรแสดงตน
จากนั้น เวลา 13.30 น. ที่ประชุมได้ลงมติมาตรา 29 งบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ ภายหลังสมาชิกสภาได้อภิปรายแล้วเสร็จครบถ้วนตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยมติเห็นด้วย 245 เสียง ไม่เห็นด้วย 121 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ต่อมา ที่ประชุมสภาได้เข้าสู่การพิจารณามาตรา 30 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐสภา โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สำนักงานเลขาธิการสภาจะมีการสร้างอาคารใหม่งบประมาณกว่าพันล้านบาท โดยในปี’65 มีการแหย่ขาเข้ามาแล้ว 50 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การแหย่ขางบประมาณเข้ามา 20% ไม่ถือว่าผิด แต่ครั้งนี้สำนักงานแหย่เข้ามาแค่ 5% แบบนี้ถือว่าผิดระเบียบ ตนได้สอบถามเลขาธิการสภาได้รับคำชี้แจงว่ากฎหมายเปิดช่องว่าถ้ามีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถทำได้ แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่ายังไม่มีการขอจาก ครม. แบบนี้เท่ากับท่านมัดมือชก ครม.หรือไม่ และท่านแน่ใจได้อย่างไรว่าถ้ารัฐบาลชุดหน้าเข้ามาจะอนุมัติให้ นอกจากนี้ มีการตั้งงบออกแบบอาคารอีก 30 ล้านบาท แปลว่ายังไม่มีการสำรวจออกแบบ อีกทั้งยังไม่มีการทำแบบสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่ท่านของบก่อสร้างแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะรีบไปไหน นอกจากนี้ ยังมีโครงการเกี่ยวกับไอทีจำนวนมาก โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของสมาชิกงบประมาณ 98 ล้านบาท ส่วนฝั่ง ส.ว.ในโครงการเดียวกันของบประมาณ 94 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งงบประมาณเกือบเท่า ส.ส.ทั้งที่จำนวนสมาชิกน้อยกว่า ตนจึงขอปรับลด 7.5%
ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะ กมธ. อภิปรายเสนอปรับลดงบประมาณของวุฒิสภา โดยเฉพาะโครงการพัฒนาและเสริมสร้างการเมือง จำนวน 28 ล้านบาท ตนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเผยแพร่เสริมสร้างความรู้ด้านประชาธิปไตย แต่โครงสร้างอำนาจและที่มาของ ส.ว.ทำให้กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่ขัดและเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลักคิด ส.ว.บางคนมีแนวคิดขัดกับหลักการประชาธิปไตย สุดท้ายตนขอทิ้งท้ายสุภาษิตที่ว่า “จงปฏิบัติในสิ่งที่คุณพร่ำสอน” ถ้าวุฒิสภาอยากจะของบประมาณจากภาษีประชาชน เพื่อไปสอนคนอื่นเรื่องประชาธิปไตย ตนขอชวนให้ท่านปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เริ่มต้นจากโหวตเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนหน้า ที่เป็นการเสนอตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ถ้ายังทำไม่ได้ ตนคิดว่าวุฒิสภาชุดนี้ขาดความชอบธรรมอย่างยิ่งในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับประชาธิปไตย ตนจึงขอให้ที่ประชุมสภาตัดงบประมาณโครงการนี้ จำนวน 28 ล้านบาท เพื่ออนาคตประชาธิปไตยไทย
น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ตนขอปรับลดงบประมาณของหน่วยงานรัฐสภาลง 10% เพราะเห็นว่า กมธ.งบประมาณพิจารณางบสภาทุกปีเหมือนเกรงใจ คือแทบไม่ได้ตัดงบเลย และอยากฝาก กมธ.ไว้ด้วยว่าให้พิจารณางบประมาณให้ละเอียดมากกว่านี้ ปี 2566 รัฐสภาของบประมาณอาหารห้องใหญ่ 72 ล้านบาท และงบอาหารของ กมธ. 34 ล้านบาท รวมแล้ว 106 ล้านบาท ทั้งนี้ ตนเคยหารือประธานสภาหลายครั้งให้ไปสั่ง กมธ.แต่ละคณะห้ามเบิกงบซ้ำซ้อน เช่น วันนี้ (23 สิงหาคม) ประชุมสภาใหญ่ ค่าอาหาร ส.ส.หัวละ 1,000 บาท ใครที่ประชุม กมธ.สามัญ และอนุ กมธ.ก็อย่าเบิกซ้ำซ้อนอีก ตนอยากให้เอาจริงเอาจริงกับเรื่องการเบิกงบอาหารของสมาชิก อย่างตนหากเข้าประชุมสภาใหญ่ตนจะไม่รับอาหารห้องอื่น จึงอยากให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาตรวจงบของสภาบ้าง ทั้งที่สภาเป็นที่ออกกฎหมายและอนุมัติงบประมาณ แต่งบประมาณของสภากลับจัดทำไม่รอบคอบแบบนี้ได้อย่างไร
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรา 30 ด้วยคะแนน 250 ต่อ 115 และงดออกเสียง 1 เสียง