ประเมินสัญญาณพักงาน ‘บิ๊กตู่’ 5 : 4 ทางออก 8 ปี?

ประเมินสัญญาณพักงาน‘บิ๊กตู่’ 5 : 4 ทางออก 8 ปี?

ประเมินสัญญาณพักงาน‘บิ๊กตู่’ 5 : 4 ทางออก 8 ปี?

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทน

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่รอคำพิพากษา เป็นหลักการทางการเมืองในระบบรัฐสภาอยู่แล้ว หากมีปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังจากมีการวินิจฉัยแล้วมีผลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ข้อสังเกตผลการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญมีนัยยะมากๆ เพราะ 4 ต่อ 5 โดยมี 5 ท่านเห็นด้วย แต่ 4 ท่านไม่เห็นด้วย โดยไม่รู้ว่าเหตุผลเป็นอย่างไร ก็ต้องรอดูคำวินิจฉัยส่วนตัว เป็นเรื่องน่าคิดทางการเมือง โดยเฉพาะตุลาการไม่เห็นด้วย 4 ท่าน

หลังจากนี้จะต้องมีการรักษาการเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีรักษาการ จะมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมารักษาการ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะรักษาการนานแค่ไหน ในหลักการแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยโดยพลัน อาจจะอยู่ในห้วงเวลา 1 เดือน แล้วมาดูผลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เกี่ยวกับการตัดสินว่านายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี หรือไม่ ในช่วงรักษาการของ พล.อ.ประวิตร ก็จะส่งผลให้คนรอบข้างจะได้มีโอกาสดำเนินการบางสิ่งบางอย่างที่ตนเองประสงค์อยู่ เพราะความจริงรักษาการนายกรัฐมนตรีสามารถทำการแทนนายกรัฐมนตรีได้ทุกอย่าง แต่โดยมารยาทส่วนใหญ่เรื่องสำคัญจะต้องให้นายกรัฐมนตรีตัวจริงมาดำเนินการเอง

Advertisement

พล.อ.ประวิตรรักษาการนายกรัฐมนตรี ภาพจะออกมา 2 ส่วน ความจริงเป็นได้โดยตำแหน่ง ถ้าหากดูความเหมาะสมแล้ว สังคมก็ร้องยี้เหมือนกัน เนื่องจากอายุ รวมทั้งภาวะผู้นำที่เป็นทางการ หากมองการสื่อสารกับสื่อมวลชนพบว่าไม่ชัดเจน ทำให้หลายคนร้องยี้ เหมือนกับหนีเสือปะจระเข้ เป็นส่วนรับรู้ทางสังคม แต่คิดว่าคนรอบข้างเอาด้วย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอุปสรรคสำคัญหลายๆ เรื่องในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ถ้า พล.อ.ประวิตรมานั่งตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี จะทำให้การทำงานทางการเมืองง่ายขึ้น

ส่วนการปรับ ครม.นั้น พล.อ.ประวิตรสามารถปรับได้ แต่จะกล้าไหม เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังเข้าร่วมประชุม ครม.ได้ด้วย หากปรับช่วงเวลานี้เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ป. อาจมีปัญหาได้ ข้อดีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อลดความกดดันทางการเมืองที่พุ่งเป้าไปสู่ พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนการปรับ ครม.คาดว่าสถานการณ์ในตอนนี้ คิดว่าควรจะเป็นกระทรวงที่ขาดรัฐมนตรีไป 2 ที่นั่ง ยังไม่ได้ใช้ทรัพยากรในทางการเมือง ทำให้เสียโอกาส ทั้งที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว แต่ตำแหน่งที่ว่างอยู่นั้นไม่นำมาใช้ในทางการเมือง เป็นการเสียโอกาส คิดว่าหากจะปรับ ครม.ควรเติมตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่าง 2 ตำแหน่งมากกว่า ส่วนปรับใหญ่คงยาก เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ยังนั่งใน ครม.ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

Advertisement

การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเร็ว หากชักช้าอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ เพราะช้าเพียงวันเดียวอาจเกิดช่องว่าง หากมีคำสั่งเกิดขึ้นในช่วงเกินเวลา 8 ปี ใครจะรับผิดชอบ ศาลรัฐธรรมนูญทำถูกแล้ว ต้องรีบรับคำวินิจฉัยไว้ก่อน เพื่อไม่ให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี มีปัญหาภายหลัง ลดกระแสการกดดันทางการเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการอยู่ในสภาพเดียวกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนการจะข้ามผู้ที่วางตัวไว้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นคนอื่นนั้น ในความเป็นจริงทำได้ แต่ พล.อ.ประวิตรจะต้องอ้างเหตุไม่สามารถรักษาการได้ แล้วให้ ครม.มีมติออกมาจะให้ใครดำรงตำแหน่งแทน แต่เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรคงรับ เพราะคนรอบข้างสนับสนุน ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญ อย่างไรก็ตาม สังคมก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ยุบสภา หรือทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยไว

ธเนศวร์ เจริญเมือง
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

เป็นห้วงเวลาที่ประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากไม่เคยเกิดปรากฏการณ์เรื่องดังกล่าวมาก่อน เชื่อว่าการวินิจฉัยของศาลตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ตระหนักถึงความรู้สึกประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่การพิจารณาตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น ช่วง พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งมา 8 ปี ไม่มีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจแก้ปัญหาไม่ได้ ราคาสินค้าแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น แต่สวนทางประชาชนมีรายได้ลดลง

การที่ศาลวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เชื่อว่าเป็นการลดกระแสต่อต้าน และความไม่พอใจประชาชน แต่ยังไม่ถึงขั้นสิ้นสภาพนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมด ดังนั้น นักวิชาการ ประชาชน ต้องจับตาอย่างไม่กะพริบว่าผลการตัดสินของศาลเป็นอย่างไร ถ้าตัดสินให้อยู่ต่อ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นประชาชนและนักลงทุน อาจส่งความเสียหายต่อประเทศมากขึ้น ยิ่งซ้ำเติมความบอบช้ำและความเดือดร้อนประชาชน ที่อยู่อย่างลำบากมากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามประชาชนที่รักประชาธิปไตยอย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะเรื่องดังกล่าวยังไม่จบ

กรณี พล.อ.ประวิตรรักษาการนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นช่วงเปราะบางสถานการณ์การเมือง เพราะ พล.อ.ประวิตรอาจใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขตได้ ดังนั้น พล.อ.ประวิตรไม่ควรใช้อำนาจปรับ ครม.และเปลี่ยนแปลงงบประมาณใดๆ อย่าให้พรรคร่วมรัฐบาลฉวยโอกาสใช้ต่อรองอำนาจและผลประโยชน์ ควรใช้วิธีพักรบ ไม่เปิดศึกหลายด้าน ควรดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง ไม่ใช่ประคองซ้าย-ขวา หรือนั่งหลับในสภา แต่รอจังหวะโอกาสกลับมาเกิดใหม่ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า อาจทำให้ พล.อ.ประวิตรกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ อย่าไปฟังแต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูแลเรื่องกฎหมาย ว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีสามารถทำอะไรก็ได้ ต้องดูกระแสสังคม และความต้องการประชาชนด้วย

ส่วนประเด็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวนั้น เป็นการส่งสัญญาณ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งได้ ถ้ามติเป็นเอกฉันท์ หรือเสียงข้างมาก อาทิ 8 ต่อ 1 หรือ 7 ต่อ 2 ก็จะเป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนหรือสังคมรับรู้ว่า โอกาส พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ยาก หรือกำลังสิ้นสุดสภาพเร็วๆ นี้ เพื่อตอบสนองความต้องการ หรือตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุดมากกว่า

ผลจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ร่างมาจากคนบางกลุ่ม หรือรัฐธรรมนูญดีไซน์มาให้พวกเรา เพื่อแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ ไม่ควรใช้เป็นกฎหมาย เพราะไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนโดยตรง ทำให้เกิดความซับซ้อนและยุ่งเหยิง ประชาชนสับสน ไม่ตอบสนองคนส่วนใหญ่ ต้องปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น เลข 8 ไม่ใช่เรื่องที่มีผลทางกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย

ทางออกสถานการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ต้องยอมเสียสละเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีพอแล้ว ไม่ดื้อรั้งอยู่ต่อ เพื่อปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ตามที่สังคมเรียกร้อง ควรจากไปด้วยดี เพราะประชาชนให้โอกาสมากแล้ว ดังนั้น การวินิจฉัยศาล ควรดูกระแสสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ทิศทางของโลก หรือศึกษาประเทศเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าตัดสินให้อยู่ต่อ เชื่อว่าเกิดผลร้ายกว่าเดิมแน่นอน เพราะประชาชนจะออกมาต่อต้านมากขึ้น อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศได้

ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

มีข้อสังเกตบางประการกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 1.การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติงานในฐานะนายกรัฐมนตรีตามคำร้องเรียนนั้น อาจสะท้อนได้ว่าข้อร้องเรียนมีมูลของการกระทำความผิดจริง ศาลจึงมีคำสั่งดังกล่าวออกไปให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน เพื่อให้มีการวินิจฉัยอย่างละเอียดและประกาศคำตัดสินในลำดับถัดไป

2.คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสามารถบรรเทาบรรยากาศทางการเมืองนอกสภาให้ลดลง ก่อนหน้านั้นเริ่มมีการชุมนุมของเยาวชนและประชาชนต่อกรณีการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะครบ 8 ปี (ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนด) ถ้านับตามระยะเวลา พล.อ.ประยุทธ์เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

3.การที่นายกฯถูกให้หยุดปฏิบัติงานนั้น หรือสุดท้ายศาลมีมติว่านายกรัฐมนตรีมีการปฏิบัติงานเกิน 8 ปีจริง ถ้าในมุมมองของทางรัฐศาสตร์ อาจเป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นทางออกให้ พล.อ.ประยุทธ์ลงจากอำนาจโดยเจ็บตัวน้อยที่สุด และมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเอาคนที่มีความสามารถในการจัดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะมาถึงในปีหน้า

ในประเด็นถัดมาการหยุดปฏิบัติงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งผลต่อการบริหารงานของรัฐบาลต่อจากนี้อย่างไร จะมีการปรับ ครม.ในช่วงนี้หรือไม่ ในความเห็นของผม ผู้มีอำนาจตอนนี้สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การรักษาอำนาจของตนให้ได้มากที่สุด และทำให้ระบอบการเมืองที่ตนเองสร้างมานั้นเดินต่อไปได้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คิดว่าผู้มีอำนาจน่าจะเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่าจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไรโดยไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การบริหารงานในรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการคือ การแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในขณะนี้มีเสถียรภาพ มีความมั่นคง เป็นปึกแผ่น สามารถบริหารงานประเทศต่อไปได้

ในช่วงที่รอคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตัดสินอย่างไร
นักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าผลการตัดสินจะออกมาไม่เกิน 1-2 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าว คิดว่ายังไม่มีการปรับ ครม.ใดๆ เกิดขึ้น ตามกระแสข่าวที่เริ่มเชียร์ให้ปรับ ครม.ในตำแหน่งว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าการทำงานของรัฐบาลยังดำเนินได้เป็นปกติแม้นายกรัฐมนตรีจะหยุดปฏิบัติงานไป

นอกจากนี้ ตอนนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ผ่านสภาเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะมีเม็ดเงินมหาศาลในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง พรรคร่วมรัฐบาลจะดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆ เคยหาเสียงไว้กับประชาชน เพื่อทำให้พรรคและผู้สมัครของพรรคตัวเองได้รับความนิยมในพื้นที่มากขึ้นและรักษาฐานเสียงของตัวเอง มากกว่านั้น ในช่วงสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี เป็นช่วงการโยกย้ายข้าราชการ อาจเป็นโอกาสให้จัดกลไกข้าราชการกันใหม่ในการปรับเปลี่ยนคนของตนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเตรียมรองรับกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

สิ่งเหล่านี้สำคัญกับรัฐบาลมากกว่าเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่หรือไป เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของระบอบสืบทอดอำนาจกันมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ถ้าพรรคสืบทอดอำนาจมาไม่สามารถชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วกลับมาเป็นรัฐบาลได้ สิ่งที่ทำมา 8 ปี อาจเสียของได้อีกครั้งก็เป็นไปได้

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อการยุติการทำงานของนายกรัฐมนตรี เท่าที่ดูตลาดหุ้นยังอยู่ในขาขึ้น ตลาดยังปกติ ไม่มีการเทขายรุนแรงของนักลงทุน คิดว่านักลงทุนยังคงรอดูสถานการณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินไปทิศทางไหน หลังจากนั้นเราอาจได้เห็นความเคลื่อนไหวในตลาดอีกครั้งหนึ่ง ถึงจะประเมินได้ว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากแค่ไหน

นอกจากนี้ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่หุ้นหลายตัวกำลังประกาศผลประกอบการให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ ผลที่ตามมาคือนักลงทุนมีแนวโน้มจะถือและซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อหวังปันผล หลังจากนั้นอาจเทขายในภายหลัง ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้

ส่วนประเด็น เราจะออกจากปัญหานี้อย่างไร คิดว่าในระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตย มีกลไกในการแก้ปัญหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาการเมืองไทยมักใช้วิธีการนอกระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การทำรัฐประหาร ในสถานการณ์นายกฯถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติงานตามขั้นตอนแล้ว หลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งนายกฯรักษาการทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถอยู่ต่อได้ ครม.ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง และมีการเลือกนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้ง ครม.กันใหม่จากแคนดิเดตของพรรคการเมืองต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถอยู่ต่อได้ ฝ่ายรัฐบาลคงต้องทำทุกวิธีเพื่อยืดระยะเวลาของรัฐบาลให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อใช้งบประมาณและทำโครงการต่างๆ เพื่อหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาล คงกดดันอย่างหนักให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด

สุดท้าย เชื่อว่ารัฐบาลคงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่จะเกิดขึ้นในช่วงไหนขึ้นอยู่กับการกดดันของพรรคฝ่ายค้านและประชาชนว่าจะมีมากแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image