09.00 INDEX : แก่นแท้ ของมูลเชื้อ วิกฤต “ข้าว” ทางเลือก “รัฐบาล” และ “คสช.”

ภาพประกอบ : เจ้าหน้าที่ทหารช่วยชาวนากาฬสินธุ์ลงแขกเกี่ยวข้าวเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน

วิกฤตอันเนื่องแต่ “ราคาข้าว” เริ่มสงบทันทีที่มาตรการ “ชะลอการขายข้าวเปลือก” ของชาวนาผ่านมติครม.ออกมา

เป็น “ความสงบ” อย่าง “รอคอย”

อย่างน้อยก็เป็นการให้ “โอกาส” เพราะเมื่อผ่านมติครม.ออกมาก็แสดงว่ารัฐบาลเริ่ม “คลำ” ทางได้ถูกต้อง

ถูกต้องว่า แท้จริงแล้ว “วิกฤต” เนื่องจาก “อะไร”

Advertisement

ในเบื้องต้นรัฐบาลและคสช.ให้ “น้ำหนัก” ไปยังประเด็นการสร้าง “สถานการณ์”

จึงเน้นไปยัง “กลุ่มการเมือง” เน้นไปยัง “กลุ่มโรงสี”

แต่เมื่อปะเข้ากับ “ปฏิกิริยา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาจาก “สมาคมโรงสีข้าวไทย”

ก็จำเป็นต้อง “ถอย” และกลับมา “ตั้งหลัก”

ท่าทีที่เคย “โต้ตอบ” ทุกเม็ด “เปิดโปง” ทุกเรื่องแม้กระทั่งการผูกคอตายของชาวนาที่พิจิตร อันออกมาจากโฆษกระดับ “พลโท” ก็เริ่มเงียบเสียงลง

ถามว่า แท้จริงแล้วปัญหา “ข้าว” และ “ชาวนา” คืออะไร

ไม่จำเป็นต้องถาม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่จำเป็นต้องถาม ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ก็ตอบได้ว่าเป็นปัญหา “แมนเนจเมนต์”

“แมนเนจเมนต์” อันศัพท์ในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์แปลออกมาว่า “บริหารจัดการ”

นี่เป็นเรื่องของการวางแผน วางกลยุทธ์

ตรงนี้เองจึงจำเป็นต้องไปงัดเอา “แผน” ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล คิดเอาไว้และเคยลงมือทำ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะ “ที่ปรึกษา” น่าจะรู้

ยิ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนปัจจุบันยิ่งจะต้องรู้ เพราะเคยดำเนินการในห้วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพาณิชย์

เมื่อนำเอามาตรการ “สินเชื่อเพื่อชะลอการขาย” ของชาวนามาใช้ทุกอย่างก็เงียบ

ชาวนาก็รอคอย สังคมก็รอคอย

ทั้งหมดตั้งแต่เดือนตุลาคมมายังเดือนพฤศจิกายน “สะท้อน” นัยยะที่สำคัญอะไร

สะท้อนว่า แม้ปัญหา “ข้าว” จะเป็นพืชทาง “การเมือง”

แต่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงต้องดำเนินไปในกรอบแห่งมาตรการทาง “เศรษฐกิจ”

อาศัยหลัก “อุปสงค์” อาศัยหลัก “อุปทาน”

หากเริ่มต้นจากมองเห็นว่าเป็นเรื่องในทาง “การเมือง” ล้วน-ล้วนก็จะถลำไปในแบบที่โฆษกระดับ “ไก่-ไก่” บางคนต้องประสบ

ต้องให้ “ชาวนา” ออกมา “สอน”

ต้องให้ นายกและกรรมการบริหาร “สมาคมโรงสีข้าวไทย” มาให้บทเรียน

เป็นบทเรียนในเรื่อง “บริหารจัดการ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image