เงื่อนไขอำนาจ‘บิ๊กป้อม’ ยุบสภา-ปรับครม.

เงื่อนไขอำนาจ‘บิ๊กป้อม’ ยุบสภา-ปรับครม.

เงื่อนไขอำนาจ‘บิ๊กป้อม’
ยุบสภา-ปรับครม.

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการมองสถานการณ์การเมืองกับกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และยุบสภาผู้แทนราษฎร ในระหว่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เรื่องกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการยุบสภาที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรักษาราชการนายกฯในขณะนี้ มองว่าถ้ามองในระบบรัฐธรรมนูญ ในระบบรัฐสภา เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรเองไม่มีอำนาจในการยุบสภาเพราะ พล.อ.ประวิตรเป็นรักษาราชการ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนี้เหมือนกำลังถูกแขวนอยู่ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์เองมาจากการโหวตโดยรัฐสภา เพราะฉะนั้นคนที่มีอำนาจในการยุบสภาคือ พล.อ.ประยุทธ์ ส่วน พล.อ.ประวิตรจะมีอำนาจต่อเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งมาแล้วเกิน 8 ปี เป็นต่อไม่ได้แล้ว และรัฐสภามีแนวทางที่จะสรรหาเลือกโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากวิถีทางรัฐสภาถึงจะมีอำนาจในการยุบสภา จึงคิดว่าไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม.หรือยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกฯไม่ใช่อำนาจของรักษาราชการนายกฯ มองว่าไม่เหมือนกัน ดังนั้น ต่อให้มีกระแสหรืออะไรก็ตาม มันเสี่ยงว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เรื่องกระแสอาจเป็นเรื่องของการคิดว่า พล.อ.ประวิตรมาจะมีการเปลี่ยนตัวคนหรือว่าเลือกตั้งใหม่ในจังหวะที่ยังได้เปรียบ ซึ่งไม่แน่ใจว่าได้เปรียบอยู่หรือไม่ ตรงนี้อยากให้มองว่าเป็นไปไม่ได้ในทางกฎหมายต่อให้เปลี่ยน ครม. สมมุติว่ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ไม่สบาย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรทั้งสิ้น ก็ตั้ง พล.อ.ประวิตรเป็นรักษาราชการ อย่างนี้ พล.อ.ประวิตรจะขึ้นมาและปรับ ครม.หรือยุบสภาเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นกระแสบางทีต้องมองข้อกฎหมายบวกข้อเท็จจริงด้วยว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าจะฝืนทำต้องมามองกันว่าในกลุ่มของ ครม.มีความขัดแย้งกันหรือไม่ แต่คิดว่าไม่มี ส่วนตัวกำลังงงอยู่ เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปนั่งอยู่ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่อยู่ในองค์ประกอบของ ครม.ได้อย่างไร เพียงแต่ถ้ามีอะไรขัดแย้งจริงหรือจะเปลี่ยนตัวจริงคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร ได้เจอกันใน ครม.อยู่แล้วในวันอังคารตอนบ่าย ถ้า พล.อ.ประวิตรเปลี่ยน ครม.เองก็ยังสงสัยอยู่ว่าจะเปลี่ยนโดยใช้อำนาจอะไรในการปรับ ครม.

ส่วนเรื่องที่ พล.อ.ประวิตรจะเป็นรักษาราชการนายกฯไหวหรือไม่นั้น ไม่มีปัญหา เรื่องสุขภาพนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง บารมีมีอยู่แล้ว ผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเรื่องสุขภาพพวกนี้ ถึงที่สุดแล้วถ้ามีปัญหาจริง ลำดับรองนายกฯที่สามารถเป็นรักษาราชการนายกฯได้ ต่อจาก พล.อ.ประวิตร ก็เป็นนายวิษณุ เครืองาม ซึ่งอย่างไรก็มีคนมาแทนต่อได้อยู่แล้ว และ ครม.ก็เป็นองค์ประกอบเดียวกันอยู่แล้ว แต่จะเป็น พล.อ.ประยุทธ์หรือ พล.อ.ประวิตร คิดว่าไม่น่ามีปัญหากันอย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนเรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เลือกตั้งที่สิ้นสภาพไป มองในระบบกฎหมายไม่เป็นไร ถึงที่สุดแล้วกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้าไปแล้วไม่ผ่าน หรือไปไม่ทันเวลาก็ตาม สามารถใช้กฎหมายเดิมไปก่อน กฎหมายเดิมก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่

Advertisement

ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือศาลรัฐธรรมนูญควรมีคำวินิจฉัยอย่างเร็วที่สุดว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างไร เพราะว่าไม่เช่นนั้นไปต่อกันไม่ได้ คือการเมืองตอนนี้คณะรัฐมนตรีเหมือนเป็นครึ่งผีครึ่งคน ไม่รู้ว่าเป็นผีหรือเป็นคน คือไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเอาอย่างไร ตอนนี้มีปัญหาในอนาคตคือระบบกฎหมายเรากำลังจะพังอยู่แล้ว ถ้าวันนี้มีการปรับ ครม.หรือยุบสภา คิดว่าพังแน่ เพราะฉะนั้นควรเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยโดยเร็วดีกว่า ตรงนี้น่าจะเป็นทางออก

อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ที่ต้องเลือกใครสักคนหนึ่งขึ้นมาเป็นนายกฯใหม่ คือเป็นกระบวนการเดิม ถึงเขาอยู่ก็อยู่ไม่กี่เดือน พอได้คนใหม่มาจะยุบสภาและเลือกตั้งเลยก็ได้ หรือจะทำให้กฎหมายลูกผ่านก่อนก็ได้ ยังมีเวลาเหลืออยู่ ส่วนกระแสสังคมต้องดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าทุกคนรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอยู่ เพราะคาดเดามากกว่านี้ไม่ได้ เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครบกำหนดแล้ว สาธารณชนต้องลุ้นต่อว่ารัฐสภาจะโหวตใครขึ้นมาเป็นนายกฯแทน ต้องไปว่ากันอีกขั้นหนึ่ง

ถึงตอนนี้แล้วผมยังยืนยันว่าควรเร่งรัดศาลรัฐธรรมนูญให้ออกคำวินิจฉัยโดยเร็วเพื่อไม่ให้ติดเดดล็อกไปมากกว่านี้

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากมองการเมืองในขณะนี้ พบว่ามีการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจค่อนข้างชัดเจน ระหว่างแกนนำในกลุ่ม 3 ป. เหมือนที่เคยกล่าวไปแล้ว การมองสัมพันธ์ภาพระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร ให้ดูการบริหารอำนาจ ถ้าหาก พล.อ.ประวิตรรักษาการนายกรัฐมนตรี หากมีการบริหารแบบปกติเป็นไปตามกลไกและกระบวนการ แสดงว่าความสัมพันธ์ยังแนบแน่น แต่ภาพที่ออกมาในขณะนี้พบว่า พล.อ.ประวิตรได้แสดงภาวะผู้นำทางการเมืองค่อนข้างมาก อาทิ ยกโทรศัพท์หา อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นการแสดงภาวะผู้นำทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งการปรับโผตำรวจ และดูจากคนแวดล้อม พล.อ.ประวิตร ที่เริ่มขยับตัว สามารถตีความได้ว่า พล.อ.ประวิตรเริ่มก้าวจากรักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อวางอนาคตเป็นนายกรัฐมนตรี หากดูสัญญาณแล้วมีแนวโน้มที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ช่วงนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำพิพากษา สถานการณ์การเมืองคงเดินหน้าต่อไปตามกระบวนการคือ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องชี้แจงต่อศาลเกี่ยวกับว่า ทำไมการดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี ซึ่งจะต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยมีระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ช่วงนี้การเมืองจะไม่มีอะไรคลุมเครือ เพียงรอศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาเท่านั้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาแล้ว จะเป็นจุดไคลแมกซ์ของการเมืองไทย ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ก็ต้องมามองว่ากระแสสังคมยอมรับหรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่ก็คือการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อที่มีอยู่ หากเป็นไปตามกระบวนการปกติ ก็จะมีนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่ได้มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดต
นายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องมาดูอีกว่าหาก ส.ว.ไม่ยกมือให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นจุดที่เป็นไคลแมกซ์ สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่คือ นายกรัฐมนตรีคนนอก ก็ต้องดูว่าใครมีบารมีเกี่ยวกับ ส.ส.ในซีกของรัฐบาล และ ส.ว.ที่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะมีชื่อของ พล.อ.ประวิตรกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

เกี่ยวกับการปรับ ครม. คิดว่าจากการดูการปรับบัญชีโผโยกย้ายตำรวจ เริ่มเห็นความสำคัญทางอำนาจทางการเมืองที่ชัดเจน ส่วนของการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีนั้น หากมองในเรื่องของการวางแผนระยะยาว เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรรอได้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำพิพากษา เว้นเสียแต่ พล.อ.ประวิตรต้องการหักหน้าหรือไม่ไว้หน้า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องมีการปรับ ครม.ซึ่งตอนนี้ก็สามารถทำได้

การยุบสภา ส่วนใหญ่จะยุบสภาในช่วงที่รัฐบาลมีความได้เปรียบทางการเมือง แต่สถานการณ์ในขณะนี้รัฐบาลยังมีความเสียเปรียบอยู่มาก จึงต้องยื้อเวลา และสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดียิ่งขึ้น ภาพที่เห็นคือเริ่มทำงานกับนายชัชชาติ รวมทั้งลงพื้นที่แสดงบทบาทภาวะผู้นำ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงการประชุมเอเปค ถ้ารัฐบาลมีคะแนนนิยม มีภาพลักษณ์ที่ดีมาระดับหนึ่ง มีโอกาสที่จะยุบสภาก็เป็นไปได้ เพราะในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีก็สามารถยุบสภาได้

ช่วงนี้ พล.อ.ประวิตรได้รับการสนับสนุนจากกองเชียร์จำนวนมาก อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในอนาคต หากดูองคาพยพทางการเมือง จะเห็นว่า ส.ว. พล.อ.ประวิตรสามารถควบคุมได้ทั้งหมด รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าหากการเลือกตั้งครั้งหน้าสามารถรักษาความสัมพันธ์แบบนี้ได้ อาจเห็น พล.อ.ประวิตรกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งได้เหมือนกัน

ย่างก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ หากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว ถือว่าเป็นทางลงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ดีที่สุดแล้ว เนื่องจากกระแสสังคมไม่เอาด้วย ประกอบกับจะต้องเผชิญกับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น จึงถือว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมแล้ว ดีกว่าที่จะให้ประชาชนเดินขบวนขับไล่ให้ลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ส่วนการโยกย้ายทั้งตำรวจและข้าราชการระดับสูงในขณะนี้ จะเห็นว่าเป็นการปรับความพร้อมเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เพราะตำรวจถือว่าเป็นข้าราชการส่วนสำคัญ เพราะเกาะติดพื้นที่จำนวนมาก สามารถวางกลไกปรับพื้นที่การเลือกตั้งได้ รวมทั้งการปรับข้าราชการระดับสูง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง

หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองจนต้องมีเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เสร็จ คิดว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องมีมาตรการและแผนการเลือกตั้งรองรับไว้อยู่แล้ว ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะได้มีสัญญาณเกี่ยวกับการยุบสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร หาก กกต.อ้างว่าไม่มีความพร้อม เป็นไปได้ตามเกมการเมือง เคยกล่าวไว้ว่าหากกฎหมายไม่สะเด็ดน้ำ อาจจะมีการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง

สุดท้ายอาจจะกลับไปหาร 500 อีกก็ได้ ส่วนจะกลับไปเลือกตั้งบัตรใบเดียวคงไม่ได้ เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งบัตร 2 ใบไปแล้ว ก็ต้องกลับมาดูในเรื่องของกฎหมายกันใหม่ว่าจะเริ่มจุดใด เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image