เน็กซ์สเต็ป 8 ปี ‘บิ๊กตู่’ บันได ‘บิ๊กป้อม’ ขึ้นนายกฯ?

สถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงต้องลุ้นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะนายกฯอีกหรือไม่ ภายหลังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ให้รับคำร้องที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชื่อ 171 คน ยื่นคำร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ความเป็นนายกรัฐมนตรี” ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่

นอกจากนี้ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

ขณะเดียวกัน ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินทำให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี

ปัญหาการตีความตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี มีมุมมองในการนับวาระนายกฯอยู่ 3 แนวทาง

Advertisement

แนวทางแรก ที่มีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือ เริ่มตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ขณะที่ แนวทางที่สอง คือเริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้คือตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568

และ แนวทางที่สาม คือรับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯภายหลังการเลือกตั้งคือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 9 มิถุนายน 2570

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

หากจะวิเคราะห์กันข้ามช็อตในทางการเมือง หาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีอันต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะต้องเดินหน้าต่อคือที่ประชุมรัฐสภาจะต้องประชุมกันเพื่อคัดเลือกนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

ขณะที่มาตรา 159 บัญญัติว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยและมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน หรือมี ส.ส. 25 คนขึ้นไป

ในกรณีนี้ ยังมีชื่อแคนดิเดตนายกฯตาม “นิตินัย” ที่อยู่ในบัญชีนายกฯ ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งปี 2562 และยังเป็นจนถึงทุกวันนี้ พรรคเพื่อไทย มีชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ ชัยเกษม นิติสิริ แม้ในทางพฤตินัยอาจเป็นไปไม่ได้ เพราะคุณหญิงสุดารัตน์ไปจัดตั้งพรรคไทยสร้างไทยและเดินหน้าทำงานการเมืองกับพรรคดังกล่าวอย่างเต็มตัวแล้ว

ขณะที่นายชัชชาติปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.และได้ประกาศว่าจะขอทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.ตามที่ได้หาเสียงไว้กับชาวกรุงเทพฯก่อน ตัวเลือกในบัญชีของพรรคเพื่อไทยจะเหลือเพียงนายชัยเกษมที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองของพรรค ซึ่งความเป็นไปได้ที่ฝ่ายรัฐบาลจะเลือกบัญชีรายชื่อนายกฯจากพรรคร่วมฝ่ายค้านคงจะไม่เกิดขึ้น

จึงต้องโฟกัสบัญชีรายชื่อนายกฯอย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทย กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังมีสิทธิเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติได้

ขั้นตอนที่ 2 การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯในรัฐสภา ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบันมี ส.ส.ทำหน้าที่อยู่ 478 คน ดังนั้น จะต้องมี ส.ส.รับรอง 48 คน มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของสภาผู้แทนราษฎร โดย มาตรา 272 บัญญัติไว้ว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่งให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาและมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ปัจจุบันรัฐสภา มีสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 726 เสียง เสียงที่จะให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องได้เกินมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่คือ 363 เสียง ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุไว้เพียงแค่ว่า ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลใดให้เป็นนายกฯโดยเร็ว แต่ถ้าที่ประชุมรัฐสภา โหวตคัดเลือกนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมืองยังไม่ได้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง เปิดช่องไว้ว่า ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไปโดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

พล.อ.ประวิตรจะมาเป็นนายกฯนอกบัญชี จะต้องอาศัยช่องทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรค 2 ขั้นตอนการปลดล็อกขอให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯจากนอกบัญชีพรรคการเมือง ต้องใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว.รวมกันให้ได้ 2 ใน 3

ถ้ารวมเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 หรือ 484 เสียงไม่ได้ หรือหาก ส.ว.ไม่เห็นชอบด้วย ก็จะทำให้เลือกนายกฯจากนอกบัญชีพรรคเมืองไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ พล.อ.ประวิตรต้องทำหน้าที่รักษาการนายกฯต่อไปเรื่อยๆ

สมการทางการเมืองว่าด้วยเก้าอี้นายกฯนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image