รายงานหน้า 2 : ‘สาธิต ปิตุเตชะ’ ชี้ช่อง พลิกเกมไว โอกาสธุรกิจ

‘สาธิต ปิตุเตชะ’ ชี้ช่อง

พลิกเกมไว โอกาสธุรกิจ

หมายเหตุนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs” จัดโดย “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” สื่อในเครือมติชน ที่บริเวณชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม

ขอขอบคุณบริษัทเครือมติชนที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อย หรือเอสเอ็มอี (SMEs) จึงมีการจัดงานในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ที่มีความต้องการในการประกอบธุรกิจ หลังจากสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 ตามแนวคิดของงาน คือ พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs ซึ่งความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ จะต้องให้ความใส่ใจกับการสร้างเศรษฐกิจระดับเอสเอ็มอี ที่จะเป็นฐานรากสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำได้มากที่สุด

Advertisement

โดยหลักสำคัญคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การสร้างองค์ความรู้ การศึกษาการตลาด และการหาแนวทางที่ดีที่สุด (best practice) นำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งมีความมั่นใจว่า โอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทย

เชื่อมั่นว่า ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวหลังจากมีโรคระบาด คือ การมองเรื่องของ “ระบบสาธารณสุข” เป็นสำคัญ ซึ่งการเดินทางมาท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง ก็เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะมิติท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness Center Medical hub รวมถึงผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผมในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อำนาจรับผิดชอบในการกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เราจึงต้องมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการอนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ความเสี่ยงต่ำ เช่น อาหาร หรือจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูง เช่น เครื่องมือแพทย์

เราได้ยินเสียงบ่นมาตลอดว่า ก่อนหน้านี้ อย. มีขั้นตอนในการดำเนินการค่อนข้างมาก ทำให้ใช้เวลาในการอนุญาตล่าช้า มักถูกตำหนิว่าล่าช้า แต่ต้องเรียนว่า ผมพยายามขับเคลื่อนบทบาทของ อย.ให้เป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่กำแพงอีกต่อไป

Advertisement

เราเห็นตัวเลขมูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีสูงมากกว่าแสนล้านบาท ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ตำรับยา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่เรามีสมุนไพรไทยที่เป็น Product Champion อย่างเช่น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร นี่เป็นเพียงสมุนไพรชนิดเดียว แต่ได้รับการยอมรับในทั่วโลก เราจึงต้องใช้จุดแข็งนี้ในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์สมุนไพรตัวอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของเอเชีย ในด้านการค้าสมุนไพรอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกขับเคลื่อนโดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดังนั้น หน่วยงานรัฐจะต้องเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นกำแพง การขออนุญาตจะต้องไม่ยุ่งยากหรือทำให้มีขั้นตอนมากขึ้น ทั้งหมดต้องเดินหน้าในลักษณะนี้เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทย

ตามนโยบายที่ผมให้ไว้กับ อย.จะมี 2 หลักการใหญ่ โดย 1.อย.ต้องพร้อมเป็นผู้สนับสนุนและให้คำแนะนำ 2.อย.เดินคู่ความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ การหาสมดุลที่สำคัญคือ การรับอนุญาตจะต้องรวดเร็วและมีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อยากชี้ให้เห็นถึงสังคมที่จะมีทั้ง พระเอก และ ตัวร้าย ซึ่งบทบาทหน้าที่ของ อย.ในขณะนี้คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงของผู้ที่กระทำความผิด โดยความพยายามของ อย.จะต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ในมือหลายฉบับนั้น รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต้องร่วมมือในการไล่จับแพลตฟอร์มที่ก่อปัญหาในระบบตลาดออนไลน์ ทั้งการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต การโฆษณาเกินความจริง การให้ข้อมูลที่เป็นเท็จกับประชาชนในการทำการตลาด ดังนั้น เราจึงต้องร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความรู้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก จะต้องยึดใน 2 หลักการดังกล่าวนี้ให้ได้

ขณะนี้ เราพยายามปรับระบบของ อย. ให้เป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เรียกว่า “FDA Smart Licensing” ผ่าน 5 กระบวนการ ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 สมัครบัญชีผู้ใช้จากระบบยืนยันบุคคลกลาง (Open ID) ขั้นตอนที่ 2 เข้าระบบเพื่อยืนยันคำขอผ่าน e-Submission โดยขั้นตอนนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมาตรวจทาน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา ขั้นตอนที่ 3 ชำระค่าคำขอผ่าน e-Payment ขั้นตอนที่ 4 เจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอและแจ้งการแก้ไขเอกสารผ่าน e-Review และ ขั้นตอนที่ 4 ออกใบสำคัญอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-License

สมัยก่อนจะขออนุญาตจะต้องมาที่สำนักงานของ อย.แต่ตอนนี้ เรากระจายอำนาจไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อไม่ต้องให้ทุกคนต้องเดินทางมาที่ส่วนกลาง ซึ่งตอนนี้เราก็พบปัญหาว่า มาตรฐานดุลพินิจของแต่ละจังหวัดยังแตกต่างกัน แต่ต่อไป เราก็จะพยายามทำความเข้าใจโดยนโยบายส่วนกลาง และใช้ดุลพินิจของผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางที่พบว่าค่อนข้างล่าช้าในการพิจารณาตลอดเวลากว่า 40 ปี โดยเฉพาะตอนนี้ ที่มีผู้ประกอบการเครื่องสำอางไปขอขึ้นทะเบียนเป็นแสนราย หากเราไม่แก้ปัญหานี้ ก็จะเป็นคอขวดทำให้ล่าช้า ขณะนี้ จึงมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง โดยให้มีการขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญ จึงหมายความว่า จะมีผู้ได้รับวิชาชีพมาตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางมากขึ้น ก็จะทำให้ขั้นตอนเร็วขึ้น ส่วนเรื่องการขึ้นทะเบียนยาที่เป็นความปลอดภัย ยังต้องมีการใช้งานวิจัยรองรับชัดเจนอยู่

จากนี้ นโยบายของ อย.คือ จะต้องเป็นผู้สนับสนุนและผลิตภัณฑ์ต้องปลอดภัย ส่วนวงจรที่จะเป็นปัญหา มีปัญหาเชิงทุจริตคอร์รัปชั่น ผมสามารถรับข้อมูลได้ตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบแก้ไขคอขวด สิ่งไหนที่เป็นไขมัน เราจะลีนมันให้หมด นี่คือ โอกาสของธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะรองรับโอกาสทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยว โอกาสและแหล่งทุน ต้องมาถึงธุรกิจเอสเอ็มอีมากที่สุด

ขณะนี้ รัฐบาลมีความพยายามในเรื่องการช่วยเหลือแหล่งทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่ก็ติดบางประเด็นที่เป็นรายละเอียดของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นช่องว่างที่ผมเห็นปัญหา และในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เห็นปัญหาที่สะท้อนมาจากพื้นที่ ก็มีการจัดสรรงบประมาณลงไปราว 5 แสนล้านบาท แต่พอถึงเวลาจริงๆ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นงบประมาณเงินกู้กลับเข้าถึงได้น้อยมาก เพราะไม่ผ่านเกณฑ์การใช้ ฉะนั้น เราต้องมาปรับสมดุลกันว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดหนี้เสีย ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจะต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนและได้รับการช่วยเหลือ อย่างที่ย้ำว่า หน่วยงานของรัฐทำคนเดียวไม่สำเร็จ ดังนั้น ต้องหาความร่วมมือจากผู้ประกอบการและประชาชนเพื่อให้เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ผมมั่นใจว่า คนไทยจะอยากมีสุขภาพดี และเฝ้าระวังรักษาสุขภาพมากขึ้น โอกาสทางเศรษฐกิจในแง่ของสาธารณสุขและสุขภาพ จะต้องเกิดขึ้น ผมมั่นใจว่าในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า นักเดินทางจะกลับมาประเทศไทยมากขึ้น และโอกาสตรงนั้น เราจะต้องร่วมด้วยช่วยกันในการพลิกเกมไว สร้างโอกาสในธุรกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image