รับไปก่อน>เดือดร้อน>เจ๊ง>ฉีก>ร่างใหม่ จะออกจากวงจรอุบาทว์ได้อย่างไร

แฟ้มภาพ

ในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2559 ของ กรธ. ชุด อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ปรากฏโฉมออกมา ตอนนี้เราจะได้รู้ว่า ฉบับมีชัยกับฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และฉบับ 2550 ฉบับไหนจะโหดกว่ากัน

แต่มีคำขู่ว่าถ้าไม่รับฉบับนี้จะเจอฉบับที่โหดกว่า

ศึกษาบทเรียนความโหด 8 ปี

เดือดร้อน วุ่นวายซ้ำซาก

เพราะอยากมีอำนาจเหนือประชาชน

เหมือนฉายหนังซ้ำ การร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ก็คล้ายกับปี 2550 เมื่อร่างแล้ว ก็ต้องนำไปลงประชามติ ปี 2550 บอกให้ประชาชนรับไปก่อน จะได้มีการเลือกตั้ง บทเรียนที่ได้รับตามมา คือปี 2551 ประชาชนก็ยังคงเลือกคนที่แต่ละฝ่ายคิดว่าดี คิดว่าเก่ง ไม่เป็นไปตามที่ฝ่ายที่อยากมีอำนาจคาดไว้ สิ่งที่ติดตามมาก็คือ ความวุ่นวายทางการเมือง มีการเดินขบวน ปิดถนนยึดทำเนียบ

ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เขียนไว้อย่างไร แต่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ 26 สิงหาคม 2551 และใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้ประชุม ครม. ได้

Advertisement

ต่อมา ศาลแพ่งได้มีคำสั่งชั่วคราวให้กลุ่มพันธมิตรฯ รื้อถอนเวทีปราศรัยและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ออกจากทำเนียบรัฐบาล และเปิดถนน

แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุมต่อไป

จนมีการยึดสนามบิน และใช้องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ ตามรัฐธรรมนูญโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อ 3 ธันวาคม 2551

Advertisement

สุดท้ายก็เปลี่ยนขั้วรัฐบาลในค่ายทหารได้

พอถึงปี 2553 เกิดการชุมนุม เดินขบวน ล้มรัฐบาลเทพประทาน จนเกิดการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธ คราวนี้คนเสื้อแดงแค่ยึดถนนยังมีคนตายเป็นร้อย บาดเจ็บหลายพัน ถ้ายึดสนามบินแบบเสื้อเหลืองสงสัยตายเป็นพัน

มีเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 แต่ประชาชนก็ยังคงเลือกเหมือนเดิม ใครเคยเลือกฝ่ายไหนก็เลือกฝ่ายนั้น

2554 รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังต้องบริหารไปตามรัฐธรรมนูญ 2550

ถึงปี 2556-2557 อนาธิปไตยก็ฉายซ้ำ มีการชุมนุมเดินขบวน ยึดกระทรวงทบวงกรม ปิดกรุงเทพฯ แม้รัฐบาลยุบสภาจะเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ยอม มีบอยคอต ไม่เลือกตั้ง ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง แล้วก็เรียกให้ทหารออกมาแก้ไขสถานการณ์ แต่จากการประกาศกฎอัยการศึก ก็เลยไปจนถึงการรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลชั่วคราวใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ

ความเดือดร้อนแผ่ไปทั่วทุกด้านทั้งบนบกในน้ำในอากาศ ทุกอาชีพ มีปัญหาตั้งแต่เรื่องการบิน การประมง พืชผลราคาตกต่ำ

จากความเดือดร้อนนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งร่างรัฐธรรมนูญออกมาโดยเร็ว เพื่อจะได้เลือกตั้งใหม่ แล้วบอกว่า ไทยเป็นประชาธิปไตยแล้วนะ

รัฐธรรมนูญฉบับโกงอำนาจ

มีคนพยามจะตั้งชื่อรัฐธรรมนูญของ อ.มีชัย ฉบับนี้ว่าเป็นฉบับต้านโกง

แต่ปรากฏการณ์ของการร่าง นับตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงวันที่ร่างเสร็จ จะพบว่าประชาชนไม่ได้เลือกคณะกรรมการเหล่านี้ขึ้นมาเอง การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงเป็นการร่างตามความคิดความเชื่อ และผลประโยชน์ของกลุ่มคน ดังคำที่ว่า ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น

จึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใด ที่อำนาจประชาชนจะเหลือเพียงน้อยนิด ตามกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ

การร่างโดยไม่สนใจว่าประชาชนต้องการอะไร เพียงหวังจะให้มีการควบคุมอำนาจได้ทั้งสามอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริหาร โดยเฉพาะอำนาจตุลาการ ที่ดูแล้วจะเพิ่มให้มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงอำนาจอื่นได้ทั้งหมด

รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่จึงเป็นความต้องการของผู้ร่าง ไม่ใช่ของประชาชน ดังนั้น…

ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านออกมา ความเดือดร้อนวุ่นวายก็จะเกิดซ้ำอีกเป็นรอบที่สาม เหมือนปี 2550 จนถึงปี 2558 เกิดความวุ่นวายไม่รู้จบ ทุกปี คำว่าเดือดร้อน ยังหมายถึงความสามารถในการทำมาหากินของประชาชน และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การสูญเสียโอกาสของคนจำนวนมากในประเทศไทย เพราะต้องตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งที่ไม่มีทางออก

ผลของรัฐธรรมนูญ 2550 ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน เมื่อคนระดับนายกรัฐมนตรียังโดนเล่นงาน รัฐมนตรีโดนเล่นงาน พรรคการเมืองยังถูกยุบ ส.ส. ถูกเสนอชื่อถอดถอน ดังนั้น ความตายของประชาชน การถูกจับกุมคุมขัง ในท่ามกลางการต่อสู้จึงเป็นเรื่องปกติ

ดูจากโมเดล 2550 รัฐธรรมนูญ 2559 ที่โหดกว่า คงเริ่มไม่สวย ไปไม่รอด

ถ้าอยากต้านโกงจริง ต้องทำอย่างไร

การโกงอำนาจ เป็นจุดเริ่มต้นของการโกงทุกอย่าง เพราะเมื่อมีอำนาจแล้ว ก็สามารถตั้งคนของตนเอง ตั้งพวกเดียวกัน เข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ สามารถตั้งคนที่ดูแลกติกา ตั้งคนที่มีหน้าที่จับกุม คนฟ้องคนตัดสิน ว่าถูกผิด รวมเป็นพวกเดียวกันทั้งสิ้น สามารถโยกย้ายสับเปลี่ยน ต่ออายุ ให้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ นานๆ (มีคนบอกว่าไทยกำลังจะเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อายุถึง 75 ถือว่าปกติ)

ดังนั้น เมื่อทำผิด ก็ไม่มีใครกล้ามาตรวจสอบ ไม่มีใครฟ้อง ต่อให้โกงไปแปดแสนล้านก็ไม่ฟ้อง คนตายร้อยคนก็ไม่ผิด ในขณะเดียวกัน ก็สามารถจับผิดอีกฝ่าย แม้เพียงเรื่องทำกับข้าวออกโทรทัศน์ อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ก็ถือว่าผิด การทำงานตามนโยบายต่างๆ ก็จะถูกขัดขวาง

ถ้าอยากต้านโกงต้องกล้าทำตั้งแต่หัวถึงท้าย

1. ที่มาของตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ต้องเลือกโดยประชาชน

2. ถ้าต้องการใช้อำนาจตุลาการ ไปถ่วงดุลอำนาจอื่น ก็ควรให้ประชาชนเลือกสภาตุลาการเข้ามาโดยตรงจำนวนหนึ่ง อาจจะมาจากทุกจังหวัด และต้องมีจำนวนมากพอ ไม่น้อยกว่า 100 คนโดยกำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสม จากนั้นให้สภาตุลาการ คัดเลือกองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกตำแหน่งต้องอยู่ในวาระไม่เกิน 4 ปี เช่นเดียวกับตำแหน่งที่มีอำนาจอื่นๆ

3. ถ้าจะต้านโกงให้ได้ผล จะต้องตรวจสอบทั้งหมด

ตรวจสอบนักการเมือง ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย

ตรวจสอบข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้นำไปปฏิบัติ และ

ตรวจสอบผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ ผู้กล่าวหา ผู้จับกุม สอบสวน ผู้ฟ้องร้อง ผู้ตัดสินถูกผิด

4. ต้องบังคับใช้กฎหมายกับทุกฝ่าย ในช่วงเวลาที่รวดเร็วเท่ากัน

การลงประชามติ

เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง และให้ถูกต้องตามหลักการสากล คือเสียงข้างมาก หมายถึงเสียงที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ไม่ใช่ครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ เพราะเราไม่สามารถนับผู้ที่ไม่ออกเสียง เมื่อไม่มีส่วนในการตัดสิน ออกความเห็นใดๆ ไม่รู้ว่าเขาจะออกเสียงอย่างไร บางคนไม่มา เพราะไม่แน่ใจว่าจะใช้สิทธิ์แบบไหน ไม่อยากออกความเห็น ก็ไม่สามารถบังคับให้ประชาชนทุกคนออกเสียงลงประชามติได้เพราะเป็นสิทธิ์ของเขา แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ออกมาใช้สิทธิ์ การพิจารณาจากความเห็นของเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยจากผู้ใช้สิทธิ์ จึงเป็นเรื่องถูกต้อง

ครั้งนี้ การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้เสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านได้ยาก และจะเป็นข้ออ้างว่าไม่ยุติธรรม

และถ้าถือหลักการนี้ไปใช้ในครั้งต่อไปในเรื่องอื่น จะทำให้การลงประชามติในอนาคต ผ่านการยอมรับได้ยากยิ่งขึ้น การแก้กฎหมายเรื่องลงประชามติ จึงสมควรที่จะทำในเร็ววันนี้

ไม่มีอะไรที่โหดเกินกว่า…ประชาชนจะต่อสู้

ไม่อยากให้วงจรเก่ากลับมา คือเริ่มจากมีคนขอร้องว่าให้รับไปก่อน ตอนช่วงที่ลงประชามติ จากนั้นหลังการเลือกตั้ง ก็จะมีความวุ่นวายเดือดร้อนตามมา เศรษฐกิจการเมือง จะทำให้คนทุกกลุ่ม เจ๊ง ความวุ่นวายจะลุกลาม จนเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง ซึ่งก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วก็ร่างกันใหม่ ดังนั้น จึงป่วยการที่เราจะเวียนลงไปในเส้นทางเดิม เสียเวลาตกหลุมตกหล่ม คิดหาเส้นทางใหม่ดีกว่า การได้เลือกตั้ง จะไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าวังวนของความเดือดร้อนแบบเก่าจะย้อนกลับมาอีก

สิ่งที่ควรทำวันนี้ คือการพยายามผลักดัน กรธ. ให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เหมาะสมกับความตื่นตัวของประชาชน ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านไปถึงการลงประชามติ และยังไม่สามารถแก้ไขให้เหมาะสม จะอ้างต้านโกงมาหลอกประชาชนคงไม่สำเร็จ

การปกครองประเทศของคณะ คสช. ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ดำเนินไปท่ามกลางความขัดแย้งและความอดทนของประชาชนอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทเรียนให้กับทุกฝ่าย สอนให้รู้ว่าเมื่อมีความขัดแย้ง การใช้สิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยควรทำอย่างไร

ถ้าทุกคนอยู่นิ่งเฉย ปล่อยให้ความอยุติธรรมเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็สมควรที่จะต้องได้รับผลนั้นร่วมกัน ถ้ามันจะลำบากยากจนลงทั้งประเทศก็ต้องปล่อยให้จน การรู้จักต่อสู้ รู้จักคิด เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีและยุติธรรม เป็นเรื่องที่ต้องออกแรงเอง ไม่ใช่เรื่องสวรรค์บันดาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image