เปิดเอกสารหลุด ‘มีชัย’ อดีต ปธ.กรธ. แจง วาระนายกฯ 8 ปี เริ่มนับ 6 เม.ย. 60 หลัง รธน.ประกาศใช้

ว่อนเน็ต! เปิดเอกสารหลุด ‘มีชัย’ อดีต ปธ.กรธ. แจง วาระนายกฯ 8 ปี เริ่มนับ 6 เม.ย. 60 หลัง รธน.ประกาศใช้ รธน. ระบุความเห็นบันทึกการประชุมก่อนหน้า ใช้อ้างอิงไม่ได้

เมื่อวันที่ 6 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะเรียกประชุมนัดพิเศษในวันที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณาคำร้องกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสองและมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ เนื่องจากนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าได้รับคำชี้แจงของพยานของ พล.อ.ประยุทธ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขา กรธ.ครบเรียบร้อยแล้ว จึงนัดประชุมเพื่ออภิปรายคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวมถึงพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆ ว่าสิ้นข้อสงสัย เพียงพอจะนัดลงมติวินิจฉัยได้หรือไม่

ล่าสุด โลกออนไลน์ ได้เผยแพร่เอกสารความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เรื่อง “ความเห็นเกี่ยวกับ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ส่งถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่มีคำสั่งให้จัดทำความเห็นในประเด็น “ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯดังกล่าว เข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ และนับแต่เมื่อใด นั้น นายมีชัย ชี้เเจง สรุปได้ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 6 เมษายน 2560 และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่ วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

2. ส่วนที่เกี่ยวกับ ครม.รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160) ที่มา (มาตรา 88) วิธีการได้มา (มาตรา 159) และมาตรา (272) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่) และผลจากการพันจากตำแหน่ง (มาตรา 168) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา ส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิ และเพิ่มความรับผิดชอบ ไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใดๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้ เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับ ครม.ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560

Advertisement

3. การที่จะได้มาซึ่ง ครม.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะกระทำได้ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปมี ส.ส.และ ส.ว.ที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมี ครม. เพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดิน สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติ มาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ ว่า “ให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับหน้าที่” โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ

4. โดยผลของมาตรา 264 ครม.รวมทั้งนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะ ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และโดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้ จึงมีผลต่อ ครม.และนายกฯ ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตาม มาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ช่วงท้ายของเอกสาร นายมีชัย ชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 วันที่ 7 กันยายน 2561 ว่า ส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้า ขอเรียนว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน สรุปตามความเข้าใจของผู้จด กรธ.ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และ กรธ.ได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 12 กันยายน 2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ มีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้ กรธ.ได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปกรายงานการประชุมทุกครั้งว่า บันทึการประชุมนี้ กรธ.ยังไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบเอง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีเอกสารคำชี้แจงหลุดออกมาในโลกออนไลน์จนเป็นที่วิพากวิจารณ์นั้น ยังไม่มีใครหน่วยงานใดออกมาการันตีว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อสอบถามนายปกรณ์ว่า เอกสารที่เผยแพร่ออกมาเป็นของจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อสอบถามความชัดเจนได้

ขณะที่แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า เอกสารที่เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นเอกสารจริงหรือเท็จ เนื่องจากการพิจารณาคดีที่ผ่านมาคำชี้แจงหรือความเห็นของพยาน ผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง ส่วนใหญ่ที่เข้าระบบของสำนักงานฯจะไม่เคยหลุดออกมาเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image