เปิดคำชี้แจงทีมกม.บิ๊กตู่ งัดไม้เด็ด อ้าง กก.กฤษฎีกาชุดพิเศษ ต้องนับจากรธน.60 ใช้

เปิดคำชี้แจงทีมกม.บิ๊กตู่ หักล้าง ปมนายกฯ 8 ปี งัดไม้เด็ด กก.กฤษฎีกาชุดพิเศษ ชี้ ต้องนับจากรธน.60 ใช้

เมื่อวันที่ 7 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงาน ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกร้อง ชี้แจงในประเด็นคำร้องที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ โดยทีมกฎหมายของพล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งเอกสารชี้แจงมายังศาลรัฐธรรมนูญ มีทั้้งหมด 23 หน้า จำนวน 7 ข้อ โดยเป็นเนื้อหาทางข้อกฎหมายในการคัดค้านแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งผู้ร้องเข้าใจไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยนำเอาระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่เป็นนายกฯครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มานับรวมกับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ 6 เม.ย.2560

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุว่า แม้การดำรงตำแหน่งนายกฯครั้งแรก จะเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 และเป็นนายกฯ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ไม่อาจนำระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มานับรวมกับการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ เนื่องจากความเป็นนายกฯครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 พร้อมกับการสิ้นสุดลงของ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ดังนั้น ความเป็นนายกฯครั้งแรก จึงขาดตอนจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 มีที่ผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่การดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อ 6 เม.ย.2560 ต่อเนื่องมานั้น เป็นไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินกในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังเลือกตั้งการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2560

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุอีกว่า สำหรับข้อกำหนดห้ามเป็นนายกฯเกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ว่า เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิ ดังนั้น ต้องตีความอย่างแคบและโดยเคร่งครัด จะตีความอย่างกว้าง ให้หมายความรวมถึงการเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมิได้ ซึ่งหลักการตีความกฎหมายเรื่องการจำกัดสิทธิของบุคคลนี้ ตรงกับแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาในประเด็นการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ที่มีส่วนร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งประกอบด้วย นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นายนรชิต สิงหเสนี นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายอัชพร จารุจินดา และนายอุดม รัฐอมฤต ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 19/2565 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ลงวันที่ 17 มกราคม 2565

Advertisement

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุอีกว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในปัจจุบันไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดี สำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด ไม่เคยใช้อำนาจการเป็นผู้นำประเทศ หาผลประโยชน์ให้ตนเองหรือพวกพ้อง ดังนั้น ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าใด ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ไม่เคยใช้อำนาจผู้นำประเทศหรืออำนาจทางทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือของวงศาคณาญาติ หรือพวกพ้อง และไม่เคยคิดช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ที่ทำความเสียหายให้ประเทศหรือประโยชน์ของสาธารณะของประชาชน ให้กลับมามีอำนาจหรือเป็นผู้นำประเทศเพื่อใช้อำนาจ ก่อผลเสียต่อประโยชน์ของประเทศอย่างรุนแรงได้อีก

ส่วนประเด็นการหยิบยกบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ครั้งที่ 500 ลงวันที่ 7 กันยายน 2561 มิใช่บันทึกเจตนารมณ์ของการนับระยะเวลาหรือการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ก็เป็นเพียงการประชุมเตรียมการจัดทำหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอภิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560” เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำหนังสือฯแล้วเสร็จและจัดพิมพ์เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ก็มิได้นำเอาความเห็นหรือข้อหารือของนายมีชัย ฤชุพันธ์ กับ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เช่นว่านั้น มาใส่รวมไว้ในคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย และมิได้ปรากฎคำอธิบายใดๆ เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่กำหนดห้ามเกิน 8 ปี

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ชี้แจงด้วยว่า สำหรับกรณีการไม่เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินนั้น เป็นการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ที่ได้ตีความไว้ พร้อมชี้แจงว่า

Advertisement

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นหรือศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่อาจนำเหตุผลและเจตนารมณ์หรือแนวทางการปฎิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ไปใช้อธิบายหรือตีความหรือใช้เป็นแนวทางบังคับใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่มีลำดับชั้นหรือศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าได้ การที่ผู้ร้องอ้างแนวทางการยึดเอาการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าพเจ้าและคู่สมรสครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และการไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าพเจ้าและคู่สมรส ซึ่งเป็นการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาเป็นแนวทางปฎิบัติหรือการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคสี่ ที่เป็นบทบัญญัติกฎหมายจำกัดสิทธิของบุคคลนั้น จึงกระทำมิได้

เอกสารคำชี้แจงของทีมกฎหมาย ระบุด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความและใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามหลักกฎหมาย มิใช่ตามข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปของประชาชน ที่สำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดีโดยปราศจากอคติทั้งปวง หากศาลรัฐธรรมนูญนำเอาข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปของประชาชนมาใช้ตีความกฎหมาย หรือวินิจฉัยพิพากษา ย่อมเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดอคติในการวินิจฉัยหรือพิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้

การดำรงตำแหน่งที่มีข้อจำกัดห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 วรรคสี่ นั้น หมายถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น หากรัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์ที่จะให้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วยก็ย่อมต้องบัญญัติไว้โดยแจ้งชัด ทั้งนี้ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง จึงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหา ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ โดยเอกสารดังกล่าวมี จำนวน 23 หน้า ชี้แจงรายละเอียดจำนวน 8 ข้อ ดังนี้

1. ยืนยันว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ครั้งแรก ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตนก็ยังคงดำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 จนมีการเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ร้องไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ได้เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนตามพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยเช่นกัน การสิ้นสุดดังกล่าวส่งผลให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของตนครั้งแรก จึง ”ขาดตอน” จากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ( 6เมษายน 2560 ) จึงไม่อาจนับรวมระยะเวลา การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก กับการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ได้

ส่วนการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ วันที่ 6 เมษายน หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรี หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว

2. การกำหนดระยะเวลา 8ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เป็นการกำจัดสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติโดยชัดแจ้ง ว่าหมายรวมถึงความเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น และโดยหลักตีความทางกฎหมายแล้ว หากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน จะตีความในทางจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้ ซึ่งตรงกับแนวทาง ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ได้แก่
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายนรชิต สิงหเสนี นายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย นายประพันธ์ นัยโกวิท นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายอัชพร จารุจินดา นายอุดม รัฐอมฤต
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 7 คน เห็นว่าบทบัญญัติ กำหนดวาระ 8ปี ดังกล่าว หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

ข้อ 3. ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2561 และ 2562 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีของ ว่า คณะรัฐมนตรี ที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

ข้อ 4 ยืนยันว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตน ไม่ขัดกับหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ตามมาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรม ไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจอยู่แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยาวนานเกินไป ไม่ปล่อยให้คนทุจริต มีอำนาจทำการทุจริตได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และข้กำหนดนี้มิใช่ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ยังระบุคำชี้แจงของพล.อ. ประยุทธ์ ว่า ข้าพเจ้าสำนึกและปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตลอดมาด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและด้วยความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในหน้าที่และประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าเชื่อว่า สำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอันเป็นหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ไม่ใช่เฉพาะแต่ฉบับ 2560

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ว่าข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ตราบใด ที่ข้าพเจ้าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตนในลักษณะที่เป็นเหตุให้เสียหายต่อประโยชน์ของประเทศ ประโยชน์สาธารณะของประชาชนแล้วระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าก็ไม่ได้ขัดต่อหลักมาตรฐานสากลและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อย่างใด

“ข้าพระเจ้าเชื่อโดยสุจริต บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย หลักนิติธรรมและมาตรฐานสากลว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้าในปัจจุบันยังไม่เกิน 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะไม่อาจนำระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2557 ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้ว มานับรวมกับนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ได้

ข้อ 5 บันทึกการประชุมของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ที่ระบุความเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สามารถนับรวมระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั้น พบว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่บันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงบทสนทนาของนายมีชัย กับนายสุพจน์ ไข่มุก เท่านั้น

ข้อ 6 ข้ออ้างที่ระบุ ว่า ข้าพเจ้าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ว่า เป็นนายกรัฐมนตรีมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกันได้

ข้อ 7 ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตีความและใช้รัฐธรรมนูญ วินิจฉัยลักษณะและลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายไม่ใช่ตามข้อเท็จจริงรับรู้โดยทั่วไปของประชาชน เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพราะการรับฟังข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไป เป็นหลักที่ใช้ในการฟังพยานหลักฐานของศาลเท่านั้น ไม่ใช่หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความกฎหมาย

ข้อ 8 ขอกล่าวโดยสรุปว่า การกล่าวหาว่า ตนดำรงตำแหน่งมาครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้ร้อง และขอย้ำว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่อาจนับ จากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ได้ เพราะความเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของข้าพเจ้า ได้สิ้นสุดลงแล้ว และขาดตอนไปแล้ว นับจากวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ และการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกไม่เกิน 8 ปีนั้นหมายถึงการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญอื่น ดังนั้น ข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ยังไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและตามหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ายังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง ขอยื่นแก้ข้อกล่าวหา ลงชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image