รองเลขาแอมเนสตี้ฯ ชี้ ‘นิว จตุพร’ ใช้สิทธิเดินแฟชั่น ไม่ควรถูกขัง 2 ปี จี้รัฐไทยยุติคดีปราบคนเห็นต่าง

แฟ้มภาพ

รองเลขาแอมเนสตี้ฯ ชี้ ‘นิว จตุพร’ ไม่ควรถูกขัง 2 ปี เพียงใช้สิทธิเดินแฟชั่นโชว์ จี้รัฐไทยยุติคดีปราบคนเห็นต่าง

สืบเนื่องวานนี้ (12 ก.ย.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก น.ส.จตุพร แซอึง หรือ นิว อายุ 23 ปี นักกิจกรรมแนวร่วมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ป.อาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด, ร่วมกันชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในที่สาธารณะ, ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขคำสั่งเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีการชุมนุมแต่งกายชุดไทยร่วมกิจกรรมแคตวอล์กราษฎรเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 บริเวณหน้าวัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) เรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ ที่แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ นั้น

อ่านข่าว : ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ‘นิว จตุพร’ แต่งชุดไทยแคตวอล์กราษฎร ชี้มีเจตนาล้อเลียน

ไคลด์ วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า กิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์นั้นเป็นการตีความสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในเชิงเสียดสี โดยเป็นงานสาธารณะซึ่งจัดขึ้นโดยสงบ ไม่ต่างจากงานเทศกาลตามท้องถนนทั่วๆ ไป ที่มีการแสดงดนตรี ออกร้านขายอาหาร และการเต้นรำ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ควรต้องถูกตัดสินลงโทษ เพียงเพราะการมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มกันโดยสงบเช่นนี้

“เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ ยุติการดำเนินคดีทั้งหมดต่อบุคคลผู้เพียงใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบโดยทันที พร้อมปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังอย่างไม่ชอบธรรม”

Advertisement

“จากการที่กระแสการชุมนุมประท้วงในประเทศไทยมีความเข้มข้นขึ้น คำตัดสินลงโทษในคดีล่าสุดนี้สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการปราบปรามผู้เห็นต่างที่ไม่ใช้ความรุนแรง” ไคลด์ วอร์ด กล่าว และว่า

“แม้ว่ารัฐไทยมีหน้าที่ในการคุ้มครองการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยหลายรายเป็นเยาวชนหรือแม้แต่เด็ก พวกเขาควรมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนในการสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงในการถูกจำคุกและถูกบันทึกประวัติอาชญากรรมอย่างไม่เป็นธรรม”

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบภายใต้ข้อ 21

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image