‘เพนกวิน-ไผ่’ มามาดใหม่ ‘ให้มันเริ่มจากรุ่นเรา’ ชี้ ‘เลือกตั้ง’ ทำคนกล้างัดเพดานวิพากษ์

‘เพนกวิน-ไผ่’ มามาดใหม่ ‘ให้มันเริ่มจากรุ่นเรา’ ชี้ ‘เลือกตั้ง’ ทำคนกล้างัดเพดานวิพากษ์

เมื่อวันที่ 16 กันยายน ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จัดงาน “ให้มันเริ่มจากรุ่นเรา” : การนำเสนอผลงานวิจัยว่าด้วยการมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในสังคมไทยร่วมสมัย โดยโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแผนงาน คนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

บรรยากาศ 12.00 น. มีแกนนำนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ร่วมให้ความคิดเห็นและแลกเปลี่ยน ในหัวข้อ “ให้มันเริ่มจากรุ่นเรา” อาทิ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ดาวดิน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ อดีตแกนนำเยาวชนปลดแอก น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือ วาดดาว เฟมินิสต์ปลดแอก และ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มราษฎร ร่วมด้วย ดำเนินรายการโดย ชัยพงษ์ สำเนียง

ในตอนหนึ่ง นายพริษฐ์ หรือ เพนกวิน กล่าวว่า เมื่อเวลาผ่านไป กระแสการเมืองมาแล้วไป แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการรักษาจิตวิญญาณการต่อสู้ ข้ามรุ่น ข้ามบุคคล เชื่อว่าผ่านไปอีก 5-10-20 ปี จนผ่านพ้นรุ่นของตนไป เมื่อถึงยุคนั้น แล้วในเวลาต่อมามีการบันทึก มีคนสอนการเมืองภาคประชาชน จะเป็นหลักฐานอ้างอิงที่สมบูรณ์

Advertisement

ทั้งนี้ นายพริษฐ์ได้ให้ข้อเสนอเพิ่มเติมจากการวิจัย เพื่อความเข้าใจ ปรากฏการณ์ ‘ดันเพดาน’ ก่อนหน้านี้ ว่าเกิดอะไรขึ้น ?

“กระแสความคิดที่ก้าวหน้า ต้องการวิพากษ์ ไม่ได้มีในปี 63 แต่มีมาเรื่อยๆ อย่าง อั้มเนโกะ, ดา ตอร์ปิโด ผู้ล่วงลับ ก่อนจะถึงช็อตนี้ มีการส่งกระแสทางความคิด ทั้งมาก-น้อย ได้ทีละร้อย พัน หรือวงกว้าง ขึ้นอยู่กับโอกาสทางเทคโนโลยีและโอกาสทางการเมือง สังคม ที่พร้อมจะรับฟังเพียงใด” นายพริษฐ์กล่าว ก่อนลงลึกถึง 3-4 ปี ให้หลัง ที่เสียงเริ่มดังขึ้น

Advertisement

นายพริษฐ์ชี้ว่า ความย่ำแย่ทางสังคมเรา คงประจักษ์ได้ด้วยตนเอง แต่สิ่งหนึ่งที่จะพูดถึงคือ การใช้ความรุนแรงของภาครัฐ ทั้งในและนอกกฎหมาย เริ่มกันตั้งแต่ยุคคณะราษฎร ในฐานผู้เฝ้ามองคนรุ่นก่อน ถือว่ารุ่นราษฎรรุ่นของตน เป็นเหมือนรุ่นขบวนการประชาธิปไตยใหม่ NDM ซึ่งแถลงเปิดตัวที่โต๊ะนี้ห้องนี้ เมื่อปี 2558

“เรามองพี่รุ่นนั้น เห็นความพยามยามที่จะงัดเพดานการวิพากษ์ของสังคม จากเดิมแค่พูดถึงรัฐบาล รัฐประหาร ก็เป็นเรื่องใหญ่ได้ทางสังคม การใช้ ม.44 เป็นเรื่องที่น่ากลัว อีกอย่างคือกระแสสังคม สมัยก่อนจะมีข้อโจมตีต่อขบวนการนักศึกษา แต่เพดานขยับขึ้นสูงเรื่อยๆ สักวันหนึ่งต้องทะลุ

แต่ว่ากันตามตรง ปี 2561 ไม่รู้ว่ากระแสจะมาถึงจุดนี้ ตัวเร่ง นอกจากวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผมว่าคือ “จ่านิว” (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) ช่วงที่โดนตีหัว 2 ป๊าบ ป๊าบแรกเจ็บ ป๊าบสองปางตาย มันเหมือนหลายๆ คนมีเส้นบางอย่างขาดในหัว มันคือท่าทีอันไม่เป็นมิตร คือการส่งสารว่า “อยากตายห่*หรอ” ถึงจุดนี้เราสัมผัสได้ถึงความเขม็งเกลียวบางอย่างที่ก่อตัวขึ้นมา ไม่รู้ว่าภาครัฐคิดยังไง เล็งเห็นไหมว่าไปปลุกแรงแค้นให้กับขบวนการที่กำลังเหนื่อยล้าอยู่ กลายเป็นจุดหักเหให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า พอเข้ามหาลัย ภารกิจสำคัญในฐานะนักเคลื่อนไหวของตน ที่เคลื่อนไหวซีเรียสมาตั้งแต่มัธยม ถือเป็นมิชชั่นออฟไลฟ์ ในช่วงชีวิต คือการปลุกขบวนการนักศึกษาให้กลับมามีชีวิตาอีกครั้ง หลังเงียบหายไป 40 กว่าปี หลัง 6 ตุลา

“เราพยายามใช้หลายกลวิธี ใช้สื่อ เผยแพร่ความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้คนกล้าจะเอาด้วยที่สุด คือการเลือกตั้งปี 2562 การทำกิจกรรมตอนนั้นไม่ได้เท่เหมือนตอนนี้ ผมเอาป้าย วิพากษ์ พล.อ.ประยุทธ์ ไปตั้งไว้อย่างสงบ ที่ มธ.รังสิต ก็มีแต่คนหยามเหยียด ว่าทำลายความสงบของมหา’ลัย แต่หลังปี 62 มีคนมาเห็นด้วยกับเรา มีจำนวนหนึ่งที่ตาสว่าง แต่มาตรา 44 ฟังดูน่ากลัวมาก เมื่อก่อนโดนชวนทำกิจกรรม ไม่ไป บอกตามตรงตอนนั้นกลัว ม.44 ชวนให้เกิดบรรยากาศที่ว่า คนประเทศนี้ไม่เอาประชาธิปไตย บางทีสภาะ ม.44 ปิดปากอยู่ แต่พอคนได้รับกลิ่นเสรีภาพนิดหน่อย ทำให้เกิดความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง นายพริษฐ์กล่าว และว่า

สรุป 1.แนวโน้มความเป็นไปได้ของการดันเพดาน มีมาก่อนแล้ว 2. การทำร้ายจ่านิว ความรุนแรงของภาครัฐ มีผลสร้างอารมณ์ร่วมของขบวนการนักศึกษา 3.การเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงการเปิดช่องว่างทางการเมือง ส่งผลขบวนการนักศึกษาได้เบ่งบาน

ด้าน นายจตุภัทร์ หรือ ไผ่ดาวดิน กล่าวว่า ตนอยู่ในแวดวงนี้มา 10 กว่าปี เห็นบรรยากาศทางสังคม จากแต่ก่อนเป็นคนส่วนน้อย ถูกลดทอนคุณค่า ทำเพลงก็ถูกหาว่าเป็นเด็กแว้น แต่มองว่าทุกการต่อสู้ ทุกปรากฏการณ์ทางสังคม จะเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นก่อน อย่างรัฐประหาร 2557 เกิดการต่อสู้ เกิดความหวังว่าจะทำอะไรสักอย่าง เกิดการชุมนุม ขบวนการต่อสู้ ซึ่งการรวมตัวทำได้ยากมาก มีคำสั่ง คสช. ห้ามรวมกันเกิน 5 คน มี ม.44 คำสั่งต่างๆ สิ่งที่เผด็จการไทยทำคือ จับขังคุก เขากลัวการแสดงความคิดเห็น เพราะไม่สามารถตอบคำถามได้ ดังนั้น การจับกุม สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว คือสิ่งที่ คสช.ทำสำเร็จในยุคแรก กระทั่งมีการเลือกตั้งปี 2562 บรรยากาศเปลี่ยน

“ย้อนไปปี 2559 ทำประชามติ รัฐธรรมนูญ 60 มีความหวังว่าจะโหวตคว่ำได้ คนที่ต่อสู้ก็ผิดหวัง อยู่กับมัน แล้วสู้กับมันอีก ณ วันนี้ปัญหาการตีความที่เคยรณรงค์ยังอยู่วันนี้ จนมาถึงปี 2563 บรรยากาศที่คนไม่พอใจออกมามาก ‘มีความไม่เป็นธรรมเกิด มีการต่อสู้ และมีความหวังของผู้คน’ พี่น้องเสื้อแดง สู้กลับไป แล้วกลับมามีพลังยิ่งใหญ่นี่คือบทเรียนว่า การต่อสู้ในประวัติศาสตร์ และความหวัง ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ”

“ปี 63 หลายๆ คนมีความหวังว่าจะจบ ไม่มีใครคิดว่าเผด็จการจะหน้าด้านขนาดนี้ คนออกมาเยอะใช้วิธีการ กำลัง จับกุมคุมขัง พอสู้นาน ค่าใช้จ่ายในการออกจากบ้านมาต่อสู้ก็สูง คนที่มีความหวังว่าจะเปลี่ยน ก็เริ่มเข้าใจ เราไม่ผิดที่มีความหวัง ว่ามันจะจบ ประยุทธ์จะออก แต่ปัญหาคือรัฐนี้ไม่ฟังเสียงของพวกเรา และลดทอนขบวนการของเรา มีการใช้ความรุนแรง จับกุม สลายการชุมนุม ทำให้พื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถูกกดลงมาอีกครั้ง

อย่าลืมว่าการต่อสู้บนท้องถนน อย่างนักเรียน ไม่ได้ต่อสู้แค่นั้น ต่อสู้สถาบันครอบครัว ต่อสู้สถานศึกษา และต่อสู้ทางการเมืองสนามใหญ่อีก” นายจตุภัทร์กล่าว และว่า

บรรยากาศหลังปี 2563 คนตื่นตัวทางการเมืองมาก แต่ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงก็มากกว่ารุ่นตน เขาเพิ่งออกมาเคลื่อนไหว รวมกันแสดงความคิดเห็น มีความผิดพลาดบ้าง แต่จะไม่โดนแบกรับความกดดันขนาดนี้ ดังนั้น บรรยากาศทางการเมืองในปี 2563 ตึงมาก เข้าใจความรู้สึกแบกรับ และเจอปัญหาในช่วงนั้น มันเครียดมาก

แต่สิ่งที่อยากจะบอก การต่อสู้ที่ผ่านมา มีคุณูปการหมด ตั้งแต่ 2475 ไล่ลงมาเรื่อยๆ ตนอ่านบทความหนึ่งที่บอกว่า คนยุคนี้เชื่อมโยงกับการต่อสู้ 2475 จริงอย่างที่ว่า การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนทุกรุ่น มาถึงยุคเราที่ได้ลองทำ และเคลื่อนไหว เชื่อว่าการเคลื่อนไหวจะไม่มีแค่นี้ มีขึ้น มีลง มีการสร้างการรับรู้ ตื่นตัวทางการเมือง ตั้งแต่พี่น้องที่ต่อสู่ 6 ตุลา 19 ก็ยังเจอในการต่อสู้ในปี 63 การต่อสู้มันจะไปอย่างนี้

“หลังจากนี้ ช่วงนี้ทุกคนหมดหวัง กับการต่อสู้บนท้องถนนรัฐบาลก็หน้าด้าน ออกมาลุยทุกวัน ยังไม่ออก ก็เกิดการเปลี่ยนวิธีการใหม่ ทำให้เห็นพัฒนาการทางสังคมที่เปลี่ยนไป และพยายามหาวิธีการต่อสู้รูปแบบต่างๆ ยุทธวิธี รูบแบบเปลี่ยน แต่ยังคงหลักการ ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม” นายจตุภัทร์ชี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image