หน้า 3 วิเคราะห์ : คำตัดสิน‘นายกฯ 8 ปี’ ส่งผลทิศทางการเมือง ผ่านนัยยะพร้อมเลือกตั้ง

คำตัดสิน‘นายกฯ 8 ปี’

ส่งผลทิศทางการเมือง

ผ่านนัยยะพร้อมเลือกตั้ง

กรณีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ เดินทางมาใกล้ถึงบทสรุปของคดี เมื่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 14 กันยายน ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การพิจารณาวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 30 กันยายน เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement

หากย้อนดูกระบวนการพิจารณาคำร้องดังกล่าว ก่อนหน้าวันที่ 24 สิงหาคม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยและมีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน รวมทั้งให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตเลขาฯกรธ. ส่งความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 501

รวมระยะเวลาในการพิจารณานับตั้งแต่วันรับคำร้องจนถึงนัดวันอ่านคำวินิจฉัย รวม 38 วัน ถือว่าอยู่ในห้วงเวลาที่ไม่เร็วหรือช้าเกินไปต่อการตัดสินสถานะนายกฯของประเทศ

Advertisement

ส่วนผลตัดสินในกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี จะออกมาในแนวทางใดนั้น แม้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล รวมทั้งทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะออกได้ทั้ง 3 แนวทาง คือ

แนวทางแรก เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2567

แนวทางที่สอง คือ เริ่มนับจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 เนื่องจากความเป็นนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ทั้งมาตรา เพราะผ่านการลงมติคัดเลือกนายกฯ จากที่ประชุมรัฐสภา จะดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี ในวันที่ 6 เมษายน 2568

และ แนวทางที่สาม คือ เริ่มนับตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 และจะครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2570 ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ คงหวังให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อในทางการเมือง นั่นคือ ลุ้นให้คำวินิจฉัย ออกมาในแนวทางที่ 2 และ 3 ซึ่งจะมีผลต่อการจัดดุลอำนาจและวางกลยุทธ์ของผู้ถืออำนาจรัฐปัจจุบัน

หากคิดจะเดินหน้าต่อในทางการเมือง โดยเฉพาะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ผลของคำวินิจฉัยบทสรุปสุดท้ายจะออกมาในแนวทางใด ย่อมไม่สามารถก้าวล่วงในดุลพินิจขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะผลของคำวินิจฉัยนั้นผูกพันต่อทุกองค์กร

ขณะที่สัญญาณทางการเมืองในช่วงปลายสมัยก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 24 มีนาคม 2566 ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อยังต้องลุ้นกับสถานะของนายกฯ ต่อกรณีคำร้องการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ว่าจะผลคำวินิจฉัยจะออกมาในทิศทางใด แม้หลายฝ่ายจะมองว่า นายกฯอาจจะรอด ได้ทำหน้าที่ต่อ แต่ในทางการเมืองย่อมต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดก่อนกำหนด หรือเป็นไปตามวาระคือในปี 2566 ในแต่ละพรรคร่วมจึงต้องเดินหน้าผลงานทั้งนโยบายต่างๆ ที่ได้สัญญากับประชาชนไว้ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการเมือง ช่วงปลายสมัยของรัฐบาลจึงเกิดปรากฏการณ์เตะสกัด ขัดขากันในทางการเมือง เห็นได้จากการลงมติของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ลงมติโหวตไปในทิศทางเดียวกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

โดยยกเหตุผลว่า เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังมีช่องว่าง หละหลวม ไม่มีมาตรการควบคุมกัญชาที่รัดกุมเพียงพอ สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการใช้กัญชาได้อย่างเสรี แต่ส่งผลต่อนัยยะทางการเมืองเนื่องจากเป็นการเตะสกัด การเดินหน้าทำแต้มทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่เดินหน้านโยบายกัญชาเสรีอย่างเต็มที่

หลักจากปลดล็อกกัญชาออกจากกฎหมายยาเสพติดแล้ว ขั้นต่อไปคือ การออก พ.ร.บ.กัญชาฯ มารองรับการใช้กัญชาทางการแพทย์และในเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ปลูกกัญชา ส่งผลให้แกนนำพรรค ภท. มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่า พรรคร่วมรัฐบาลมุ่งเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป เนื่องจากไม่อยากให้พรรค ภท.มีแต้มต่อในทางการเมืองมากกว่าพรรคอื่น ตามมอตโต้ของพรรค ภท.ที่ว่า “พูดแล้วทำ”

นัยยะของพรรคร่วมรัฐบาล ไปจนถึงความพร้อมของพรรคร่วมฝ่ายค้านผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกสภา คือ การเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง ที่แต่ละฝ่ายต่างตั้งเป้าหมายให้ได้กลับมาเป็นผู้นำในการถืออำนาจรัฐ ด้วยสถานะการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล บริหารอำนาจอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image