ส.ส.เพื่อไทย บี้ รบ.เร่งแก้ปัญหาเกษตรกร ถ้าทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จัก อาจไม่ต้องแจกบัตรคนจน

ส.ส.อุบลฯ เพื่อไทย บี้ ‘รัฐบาล’ เร่งแก้ปัญหาเกษตรกร ชี้ต้นทุนเพิ่มราคาลดอยู่ลำบาก บอกถ้าทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักได้อาจไม่ต้องแจกบัตรคนจน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 20 กันยายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรค พท. กล่าวว่า ปุ๋ยยังแพง ค่าครองชีพสูงลิ่ว ทั้งค่าไฟฟ้าแพง ค่าน้ำมันสูง รายได้ไม่พอรายจ่าย กำลังซื้อในประเทศหดหาย มะพร้าว ลำไย มังคุด ราคาต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ลัมปีสกินยังคงระบาด อหิวาต์หมูเยียวยาล่าช้า น้ำท่วมบริหารจัดการน้ำล้มเหลว ยางพาราราคาตก วัวราคาต่ำ หนี้สินเกษตรกรพอกพูน เกษตรกรไทยสิ้นหวัง

นายเอกชัยกล่าวว่า หากรัฐบาลไม่เร่งสร้างความแตกต่างให้สินค้าเกษตรไทย แม้แต่ทุเรียนที่มีราคา วันข้างหน้าอาจไม่ต่างจากลำไย ทั้งที่ภาคเกษตรเป็นจุดแข็งจุดหนึ่งของประเทศไทย ประเทศไทยโชคดีที่เกษตรกรไทยมีความสามารถ แต่โชคร้ายที่รัฐบาลมองไม่เห็นศักยภาพในการผลิต

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า เราผลิตสินค้าเกษตรหลายอย่างได้มีคุณภาพในระดับสูง แต่เกษตรกรไทยยังทุกข์ยากลำบาก รายได้ไม่พอรายจ่าย สินค้าเกษตรไทยหลายชนิดเป็นสินค้าคุณภาพสูง ไม่ใช่สินค้าคนจน การที่คนไทยส่วนใหญ่กลายเป็นคนจนใน 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีเงินที่จะบริโภคสินค้าในราคาแพง ทำให้สินค้าพรีเมียมหลายอย่างขายไม่ได้ ไม่ว่าลำไย มังคุด ที่ราคาตกต่ำ และล่าสุดมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งชาวสวนเคยขายราคาลูกละกว่า 20 บาท ปัจจุบันชาวสวนขายได้ราคาลูกละ 6-7 บาทเท่านั้นเอง

นายเอกชัยกล่าวว่า โคขุนที่เกษตรกรเคยเลี้ยงสร้างรายได้มากมายกำลังเผชิญปัญหาราคาตก วัวที่เคยขายได้ราคาดี สร้างรายได้ เมื่อคนรวยมีน้อยลง เนื้อราคาแพง ก็ขายได้น้อยลง โคขุนก็ราคาตกไปด้วย สินค้าคนจนขายดี เช่น มาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยอดขายไม่ตก แถมยังขยับขึ้นราคา โดยในปี 2564 มาม่ามียอดขายราวๆ 14,300 ล้านบาท และตั้งเป้าขยายการขายถึง 22,000 ล้านบาทต่อปีในอนาคต

Advertisement

นายเอกชัยกล่าวด้วยว่า การแก้ไขปัญหาการบริโภคภายในประเทศด้วยนโยบายบัตรคนจนจะยิ่งทำให้มาม่าขายดี ส่วนสินค้าคุณภาพสูงระดับบน เช่น ลำไย มังคุด มะพร้าวน้ำหอม เนื้อโคขุน หรือข้าวหอมมะลิ จะมียอดขายดีขึ้นหากประชาชนมีรายได้มากขึ้น เพราะคนจะบริโภคสินค้าราคาแพงเมื่อมีเงินเหลือเท่านั้น และตลาดพรีเมียมผู้บริโภคมีรสนิยมการบริโภคสินค้าที่มีเอกลักษณ์พิเศษ การเพิ่มมูลค่าเพิ่มด้วยเรื่องราวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจึงเป็นเรื่องสำคัญในอนาคต เช่นเดียวกับเกษตรกรญี่ปุ่นที่สร้างเนื้อวากิว และเนื้อมัตสึซากะ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

“รัฐบาลไทยควรสร้างเอกลักษณ์เหล่านี้ และรัฐบาลจะทำไม่ได้เลย หากไม่เข้าใจซอฟต์เพาเวอร์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ดึงจุดเด่นที่มี ของดีที่มี มาสร้างความแตกต่าง และเพิ่มมูลค่า เกษตรไทยเรามาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปผลิตสินค้ากิฟเฟน (Giffen good) แล้ว เมื่อเราผลิตสินค้าพรีเมียมแต่พ่ายแพ้ทางการตลาด รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าทำให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักได้ รัฐบาลอาจจะไม่ต้องแจกบัตรคนจน” นายเอกชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image