ปภ.เผยกทม.-8จังหวัด ยังมีน้ำท่วม เร่งคลี่คลายสถานการณ์-ดูแลช่วยเหลือประชาชน

ปภ.เผยกทม.-8จังหวัด ยังมีน้ำท่วม เร่งคลี่คลายสถานการณ์-ดูแลช่วยเหลือประชาชน

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 ก.ย. 65 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใน 35 จังหวัด รวม 95 อำเภอ 212 ตำบล 805 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 142,957 ครัวเรือน และ กทม. มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ น้ำท่วมใน 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุรินทร์ ปทุมธานี รวม 5 อำเภอ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน และกรุงเทพมหานคร รวม 2 เขต 7 แขวง ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง ขณะที่ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ทำให้ยังคงมีสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 15 อำเภอ 122 ตำบล 628 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานจังหวัดดูแลผู้ประสบภัย และระดมกำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 4 – 20 ก.ย. 65 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 35 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 95 อำเภอ 212 ตำบล 805 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 142,957 ครัวเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย (อุดรธานี) ไม่มีผู้เสียชีวิต ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุรินทร์ ปทุมธานี รวม 5 อำเภอ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน และกรุงเทพมหานคร รวม 2 เขต 7 แขวง ปัจจุบันสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดระดับน้ำลดลง ดังนี้

Advertisement

-ตาก น้ำจากแม่น้ำวังไหลเข้าท่วมพื้นที่อำเภอสามเงา รวม 3 ตำบล (วังหมัน ยกกระบัตร วังจันทร์)
22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 908 ครัวเรือน

– สุรินทร์ ฝนตกหนักทำให้มีน้ำท่วมขังผิวการจราจรในพื้นที่อำเภอปราสาท รวม 3 ตำบล (เชื้อเพลิง
กังแอน บ้านพลวง) 3 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย

-ปทุมธานี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี และอำเภอคลองหลวง รวม 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 55,165 ครัวเรือน

Advertisement

-กรุงเทพมหานคร เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 เขต ได้แก่ เขตลาดกระบัง และเขตประเวศ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตคันกั้นน้ำ รวม 7 แขวง

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมจากผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ โดยสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 20 ก.ย. 65 ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 15 อำเภอ 122 ตำบล 628 หมู่บ้าน ดังนี้

– มหาสารคาม เกิดฝนตกหนักรวมกับมวลน้ำจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ทำให้แม่น้ำชีล้นตลิ่ง
ในพื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

– อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ รวม 3 ตำบล 17 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 253 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

– พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอผักไห่ อำเภอบางบาล อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน และอำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 85 ตำบล 508 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,323 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น

– อ่างทอง น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอป่าโมก และอำเภอไชโย รวม 9 ตำบล 33 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 745 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น

– สิงห์บุรี น้ำท่วมในพื้นที่อำเภออินทร์บุรี รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 39 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

– ปทุมธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก รวม 21 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,926 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image