อานนท์ ซัด ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ แต่แจกหมายหลายสิบ แชร์สถิติปี’65 ถูกฟ้องไม่ต่ำกว่า 283 ชีวิต

อานนท์ ซัด ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ แต่แจกหมายหลายสิบ แชร์สถิติปี’65 ถูกฟ้องไม่ต่ำกว่า 283 ชีวิต

เมื่อวันที่ 20 กันยายน เนื่องใน “วันเยาวชนแห่งชาติ” นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ได้แชร์ข้อเขียนของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยน เกี่ยวกับสถิติการดำเนินคดีเยาวชน จากการแสดงอกทางการเมือง

โดย นายอานนท์ ระบุว่า 20 กันยายน เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ แต่วันนี้มีเยาวชนถูกดำเนินคดีการเมืองหลายสิบคน

สำหรับข้อเขียนดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยน ได้เปิดเผยรายงานสถิติเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 283 คน ใน 211 คดี หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของคดีทางการเมืองทั้งหมดจากข้อมูลที่มีอยู่ โดยเด็กอายุต่ำที่สุดที่ถูกดำเนินคดีคือ 12 ปี

ภาพรวม “คดีเยาวชน” ส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ส่วนคดีในชั้นศาลที่เยาวชนเลือกจะต่อสู้คดี ในช่วงปลายปี 2565 ศาลเยาวชนฯ ทยอยมีการนัดฟังคำพิพากษา อาทิ คดีของมีมี่-แซน ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือคดีของเพชร ในข้อหา ม.112

Advertisement

ขณะเดียวกัน ยังมีสถานการณ์ที่ เด็ก-เยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคาม ทั้งการควบคุมตัวโดยมิชอบ การบุกไปบ้าน การติดตามสอดแนม โดยมีสถิติเท่าที่ทราบข้อมูลในปีนี้อยู่ที่อย่างน้อย 35 คน หลายคนถูกติดตามต่อเนื่องหลายครั้ง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุอีกว่า เป็นเวลา 2 ปีเศษ นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก ที่จัดขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ได้จุดประกายความหวังและความฝันให้คนจำนวนมาก ทำให้ต่อมาเกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพกระจายไปสู่หลายพื้นที่ และหลากหลายประเด็น ปรากฏการณ์ที่น่าจับตาคงหนีไม่พ้น “ตัวแสดง” ในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมเหล่านี้มีอายุน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทว่า รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน และตอบโต้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา ส่งผลให้มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

Advertisement

จากการติดตามของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,853 คน ในจำนวน 1,120 คดี จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ออกมาเป็น “ตัวแสดง” ในปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ตกเป็นเป้าหมายทั้งการดำเนินคดีโดยใช้กฎหมายและการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ในส่วนของ “สถานการณ์คดีเยาวชนและความคืบหน้าคดีปี 2565” จากการติดตามของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 15 กันยายน 2565 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีสะสมจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 283 คน ในจำนวน 211 คดี (บางรายถูกดำเนินคดีหลายคดี) หรือเทียบเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 19 ของจำนวนคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล หรือเท่ากับมีคดีของเด็กและเยาวชนเกือบ 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับสัดส่วนคดีทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นคดีที่ยังดำเนินอยู่อย่างน้อย 172 คดี และคดีที่สิ้นสุดแล้ว 39 คดี โดยเด็กอายุต่ำที่สุดที่พบว่าถูกดำเนินคดี ได้แก่ เด็กอายุ 12 ปี

หากทบทวนจำนวนเยาวชนถูกดำเนินคดีสะสมตั้งแต่ปี 2563 พบว่าในปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 8 คน ในจำนวน 13 คดี ในปี 2564 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีสะสมอย่างน้อย 272 คน ในจำนวน 189 คดี และล่าสุดในปี 2565 ยอดรวมเป็นจำนวนอย่างน้อย 283 คน ในจำนวน 211 คดี

หากจำแนกตามข้อหา จะพบว่าข้อกล่าวหาที่ถูกใช้มากที่สุด ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีเยาวชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 241 คน ในจำนวน 157 คดี ด้านข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเยาวชนถูกกล่าวหา 17 คน ในจำนวน 20 คดี

จำแนกคดีเยาวชนตามข้อกล่าวหาหลัก สามารถจำแนกได้ ดังนี้

ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 241 คน 157 คดี
คดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 8 คน 4 คดี
กฎหมายอาญา ม.112 จำนวน 17 คน 20 คดี
ยุยงปลุกปั่น กฎหมายอาญา ม.116 จำนวน 3 คน 3 คดี
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 7 คน 7 คดี
มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย กฎหมายอาญา ม.215 จำนวน 136 คน 77 คดี
ไม่เลิกตามคำสั่งเจ้าพนักงาน กฎหมายอาญา ม.216 จำนวน 87 คน 39 คดี
ข้อกล่าวหา ทำให้เสียทรัพย์ กฎหมายอาญา ม.358 จำนวน 21 คน 23 คดี
วางเพลิงเผาทรัพย์ กฎหมายอาญา ม.217 จำนวน 18 คน 19 คดี

ในจำนวนเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 283 คน ในจำนวน 211 คดี จำแนกเป็นคดียังดำเนินอยู่อย่างน้อย 172 คดี และเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้วอย่างน้อย 39 คดี โดยคดีที่ยังดำเนินอยู่ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ 138 คดี และอยู่ในศาลชั้นต้น 34 คดี

ในช่วงปลายปี 2565 กำลังทยอยมีคดีเยาวชนที่ต่อสู้คดี และศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง อาทิ คดีของ “มีมี่” ถูกกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ที่แยกราชประสงค์ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 กันยายนนี้, คดีของ “แซน” เยาวชนในอำเภอภูเขียว กรณีชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยภูมิ นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 ตุลาคมนี้

รวมทั้งคดีมาตรา 112 ที่ “เพชร ธนกร” ถูกกล่าวหาจากการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่วงเวียนใหญ่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

ด้าน คดีที่สิ้นสุดแล้วจำแนกผลทางคดีได้ ดังนี้

ปรับในชั้นตำรวจ จำนวน 27 คน 16 คดี
รับสารภาพ ศาลลงโทษปรับ จำนวน 3 คน 2 คดี
รอการกำหนดโทษ จำนวน 3 คน 4 คดี
เข้าสู่มาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดีอาญา จำนวน 12 คน 9 คดี
เข้าสู่มาตรการพิเศษก่อนมีคำพิพากษา จำนวน 9 คน 7 คดี
Dismissed (จำหน่ายคดี) จำนวน 1 คน 1 คดี

ความคืบหน้า คดีเยาวชนที่ถูกกล่าวหา คดี ม.112 นับตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 15 กันยายน 2565 มีเยาวชนถูกดำเนินคดี แล้วอย่างน้อย 17 คน ในจำนวน 20 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่อยู่ในศาลชั้นต้นจำนวน 8 คดี และสิ้นสุดแล้ว 3 คดี โดยคดีที่สิ้นสุดแล้วทั้งหมดนั้นเยาวชนยอมเข้ากระบวนการใช้มาตรการพิเศษแทนการฟ้องคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 90

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายระบุว่า ยังพบ “การคุกคามด้วยมาตรการนอกกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ” โดยเยาวชนหลายรายที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม หรือเพียงแค่แสดงออกในโลกออนไลน์ กลายเป็นเป้าหมายการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยวิธีการที่ไม่ชัดเจนว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใด เช่น การควบคุมตัวโดยมิชอบ เข้าติตตามถึงบ้าน การไปพบผู้ปกครอง หรือการสอดแนมติดตาม เป็นต้น โดยสถานการณ์เหล่านี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการถูกคุกคามด้วยกฎหมายที่ดำเนินอยู่

จากการติดตามของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในช่วงปี 2564 มีเยาวชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 19 คน ส่วนในปี 2565 (ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กันยายน 2565) มีเยาวชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 35 คน โดยตัวเลขนี้เป็นข้อมูลเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลเท่านั้น

ประเด็นที่น่ากังวลคือการคุกคามในปี 2565 เจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มคุกคามเยาวชนที่ตกเป็นเป้าหมายซ้ำๆ และต่อเนื่องหลายครั้ง มีรายงานว่าเยาวชนหญิง อายุ 13 ปี รายหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่คอยติดตามคุกคามซ้ำๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 12 ครั้ง โดยใช้วิธีการคุกคามหลายรูปแบบ

นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนอีกอย่างน้อย 2 ราย ถูกคุกคามซ้ำมากกว่ากว่าหนึ่งครั้ง แนวโน้มดังกล่าวน่ากังวลกว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทิ้งท้ายว่า 2 ปีเศษ ผ่านนับแต่ปรากฎการณ์ เยาวชนปลดแอก ผู้ใหญ่หลายคนคงเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่กันแล้ว แต่สำหรับเยาวชนที่ออกมาช่วยผู้ใหญ่ปลดแอก จนตกเป็นเป้าหมายของรัฐ ถูกดำเนินคดี หรือถูกคุกคามด้วยวิธีการนอกกฎหมาย หลายคนไม่มีแม้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พวกเขาจะต้องเผชิญกับกระบวนการคุกคามเหล่านี้โดยรัฐต่อไป จนกว่า “ผู้ใหญ่” จะตระหนักเสียทีว่าการใช้วิธีการเหล่านี้ควบคุมปราบปรามการแสดงออกทางการเมือง ไม่ใช่สิ่งตอบแทนที่พวกเขาสมควรได้รับและไม่ใช่หนทางในการแก้ไขสถานการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนเหล่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image