บทนำ : อีกสเต็ป-โควิด

การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 21 ก.ย. มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยนายอนุทินได้ลงนามยกเลิกโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค 2.ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล 3.ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ และ 4.ด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในลำดับถัดไปเพื่อกำหนดใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป

และ 2.เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยก่อนเข้าประเทศ ยกเลิกแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเอกสารวัคซีน หรือผลการตรวจ ATK ทั้งนี้ ยังคงการเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย หรือที่ไม่แสดงอาการ ให้ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และตรวจ ATK และให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง และยังรับทราบเรื่องอื่นๆ อาทิ แผนบริหารจัดการวัคซีน การให้วัคซีนในเด็ก ฯลฯ

ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ หลังจากที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในระดับโลก รวมถึงประเทศไทย สิ่งที่จะต้องดำเนินการจากนี้ก็คือการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำอย่างมากจากช่วงต่อสู้กับการแพร่ระบาด ซึ่งการฟื้นฟูยังมีปัญหาจากวิกฤตภายนอกประเทศ ทั้งเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันอันเป็นผลจากสงครามรัสเซียยูเครน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่ดีจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เริ่มเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ รมว.คลังแถลงว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจทำงานได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยบางส่วนอาจดีขึ้นแต่บางส่วนยังมีปัญหาอยู่ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image