แอมเนสตี้จี้ ‘ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ‘ชลิตา’ อัดรัฐบาลไทย ต่ออายุตามใจชอบ-สภาตรวจสอบไม่ได้

แอมเนสตี้จี้ ‘ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ชี้ที่ผ่านมา 1,467 คน ถูกหว่านคดี ‘ชลิตา’ อัดรัฐไทย ต่ออายุตามใจชอบ-สภาตรวจสอบไม่ได้

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 กันยายน ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำโดย น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนนักกิจกรรมและนักวิชาการที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาทิ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, นางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ ป้าเป้า ทะลุกี, ต้นอ้อ เฟมินิสต์ปลดแอก ร่วมยื่นหนังสือและ 6 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย เพื่อให้ยุติการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยุติข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เกิดจากการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง เนื่องจากที่ผ่านมาข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงมากที่สุด และมีอย่างน้อย 1,467 คน ถูกดำเนินคดีดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ปิยนุช นำนักกิจกรรมเดินเท้าจากหน้ากองกำกับการ 4 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ถึงประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นผู้ถูกดำเนินคดีสลับปราศรัยถึงผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมชูป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ระบุว่า “ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หยุดการใช้กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง” ไปจนถึงป้ายข้อความขนาดเล็ก ความว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมโรคระบาด หรือควบคุมเสรีภาพประชาชน” “ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน = ขยายเวลาปิดปากผู้เห็นต่าง”

Advertisement

ผศ.ดร.ชลิตากล่าวว่า มาถึงทุกวันนี้ เราก็รู้ว่าเรื่องของโควิด-19 เบาบางลงด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ แม้กระทั่งเดือนนี้ ที่ทุกคนรู้ว่าสถานการณ์เบาบางลงมาก และกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ในเดือนนี้ก็ยังคงมีประชาชนอีกหลายกลุ่ม จำนวนมาก ถูกดำเนินคดีรายใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ แถมยังมีการใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุม เข้ามาประกอบร่วมทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก และผลเสียก็ตกกับประชาชนที่ถูกตั้งข้อหานี้

“และเราก็รู้ว่า ที่ผ่านมามีหลายคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องบ้าง ศาลยกฟ้อง แต่กระบวนการของตำรวจที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล หรือนายกฯโดยตรง ก็ยังไม่หยุดที่จะตั้งข้อหากับประชาชน ทำให้มีภาระต่อสู้คดีต่างๆ มากมาย ในการมาขึ้นศาล รายงานตัว

ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลใช้ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างมาก แม้ที่ผ่านมาทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือศาลรัฐธรรมนูญ จะมีข้อวินิจฉัยไปในทางที่เอื้อต่อความชอบธรรมในการประกาศใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โดยความรู้สึกของประชาชน สามัญสำนึกเราต่างรู้ดีว่าขัดต่อหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญอย่างมาก เอื้อต่อการอำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัดของรัฐบาล สร้างภาระให้กับประชาชน และความจริง รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากจะจำกัดอย่างจำเป็น ก็ต้องมีขอบเขต และรัฐจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน ไม่ใช่ทำแบบนี้” ผศ.ดร.ชลิตาระบุ

Advertisement

ผศ.ดร.ชลิตากล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือเรื่องของหลักการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งทำอะไรไม่ได้กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ตามใจชอบ

“ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ไม่มีใครตรวจสอบ สภาทำอะไรไม่ได้ หรือว่าสภาประเมินผลไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลดี เสียอย่างไร

ที่สำคัญ กระบวนการไม่สามารถเข้ามาถ่วงดุลได้ เพราะเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบังคับใช้ตามข้อกำหนด ก็ไม่สามารถไปร้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งที่ความจริงเป็นสิ่งที่ทำได้” ผศ.ดร.ชลิตากล่าว และว่า

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีผลกระทบแค่ต่อพวกเรา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีพื้นที่อย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย ซึ่งมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มา 17-18 ปีแล้ว

“เราทราบดีว่า ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้น กลับทรุดหนักไปอีก การใช้ในที่แห่งนั้นทำให้ประชาชนที่ถูกตั้งข้อสงสัย เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในช่วงที่เขาจะต้องถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร และเอื้ออำนวยต่อการถูกซ้อมทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ถึงเวลา พอกันที ต้องบอกให้รัฐบาลยุติการบังคับใช้กฎหมายนี้โดยทันที” ผศ.ดร.ชลิตากล่าว

จากนั้น น.ส.ปิยนุช นักวิชาการและนักกิจกรรม ร่วมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือ พร้อมระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ

นายสมพาศกล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลเรื่องโควิด ก็ขอรับข้อเสนอทั้งหมดไปดำเนินการ และจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

สำหรับ 6 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

1.ยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยคำนึงถึงความจำเป็น ความได้สัดส่วน และความเหมาะสมในการจำกัดหรืองดเว้นการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับรองในกติกาสากล ว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)

2.อนุญาตและคุ้มครองให้บุคคลหรือกลุ่มใดๆ สามารถแสดงความเห็นของตนและชุมนุมประท้วงโดยสงบในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงรัฐมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่นตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

3.ยุติการดำเนินคดีอาญากับบุคคลใดๆ อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ อันเป็นสิทธิที่พึงมีและได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

4.ดำเนินการให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชน ต่างได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำมาลงโทษ

5.ประกันว่ามาตรการทั้งปวงที่นำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเลี่ยงพันธกรณีด้านสิทธิต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับข้อกำหนดในแง่การให้ข้อมูล ความถูกต้องตามกฎหมาย และความจำเป็น รวมถึงกำหนดให้มีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระเพื่อติดตามและรายงานข้อมูลมาตรการที่นำมาใช้

6.พิจารณาและปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศและหลักความถูกต้องของกฎหมาย เพื่อนำมาประกาศใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และรองรับบทบัญญัติที่ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลผลผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อประกันความรับผิดและการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ด่วน! รัฐบาล ประกาศยุบ ศบค. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผล 1 ตุลาคมนี้ 

อนุทิน ปัดข่าว ไฟเขียวผู้ป่วยอาการน้อยไม่ต้องกักตัว ชี้ ยังลงรายละเอียดไม่ได้

ปลัด สธ.เผย ศบค.จ่อพิจารณายกเลิก/ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image