‘ทัศนัย’ เปิดงานชิ้นใหม่ ที่ต้องใช้เวลาตีความ 300 ปี เกริ่น ‘สงครามเย็นมีเรื่องเยอะ’ ไทยเป็น ‘สังคมมหรสพ’

‘ทัศนัย’ เปิดงานชิ้นใหม่ ที่ต้องใช้เวลาตีความถึง 300 ปี เกริ่น ‘สงครามเย็นมีเรื่องเยอะ’ ไทยเป็น ‘สังคมมหรสพ’

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 กันยายน ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จ.เชียงใหม่ มีการจัดงานนิทรรศการและเสวนาในหัวข้อ “ห้วงขณะอันลึกลับแห่งความเงียบ” The mysterious moment of silence ทัศนาสงครามเย็นครั้งที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม และสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ โดยมี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา และ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ร่วมวงเสวนา

ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าวถึงผลงานนิทรรศการว่า 1.ตนไม่อยากให้สิ่งที่พูด เป็นการชี้นำความคิด 2.ในบางวันก็อยากพูดถึงงานตัวเอง แต่พอจะเริ่มพูดกลับท้อใจ ไม่รู้การพูดของตนจะไปสิ้นสุดที่ไหน เพราะมีหลายสิ่งเกี่ยวเนื่องอีนุงตุงนัง ไม่มีทิศทางชัดเจน เริ่มต้นแล้วไปจบตรงไหน ต้องใช้การอ้างอิงขนาดไหนที่จะสื่อสารให้รู้เรื่องได้

สงครามเย็น มีเรื่องเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันด้านอวกาศ การเมือง การช่วงชิงอำนาจ และศีลธรรมทางการเมือง ฝั่งสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ กับฝั่งเสรีนิยม เกี่ยวข้องกับอุดมคติคริสเตียนที่สังคมไทยน้อมนำมาใช้ แล้วเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาในที่สุด

ADVERTISMENT

เกี่ยวข้องกับการกีฬา เรื่องภาพโป๊เปลือย ยาเสพติด ของเล่น มากมาย เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสงครามเย็น ซึ่งผู้จัดงานนี้ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานไว้บ้างแล้ว ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้อง ปวดหัวนิดหน่อย ไม่อยากพูด ครั้งนี้ผมได้พูดถึงบ้าง สะท้อนย้อนคิดในสิ่งที่เห็น ภายใต้เรื่องสงครามเย็น ซึ่งเกี่ยวข้องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าว

จากนั้น ผศ.ดร.ทัศนัยเล่าความรู้สึกที่ปะทุหลังผ่านเหตุการณ์รัฐประหารในเมืองไทย ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันบางอย่างที่โหมกำลังลงไปเล่าเรื่องเหล่านั้นผ่านงานศิลปะ

ADVERTISMENT

เมื่อพิธีกรถามว่า อะไรที่ทำให้นึกถึงสงครามเย็น ทำไมจึงจำเป็นต้องเล่าเรื่องสงครามเย็นในบริบทปัจจุบัน และความเงียบ ทำงานในตัวเองบ้างหรือไม่?

ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าวว่า ตนอยู่ใน “ความเงียบ” เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ธงชัย และคนอื่นๆ พูดง่ายๆ สาละวนกับเรื่องของตัวเอง

“ผมเป็นคนไมมีรสนิยม แต่ผมเคยมี แต่หลังรัฐประหารปี 2549 ชีวิตที่เคยมีสีสัน สะดุดกึก ทำให้ผมขุดเก็บตัวอยู่เงียบๆ ในสตูดิโอ อยู่โดยไม่มีรสนิยม ไม่มีความปรารถนาจะไปไหน เที่ยวทำนู่นทำนี่ ในทางกลับกัน เสียงแห่งความเงียบเหล่านั้นกลับเก็บออมพลังงานให้ผมได้ตะโกนออกมาในงาน โดยที่ไม่เสียพลังงานเรื่องอื่น ไม่มีอะไรว่อกแว่ก วันนึงจะไปไหน กินอะไร ซื้ออะไร พลังทั้งหมดลงกับงาน มันเลยเสียงดัง

ในทุกคืน ช่วงใกล้เลิกงาน ผมจะนั่งสำรวจ (cool down) ว่าวันนี้ทำอะไรลงไป ผมพยายามหาเหตุผลของสิ่งที่ทำลงไป เหตุผลมันจบ ในวันรุ่งขึ้นก่อนเริ่มทำงาน นั่งมองงานรายล้อมตัวเอง ความเงียบคืบคลานเข้ามา เวลาผ่านไปเร็ว อินเข้าไปกับงาน เหมือนไทม์แมชชีนที่พาย้อนไปพิจารณาเรื่องต่างๆ ซึ่งมันมีสิ่งที่เหลื่อมซ้อน ระหว่างความเงียบและโกลาหล จนบางเรื่องไม่น่าจะอยู่ด้วยกัน แต่กลับอยู่คู่ขนานกันไปได้ ซึ่งน่าสนใจ” ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าว

 

ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าวต่อว่า อีกประเด็นสังคมไทยถูกทำให้อึกทึก เป็นสังคมแห่งมหรสพ

“เมื่อไหร่ที่เราอยู่ในเทศกาลเหล่านั้น ความเป็นปัจเจกชน ตัวตนของเรามลายหายไป เราอยู่ในความเงียบที่เต็มไปด้วยสีสัน การละคร มรสพ และการละเล่นมากมาย โดยที่เราไม่สามารถกำหนดแรงปรารถนา ความสุข ความหฤหรรษ์ของเราเองได้เลย และนั่นคือสถานะของ ‘ประชารัฐ’ ในประเทศไทย เราก็รอวันเฉลิมฉลอง รอวันหยุด วันสำคัญในปฏิทิน ที่เราจะอยู่ในความเงียบและไม่ต้องพูดอะไร” ผศ.ดร.ทัศนัยชี้

ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าวถึงผลงานศิลปะในงานนิทรรศการ “ห้วงขณะอันลึกลับแห่งความเงียบ” ด้วยว่า ได้ซ่อนสัญลักษณ์ต่างๆ มากมายไว้ในเลเยอร์ของผลงาน ซึ่งยากจะอธิบายรายละเอียดทั้งหมด จนถึงขั้นพูดเล่นกับเพื่อนว่า งานนี้ต้องใช้เวลาตีความถึง 300 ปี

“คนในอนาคตจะกลับมาตีความสิ่งที่เราพูดไม่ได้ในวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อคอมพิวเตอร์ อัลกอริทึม ประมวลสัญลักษณ์ต่างๆ ก่อขึ้นมาเป็นความคิดที่มากกว่า จะเห็นว่างานแต่ละชิ้นพูดถึงเรื่องที่พูดไม่ได้อย่างตรงไปตรงมา” ผศ.ดร.ทัศนัยกล่าว และว่า

อย่างงานชิ้นใหญ่ ถ้ามีเครื่องสแกนเลเยอร์ต่างๆ งานชิ้นนี้จะประกอบด้วย 70-80 เลเยอร์ ที่ซ้อนกันอยู่ บางเลเยอร์แทบมองไม่เห็น

“หลังเสร็จแล้ว คือสื่อในการใช้โฆษณาชวนเชื่อ ที่ถูกใช้ในช่วงสงครามเย็น ทั้งฝั่งเสรีนิยมและสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เป็นภาพกว้างในโลกและในประเทศไทยด้วย ไม่มีการสเกตช์ แต่ศึกษาให้มีประเด็นความคิด และปล่อยให้เกิดการกำหนดแพตเทิร์น ฟอร์ม สัญลักษณ์ ในแต่ละเลเยอร์ ไม่คิดถึงหลักการความงาม แต่โยนความคิดเข้าไปในงาน ถมความคิดไปเรื่อยๆ ทุกชั้นรับพลังงาน จนถึงจุดหนึ่งที่ระเบิด ไม่มีใครที่นำทุกอย่างไปจากโลก จากประชาชน จากประเทศได้ตลอดเวลา ถึงจุดระเบิด มันต้องระเบิด ซึ่งเป็นจุดที่มีพลังงานไม่สิ้นสุด และเมื่อถึงจุดนั้นตัวงานจะสื่อสารกับผมว่า พอแล้วนะ จนถึงเลเยอร์ที่ 70 จะทะลักออกมา” ผศ.ดร.ทัศนัยเผย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image