ทูตรัศม์ แนะแพลนบี จัดเอเปกให้ไม่กร่อย แต่ไม่รู้กึ๋นผู้นำจะคิดได้ไหม แค่ 1-8 ยังนับเองไม่ได้

ทูตรัศม์ แนะแพลนบี จัดเอเปกให้ไม่กร่อย แต่ไม่รู้กึ๋นผู้นำจะคิดได้ไหม แค่ 1-8 ยังนับเองไม่ได้

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายรัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย เจ้าของเพจทูตนอกแถว ได้เขียนข้อความเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ “ลุงสี vs ป้าไช่ ? (จัด APEC 2022 ไทยได้อะไร?)” ความว่า

ประเทศไทยเรากำลังจะเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ คือการประชุม APEC 2022 ในระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ ซึ่งไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศที่มีสมาชิกถึง 21 รายนี้มาแล้วเมื่อปี 2546 โดยในครั้งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ผู้นำโลกต่างมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย

อย่างไรก็ตามในสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิดทำให้การประชุม APEC สองครั้งที่ผ่านมา ทั้งที่อาร์เจนตินาและนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ เปลี่ยนเป็นการจัดประชุมทางออนไลน์แทน แต่แม้กระนั้น ถึงตอนนี้ดูเหมือนทางการไทยจะยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดการประชุมครั้งนี้อย่างเต็มรูปแบบ ที่เชิญสมาชิกทั้งหมดบินมาร่วมที่กรุงเทพฯในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้

ทำให้มีเสียงตั้งข้อสังสัย ซึ่งรวมทั้งในหมู่แวดวงการทูต ถึงความจำเป็นของไทยในการจัดการประชุมครั้งนี้อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนตัวผมเองก็คิดว่าเราน่าจะจัดแบบออนไลน์มากกว่า เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันที่ยังมีทั้งโควิดและสงครามในยูเครน และเพื่อเป็นการใช้งบประมาณของเราอย่างคุ้มค่าในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบางสืบเนื่องจากปัญหาต่างๆรวมทั้งความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐบาลเอง

Advertisement

นอกจากนี้การจัดแบบออนไลน์ยังเป็นโอกาสให้ไทยสามารถนำเสนอขีดความสามารถด้าน IT ของไทยด้วย โดยอาจมีการลองทำ metaverse meeting session การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในรูปแบบออนไลน์ซึ่งภายหลังอาจเอาคลิปดังกล่าวมาเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ เช่น YouTube เพื่อให้ประชาชนอื่น ๆ ที่สนใจได้รับชม และอีกน่าจะมีอีกหลายอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโดยตรง เช่นกระทรวงดิจิทัลฯ น่าจะรู้ดีกว่าผม (และอาจมีเวลาว่างมานำเสนอและคิดเรื่องนี้ หากไม่มัวแต่ไปไล่ล่าปิดเว็บอื่น ๆ)

การจัดประชุมอย่างเต็มรูปแบบของไทยนั้น ผมเห็นว่าจะคุ้มค่าต่อเมื่อผู้นำสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย ได้มาร่วมประชุม ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศไทยกลับมาสู่ความสนใจของโลกบ้าง (จากที่ตกจอเรดาร์ไปนานแล้ว) ก็จะเป็นโอกาสให้ผู้นำทั้งสามได้มาพบกันและใช้เวทีการประชุมนี้เพื่อหารือเกี่ยวกับทางออกของสงครามในยูเครน เพื่อช่วยนำสันติภาพคืนสู่โลก

ถ้าเป็นดังนี้ ผมก็เห็นว่ามันยังคุ้มค่า

Advertisement

แต่ช้าก่อน! ไม่กี่วันก่อนหน้าการจัดการประชุม APEC ที่กรุงเทพ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลี ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. ซึ่งในชั้นนี้ดูเหมือนทั้งผู้นำสหรัฐฯ จีนและรัสเซียจะตอบรับแล้ว และไม่ต้องสงสัยเลยว่าทุกสายตาของโลกจะต้องจับไปที่การประชุมอันสำคัญยิ่งนั้น เพราะนี่คือการประชุมของกลุ่มประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ซึ่งมีทั้งประเด็นการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อทั้งโลก น้ำหนักความสำคัญของการประชุมนี้จึงมีมากกว่าการประชุมเอเปคยิ่งนัก

คำถามก็คือถ้าผู้นำมหาอำนาจทั้งสามเขาพบกันที่บาหลีสองวันก่อนหน้าแล้ว ใครเขาจะบินมาประชุมที่กรุงเทพฯอีกไหม?

เท่าที่ทราบ รมว. กต. ไทยที่เพิ่งถ่อบินไปรัสเซีย “แบบลับๆ” เมื่อต้นเดือนนี้ คาดว่าวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อไปยื่นหนังสือเชิญ ปธน. ปูติน พยามจะให้เขามาประชุมที่ไทย

(ก็เลยเป็นที่มาของการถูกฝ่ายรัสเซียเอาไปใช้โฆษณาต่อว่าไทยบินไปหาเพื่อแสดงความเข้าใจเหตุผลที่รัสเซียบุกยูเครน ซึ่งมันไม่ได้ทำให้ประเทศไทยดูดีในสายตาชาวโลกเลย)

ถึงกระนั้นมันก็ยังน่าคิดว่าถ้าปูตินไปบาหลีแล้ว เขาจะมาไทยอีกไหม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักทั้งภายนอกและภายในของรัสเซียเอง?

กลายเป็นว่าบินไปให้เขาเอาไปโฆษณาชวนเชื่อให้เสียชื่อประเทศ แล้วเขาก็อาจไม่มาให้เมื่อยตุ้มอีกด้วย
และในช่วงที่ไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์กที่มีขึ้นอยู่ขณะนี้ ก็ได้ยินว่า รมว. กต. ไทยพยายามจะขอเข้าพบ ปธน.ไบเดน แต่ยังไม่รู้เขาจะให้พบไหม และฟังมาว่าเขาอาจจะไม่มาไทย (ได้ยินว่าอ้างติดงานแต่งงานหลานสาว ซึ่งถ้าจริงมันเหมือนเขาไม่ให้ค่าเราเลย คือน่าอายมาก)

ทำให้ก็จะเหลือแต่แค่ลุงสีของจีน ซึ่งเมื่อประกอบกับการประชุม G20 ที่จะมีขึ้นก่อนหน้าไม่กี่วันและมีผู้นำสำคัญเข้าร่วมกันครบ การประชุม APEC 2022 ที่ไทยจัดก็มีสิทธิเป็นงานกร่อย จืดชืด ที่แทบไม่มีใครให้ความสนใจใดๆ และที่นับเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่ง

แต่ช้าก่อน! การประชุม APEC มีลักษณะพิเศษกว่าการประชุมระหว่างประเทศอื่นตรงที่มีไต้หวันรวมอยู่ด้วย ดังนั้นถ้า ปธน.ไต้หวันมาไทยก็จะเป็นโอกาสที่จะได้มีการพบกันระหว่างลุงสีกับป้าไช่ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นจุดสนใจให้ชาวโลกได้ โดยเฉพาะหากไทยสามารถมีบทบาทช่วยให้ทั้งสองผู้นำปรับความเข้าใจกันได้ในระดับหนึ่ง

ก็ต้องขึ้นอยู่กับกึ๋นหรือฝีมือของผู้บริหารรัฐบาลยุคนี้ว่าจะมีเท่าไหร่ ที่จะทำให้การประชุมเอเปคนี้มีสีสันความน่าสนใจและคุ้มค่ากับงบประมาณจากภาษีที่ใช้ไปเพื่อการนี้ซึ่งไม่ใช่น้อยๆ

ถ้ายังจะเดินหน้าจัดอย่างเต็มรูปแบบ ผมเองก็ขอให้ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะมันคือเงินภาษีของคนไทยทุกคนที่ลงไป ว่าจะได้อะไรกลับคืนมากบ้าง?

แต่หากเป็นเพียงเพราะความดื้อดึงอยากจะจัดเต็มรูปแบบเพื่อจะมีโอกาสได้ชื่อว่าเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับอินเตอร์ที่มีผู้นำโลกเข้าร่วม จะได้ไม่น้อยหน้าอดีตผู้นำไทยที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนี้อย่างสำเร็จท่วมท้นก่อนหน้า

และยิ่งหากไม่มีประเทศสำคัญเข้าร่วม ไม่สามารถดึงดูดความน่าสนใจใดๆได้

มันจะกลายเป็นความน่าเสียดายภาษีและน่าสงสารประชาชนคนไทยในภาวะปัจจุบัน

และที่หวังว่าจะเทียบเคียงผู้นำไทยในอดีตที่เคยจัดการประชุมนี้มาแล้วได้นั้น คือไม่ว่าในด้านการยอมรับของโลก วิสัยทัศน์ความสามารถส่วนตัว ตลอดจนความแตกต่างระหว่างศักดิ์ศรีความสง่างามของผู้นำที่ชนะการเลือกตั้งแท้จริง กับคนที่ทำรัฐประหารแล้วแก้กติกาเข้าข้างตนเอง ให้คนที่แต่งตั้งมาช่วยยกมือสนับสนุนเพื่อให้ได้ตำแหน่งมาอย่างไม่ต้องอาย

มันแตกต่างกันไกลลิบลับครับ

แถมบางคนยังไร้ซึ่งมารยาทและจริยธรรมที่ควรจะนับเลขหนึ่งถึงแปดได้เองอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image