สถานะไทยกับเอเปค!

สถานะไทยกับเอเปค!
สุรชาติ บำรุงสุข

แทบจะเป็นเหมือน “ฟ้าผ่า” ลงกลางใจผู้นำรัฐบาลไทยทันที เมื่อมีรายงานข่าวปรากฏว่า ผู้นำสหรัฐจะไม่เข้าร่วมการประชุมเอเปคที่กรุงเทพ และทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วผู้นำประเทศไหนจะไม่มาอีก?

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยเริ่มปล่อยโฆษณา “การประชุมเอเปค 2022” ออกสู่สังคม ด้วยคำขวัญ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยการประชุมจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน นี้

แต่สำหรับรัฐบาลแล้ว การประชุมดังกล่าวไม่เพียงจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกเท่านั้น หากยังมีบทบาทในการโฆษณาทางการเมืองให้แก่รัฐบาลผู้จัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการส่งเสริมบทบาททางการเมืองของนายกรัฐมนตรีไทยโดยตรงอีกด้วย จนดูจะเป็น “ความฝัน” ของผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลว่า ท่านนายพลไทยจะก้าวสู่เวทีโลกด้วยการเป็นประธานการประชุมเอเปค

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐบาลไทยอาจต้องทำความเข้าใจว่า การจะทำให้เกิดผลในสามส่วนนี้ได้จริง การขับเคลื่อนบทบาทของรัฐบาลไทยในเวทีโลกจะต้องเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ เพราะการประชุมระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะ “เชิดหน้าชูตา” ประเทศและผู้นำรัฐบาลได้เลย หากแต่การสร้างสถานะของประเทศไทยผ่านการแสดงบทบาทของรัฐบาลในเวทีโลกต่างหากที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของ “อารยรัฐ” ในสากล ฉะนั้น จึงไม่ควรตั้งความหวังว่า การประชุมนี้จะเป็นเหมือน “งานไอโอ” ที่รัฐบาลชอบทำลวงกับสังคมภายใน แล้วเราจะทำอย่างเดียวกันได้ในเวทีการเมืองโลก

สิ่งที่อาจจะต้องยอมรับเป็นปัญหาพื้นฐานคือ บทบาทของไทยในเวทีสากลในช่วงที่ผ่านมา “มีปัญหา” จนอาจกล่าวได้ว่า สถานะไทยในสากลที่เคยเป็น “จุดขาย” วันนี้กลับกลายเป็น “จุดด้อย” และไม่ชวนให้เวทีโลกหันมามองไทยอย่างที่เคยเป็นมา ดังเป็นที่รับรู้กันว่า ประเทศในภูมิภาคที่ได้รับความสนใจทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมากคือ “อินโดนีเซียและเวียดนาม” จนเราอาจตั้งคำถามถึงสถานะของประเทศในมุมมองภูมิภาคว่า ทำไมเกียรติภูมิทางการเมืองของไทยจึงตกต่ำลง และทำไมไทยจึงเป็น “ประเทศที่ไม่น่าสนใจ” เช่นเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศ ทั้งที่ในอดีต เรามักชอบพูดเสมอว่า ไทยก้าวหน้ามากกว่าประเทศทั้งสอง

หากย้อนมองตัวเราเองสักนิด เราอาจจะพบว่า การเมืองไทยที่เคยเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยหลังชัยชนะจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปี 2535 มีส่วนอย่างมากต่อการสร้างสถานะของประเทศที่อยู่ใน “กระแสคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” อันเป็นกระแสการเมืองโลกที่มาพร้อมกับการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น การสร้างประชาธิปไตยไทยจึงถูกยกให้เป็นตัวแบบของภูมิภาค และเป็นจุดขายทางการเมืองของไทย ที่สอดรับกับโลกาภิวัตน์ที่เป็นกระแสประชาธิปไตย

แต่สำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหารสายเหยี่ยว และบรรดาผู้นำพลเรือนสายขวาจัดนั้น ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ “น่ารังเกียจ” และมีชุดความคิดหลักว่า “ไทยจะต้องไม่เป็นประชาธิปไตย” เพราะประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคามทางการเมือง” ต่อสถานะและผลประโยชน์ของพวกเขา โดยเฉพาะประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้เกิดสภาวะของ “การเมืองแบบมวลชน” ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากกลุ่มต่างๆ และจากชนชั้นต่างๆ หรือบางทีพวกเขานำเสนอวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าระบอบพันทาง ภายใต้การนำและควบคุมของผู้นำทหาร

ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่รัฐประหารถึง 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 ผลสืบเนื่องที่ชัดเจนคือ ดัชนีทางการเมืองของประเทศไทยตกต่ำลงอย่างมาก อีกทั้งรัฐประหารยังเป็นสัญญาณถึงความไร้เสถียรภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แม้การเมืองในระบบรัฐสภาอาจจะมีปัญหา แต่ความแน่นอนคือ ปัญหาจะถูกแก้โดยกระบวนการทางรัฐสภา ไม่ใช่ด้วยการรัฐประหาร … การเมืองหลังรัฐประหารจึงถูกมองเชิงลบจากโลกภายนอกว่าเป็น “การเมืองของความไม่แน่นอน” และเป็น “การเมืองของความด้อยพัฒนา”

ดังนั้น แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง 2562 แต่รัฐบาลต่างประเทศและนักลงทุนระหว่างประเทศรู้ดีว่าเป็น “รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจ” และรู้ดีในทางสากลว่า รัฐบาลเช่นนี้จำเป็นต้องพึ่งพารัฐมหาอำนาจภายนอกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้คอยให้การสนับสนุนทางการเมือง

การต้องพึ่งพาความสนับสนุนจาก “รัฐมหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ย่อมทำให้นโยบายต่างประเทศไทยหันไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐมหาอำนาจเหล่านั้น ไม่แปลกที่ “รัฐบาลทหาร 2557” จนถึง “รัฐบาลทหารแปลงรูป 2562” จะถูกมองด้วยสำนวนการเมืองโลกว่า ไทย “เล่นไพ่จีน” ประกอบกับกลุ่มปีกขวาไทยที่สนับสนุนรัฐบาลมีทิศทางแบบ “เกลียดฝรั่ง-กอดจีน” ด้วย

อีกทั้ง การรังเกียจประชาธิปไตยทำให้ผู้นำไทยฝ่ายขวาหลังการรัฐประหาร ทำให้เกิดความรู้สึก “ต่อต้านอเมริกัน” และต่อต้านตะวันตกไปโดยปริยาย ในอีกด้านก็เกิดความรู้สึก “ชื่นชอบจีน-ชื่นชมรัสเซีย” ไปอย่างไม่น่าเชื่อ จนเป็นเหมือน “โลกที่กลับหัวกลับหาง” ของฝ่ายขวาไทยในปัจจุบันแตกต่างจากยุคสงครามเย็นอย่างสิ้นเชิง และเป็นภาพสะท้อนความคิดของปีกอนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการให้ไทยอยู่กับกระแสประชาธิปไตย ดังเช่นที่พวกเขาส่วนหนึ่งเคยเรียกร้องให้ “ปิดประเทศ” ด้วยการรัฐประหารมาแล้ว

ดังนั้น “ข้อสอบ 3 ข้อ” ในเบื้องต้นที่จะทดสอบการแสดงบทบาทของรัฐบาลไทย คือ ไทยจะแสดงบทบาทอย่างไรกับปัญหาความรุนแรงที่เป็นผลจากการรัฐประหารในเมียนมา ไทยจะแสดงบทบาทเช่นไรกับปัญหาสงครามยูเครน และไทยจะนำเสนอภาพของตัวเองอย่างไรในเวทีโลก

เราอาจต้องยอมรับความจริงว่า รัฐบาลไทย “สอบตก” ทั้งสามข้อ … 1) ด้วยความสัมพันธ์แบบ “ใจถึงใจ” ของผู้นำทหาร รัฐบาลของอดีตผู้นำรัฐประหารไทยจึงแสดงท่าทีชัดเจนในการปกป้องรัฐบาลรัฐประหารเมียนมา มากกว่าจะแสดงบทบาททางด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม 2) รัฐบาลไทยตัดสินใจงดออกเสียงในญัตติว่าจะให้ผู้นำยูเครนส่งวีดีทัศน์สำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้หรือไม่ จนเป็นดังการขาด “จุดยืน” ในการตัดสินใจด้านต่างประเทศ ทั้งที่ประเด็นนี้ไม่มีความซับซ้อนจนต้องงดออกเสียง อีกทั้ง ปีกขวาไทยได้กลายเป็น “กองเชียร์สงคราม” ให้แก่รัสเซียไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ (รองนายกรัฐมนตรีของไทยเองก็กล่าวผ่านวีดีทัศน์ในการประชุมนี้) และ 3) การเมืองไทยเองก็ไม่มีความแน่นอน และไม่ชัดเจนว่าจะเกิดปัญหาเช่นไรหรือไม่หลังคำตัดสินวันที่ 30 กันยายน … ทิศทางการเมืองทั้งภายนอกและภายในเช่นนี้ “ไม่มีจุดขาย” และไม่เป็นปัจจัยบวกที่จะเชิญชวนให้ “ผู้นำโลก” มากรุงเทพด้วยความสนใจไทย เพราะความสนใจได้ย้ายไปอยู่กับเพื่อนบ้านเสียแล้ว

ดังนั้น วันนี้เห็นชัดว่า ผู้นำหลายประเทศดูจะอยากไปประชุม “จี-20” ที่บาหลี ในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน มากกว่าจะมา “เอเปค 2022” ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ที่กรุงเทพ และการไม่ตอบรับการมาร่วมประชุมของผู้นำอเมริกัน น่าจะต้องถือว่าเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงสถานะของไทยในเวทีสากลที่เราควรต้องพิจารณา

หรือว่าทั้งหมดนี้คือ สิ่งบอกเหตุว่าไทยกำลัง “ตกขบวนรถไฟ” สายโลกาภิวัตน์ และเป็นประเทศที่ไม่น่าสนใจในเวทีสากลเท่านั้นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image