วิษณุ-สมศักดิ์ บินดูงาน ‘ศาลยาเสพติด’ ออสเตรเลีย เล็งประยุกต์กำไล EM บำบัด-คุมประพฤติ

วิษณุ-สมศักดิ์ และคณะบินดูงานศาลยาเสพติดออสเตรเลีย ขอเอกสารเอากลับไปศึกษา รมว.ยธ.เล็งประยุกต์ใช้กำไล EM ช่วยบำบัด-คุมประพฤติ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ประเทศออสเตรเลีย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เดินทางเยือนประเทศออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือระดับนโยบายและการศึกษาดูงานว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างไทย-ออสเตรเลีย

โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายมนตรี ศิลป์มหาบัณฑิต ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พล.ต.ท.พรชัย เจริญวงศ์ รักษาราชการแทนรอง ผบช.ปส. พ.อ.บุรี บุญธรรม รอง ผอ.สำนักปฏิบัติการข่าว ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย และนายอภิชาติ ใจงาม นักวิชาการ กรมศุลกากร ร่วมคณะ

Advertisement

โดยคณะได้เดินทางไปยังศาลยาเสพติดรัฐนิวเซาท์เวลส์ สาขาพารามัตต้า เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปหัวข้อระบบและกระบวนการยุติธรรมอาญาสำหรับคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โครงสร้างและระบบการดำเนินงานของศาล มาตรการเบี่ยงเบนการลงโทษและโครงสร้างการส่งรักษา ฝึกทักษะ การคืนสู่สังคมและการติดตาม โดยมี นายแกรี่ สติลล์ ผู้พิพากษาประจำศาลยาเสพติด รัฐนิวเซาท์เวลส์ สาขาพารามัตต้า ให้การต้อนรับ ซึ่งนายวิษณุ ได้ให้ความสนใจ พร้อมขอเอกสารและข้อมูลต่างๆ เพื่อนำกลับไปศึกษาที่ประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะเรื่องของศาลคดียาเสพติดและกระบวนการบำบัดผู้เสพ

ด้าน นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า วิธีการของศาลคดียาเสพติดออสเตรเลีย ให้ความสำคัญกับการบำบัดผู้เสพยาเสพติด เพราะต้องการลดผู้กระทำผิดเล็กน้อย หรือบุคคลที่มีโอกาสพัฒนาตัวได้ ไม่ต้องเข้าสู่เรือนจำ เพราะรัฐจะต้องมีรายจ่ายในส่วนนี้ 150,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อคนต่อปี หรือประมาณ 3.67 ล้านบาท ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐไปได้ นอกจากนี้ คณะยังได้ติดตามรูปแบบ การติดตามผู้เสพ ซึ่งออสเตรเลียจะให้มารายงานตัวทุกสัปดาห์ รวมถึงการกักบริเวณห้ามออกจากบ้าน ตั้งแต่เวลา 19.00 น. จนถึงเช้า โดยใช้ตำรวจสอดส่องดูแล

จะเห็นว่าลักษณะการทำงานของการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดของไทยและออสเตรเลียไม่ได้แตกต่างกัน แต่ของเขามีศาลยาเสพติดเฉพาะ ซึ่งศาลจะทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ช่วยลดงานและภาระของศาลต่างๆ ได้ สิ่งที่ตนมองเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงยุติธรรม โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เรามีอยู่แล้ว คือ กำไล EM และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรมคุมประพฤติ ดังนั้นเราควรนำมาประยุกต์ใช้ ติตตามผู้เสพด้วยกำไล EM ไม่ต้องเพิ่มภาระให้ตำรวจ ตนคิดว่าเราบูรณาการได้ ช่วยประหยัดรายจ่ายในการสร้างศูนย์บำบัดฟื้นฟูเพิ่ม

“หากเราดูกระบวนการของไทยกับออสเตรเลียถือว่าไม่แตกต่างกัน ผมยืนยันว่าสิ่งที่เราทำในการช่วยบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การมาดูงานในครั้งนี้ถือว่าได้ประโยชน์มาก ได้ความรู้ในการกลับไปพัฒนาระบบของไทย ช่วยลดงบประมาณและใช้สิ่งที่เรามีอยู่ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการติดกำไล EM เพื่อติดตามสำหรับผู้เสพ ดีกว่าถูกคุมขัง พวกเขาจะสามารถหางานทำมีรายได้เลี้ยงตัวเองและปรับตัวอยู่ในสังคมได้” นายสมศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image