รายงานหน้า 2 : วิพากษ์ข้อดี-ข้อด้อย กฎเหล็ก 180 วัน

วิพากษ์ข้อดี-ข้อด้อย

กฎเหล็ก 180 วัน

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคการเมืองออกมาวิจารณ์กฎระเบียบการหาเสียงเลือกตั้งของ ส.ส.ในช่วงระยะเวลา 180 วัน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองซีกรัฐบาล

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

การที่ กกต.ออกมาตรการการหาเสียง 180 วัน ให้กับบรรดานักการเมืองที่จะต้องถือปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง แต่มองดูแลเหมือนกับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ ส.ส.ที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างมาก เพราะ 180 วันต่อนี้ไปเหมือนกับปิดทางให้กับบรรดานักการเมืองหรือ ส.ส.ฝ่ายค้าน ห้ามทุกอย่างที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันคนที่อยู่ในซีกของรัฐบาลมีความได้เปรียบสามารถทำได้ในนามของรัฐบาล เช่น ล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปทางภาคอีสาน ขึ้นป้ายพร้อมทั้งมีรูปว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐติดอยู่ด้วย ท่าทีของ กกต.บอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ทั้งที่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ แสดงว่า กกต.อาจจะดูไม่ละเอียดรอบคอบ เลยทำให้มีข้อกังขาและมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า 180 วัน เพื่อเปิดทางหรือเอื้อให้ซีกรัฐบาลหาเสียงได้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายค้าน

การที่ ส.ส.จะไปร่วมงานและสนับสนุนรายจ่ายประชาชนก็เช่นกัน การที่ห้ามมองดูแล้วขัดกับหลักธรรมชาติและหลักการเมืองจริงๆ คนที่ติดตามการเมือง ก็จะรู้ว่านักการเมืองไปร่วมงานก็ต้องมีการสนับสนุนอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย หากทำแบบนี้ยิ่งทำให้คนหาช่องว่างในการทุจริตกันมากขึ้น ในการแอบจ่ายหรือหาวิธีการในการจ่าย ขณะเดียวกันก็จะมีการกลั่นแกล้งกันมากขึ้น เช่น นาย ก.ไปงานไม่จ่าย แต่นาย ข.ไปจ่ายให้ และนาย ข.เอาหลักฐานไปแจ้งนาย ก.ว่ามีการจ่ายเงิน กว่า กกต.จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนและพิจารณา ที่สำคัญกว่าศาลจะตัดสิน ทำให้นาย ก.เสียโอกาสไปอีก ภาพโดยรวม 180 วัน เปิดโอกาสให้รัฐบาลได้เปรียบในการหาเสียง และใช้ช่องว่างทางกฎหมายโจมตีเล่นงานกัน ทำให้การเมืองท้ายที่สุดแล้ว กลายเป็นว่าการบริหารการเลือกตั้งไม่มีระบบธรรมาภิบาล

Advertisement

ประเด็น การห้ามแจกของผู้ประสบภัยดูแล้วขัดกับลักษณะของการเมืองไทยคือ ผู้สมัคร ส.ส.กับประชาชนต้องช่วยเหลือกัน เนื่องจากระบบข้าราชการไทยไม่สามารถดูแลได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องพึ่งพานักการเมือง เวลาประชาชนมีปัญหา อาทิ การแพร่ระบาดไวรัสโควิดล่าสุด คนที่ดูแลประชาชนคือนักการเมืองทั้งสิ้น การออกกฎแบบนี้ทำให้ประชาชนยิ่งเสียโอกาส โดยเฉพาะพายุจะเข้า น้ำกำลังจะท่วม รัฐบาลดูแลประชาชนได้ไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนต้องหันมาพึ่งพานักการเมือง หากนักการเมืองดูแลไม่ได้ ทำให้ประชาชนเสียหาย เสียโอกาส ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ของ ส.ส.โดยตรง แต่เป็นเพราะโครงสร้างของประเทศ ไม่สามารถดูแลประชาชนได้ ก็ต้องให้ประชาชนไปพึ่ง ส.ส.

การที่หัวหน้าพรรคไปหาเสียงห้ามเหมาคนไปฟัง เรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้ กกต.ทำข้อบังคับแบบนี้อยู่ในอุดมคติมาก ทำให้สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายทั้งหมด แต่เอื้อให้กับรัฐบาลอย่างเดียวเลย รัฐบาลไปไหนมาไหนก็ใช้กลไกในการจัดตั้งให้ไปฟัง ครม. ให้ไปฟังรัฐมนตรี แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำไม่ได้ นี่คือปัญหา ผมคิดว่ากติกาที่ออกมาเอื้อให้กับฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด

ส่วนการโยกย้ายข้าราชการช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากนักการเมือง ก็มีสัญญาว่าจะต้องมาเป็นหัวคะแนน เพราะทุกคนที่อยากลงจังหวัดดีๆ อำเภอดีๆ ก็ต้องใช้กลไกของนักการเมืองวิ่งเต้น ก็ต้องทดแทนบุญคุณไปหาคะแนนมาให้ผู้ที่เอื้อประโยชน์ให้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการประจำจังหวัดหลักๆ ก็ต้องมาทดแทนบุญคุณกัน นี่คือระบบอุปถัมภ์ของนักการเมืองไทย ที่มีการอุปถัมภ์การเมืองกับข้าราชการประจำ สุดท้ายแล้วข้าราชการประจำก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ หรือเต็มศักยภาพ เพราะต้องไปทดแทนผู้มีบุญคุณก็คือนักการเมือง

การทำงานของ กกต.จังหวัดเชื่อคงทำงานกันยาก เพราะหลักการมาจากอุดมคติ ทำให้ขัดกับหลักการปฏิบัติ ทำให้ทำงานได้ยากมากขึ้น คราวนี้จะทำให้มีการร้องเรียนกันอย่างมาก ส่งผลให้บรรทัดฐานของ กกต.ทำงานกันหลายมาตรฐาน

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

กฎระเบียบที่ออกมาในเรื่องการติดป้าย ที่บอกว่า ว่าที่ผู้สมัครห้ามให้ทรัพย์สิน จะหาเสียงได้ต้องขอเจ้าภาพ ผมคิดว่าความจริงไม่ต่างจากระเบียบเดิมมากเท่าไหร่ แต่มีประเด็นทางสังคมเข้ามา พอดีตอนนี้มีอุทกภัยน้ำท่วม ปัญหาจะอยู่ตรงนี้ว่า ว่าที่ผู้สมัครนั้นดูจะทำให้เกิดการลักลั่น ได้เปรียบเสียเปรียบกันเล็กน้อย สมมุติเขตหนึ่งในจังหวัดหนึ่ง ผู้สมัครรายเดิมพรรคเดิมไม่ลงสมัคร แต่มีคนอื่นมาลงสมัคร ผู้สมัครรายเดิมคนนี้ก็ไม่เข้าคุณสมบัติ ไม่ว่าจะให้ทรัพย์สินหรือเอาของไปช่วยเหลือน้ำท่วม แต่คนก็จะจำในรูปแบบของพรรค

ดังนั้น ผมจึงคิดว่าจะมีช่องให้ถูไถกันได้ แต่ถือว่าออกระเบียบมาได้ค่อนข้างละเอียด เช่น ห้ามเกณฑ์คนมาฟัง ช่วยพวงหรีดดอกไม้ได้ แต่หรีดพัดลมห้าม ผมคิดว่าตรงนี้ออกมาเพื่อครอบคลุมปัญหาที่ กกต.เคยทำพลาด และไปแพ้คดีในศาล อย่างเช่น นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ไปถวายใส่ซองทำบุญไป 2,000 บาท ความจริง กกต.ควรออกระเบียบที่ไม่ใช่แบบหยุมหยิม อย่างที่ลงละเอียด ควรออกแบบกว้างๆ ไปเลย เช่น ทำบุญได้ตามจารีตประเพณี แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการรับปากว่าจะให้หรือเพื่อให้มาลงคะแนน ซึ่งตรงนี้คิดว่าพอเป็นระเบียบของไทยและลงรายละเอียด ทำให้คนขยับตัวได้ยากขึ้น แต่ก็จะมีบางคนได้เปรียบเสียเปรียบกัน อย่างเช่น คนที่รู้ Tactics (กลวิธี) รู้วิธีการจากช่อง

ทั้งนี้ ระเบียบที่ออกมาถือว่าลงพื้นที่ก็ห้ามให้สิ่งของ ถามว่าแฟร์ไหม ก็ใช้กับทุกคน แต่ถามว่าใครได้เปรียบ ต้องพูดแบบตรงๆ จะมีคนได้เปรียบอยู่กลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่มีอำนาจรัฐ เพราะอย่างไรคนที่ลงไปช่วยเหลือตอนนี้คือคนที่มีอำนาจรัฐก็จะได้เปรียบ ผมคิดว่าถ้ามองว่าแฟร์ ก็แฟร์ แต่ถ้ามองว่าไม่แฟร์ ก็จะมีคนบางกลุ่มได้เปรียบอยู่

ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาฯ กกต.ชี้แจงว่า หากไปร่วมงานศพสามารถให้พวงหรีดที่เป็นดอกไม้สดได้ แต่อย่างอื่นมองว่าเป็นสิ่งของ ซึ่งการให้พวงหรีดที่เป็นดอกไม้สดจะได้บุญมากกว่านั้น เรื่องนี้ผมมองว่าไร้สาระ คือการให้พวงหรีดเรามองที่วัตถุประสงค์ เราอย่ามองเป็นสิ่งของ คุณจะให้ดอกไม้หรือให้พัดลม พวงหรีดพัดลมเพิ่งมาช่วงหลัง คือคนเห็นว่าพวงหรีดดอกไม้คนก็เอาไปทิ้ง เจ้าภาพก็เอาไปทิ้ง เป็นภาระก็ว่ากันไป แต่ทีนี้พวงหรีดพัดลมที่ให้ บางทีเจ้าภาพไม่ได้เอากลับ ก็ถวายวัดต่อให้พระสงฆ์ได้ใช้กันไป ผมว่ามีประโยชน์กว่า คือถ้าจะมาลงในรายละเอียดลงลึกขนาดนี้ ผมว่า กกต.ควรทำบัญชีมาเลยว่าอะไรบ้างที่ถวายได้ไม่ได้ เป็นการก้าวก่ายวัฒนธรรมจารีตประเพณีกันมากเกินไป กกต.อาจมองว่าพวงหรีดพัดลมถือเป็นทรัพย์สินที่ให้หรือสัญญาว่าจะให้ แต่ความจริงไม่ใช่ ควรจะเขียนไปเลยว่า “ให้ได้ แต่ให้อยู่ในกรอบของจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น” ออกระเบียบมาถึงขนาดว่าให้พวงหรีดได้แต่ดอกไม้สด ห้ามเป็นพวงหรีดพัดลม ผมว่าไร้สาระเกินไป ไม่เช่นนั้นต่อไป กกต.เองจะลำบาก ในเรื่องของการออกกฎหรือระเบียบของ กกต.ยิบย่อยออกมาเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่ทำได้ สิ่งนี้ทำไม่ได้ ในอนาคตคิดว่าจะมีปัญหาในที่สุด

ส่วนกรณีที่ น.ส.นภาพร เพ็ชรจินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ในฐานะโฆษก กมธ. ที่ได้สอบถามถึงการหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย กกต.จะมีวิธีการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร เรื่องนี้คิดว่าจะมีปัญหา ส.ส.บางคนไม่ได้บูสต์โพสต์ ไม่ได้สปอนเซอร์ คือไม่มีหลักฐานในการจ่ายเงินในโซเชียลมีเดีย เราจะคำนวณกันอย่างไร ถึงที่สุดแล้วอย่างที่เปรียบเทียบในเรื่องพวงหรีด ยิ่ง กกต.ออกระเบียบยิบย่อยเท่าไร ไม่ใช่ทำให้คนไม่โกง แต่ทำให้คนไม่รู้จะทำอย่างไร แล้วจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้ไปร้องเรียน คนที่เสียหายคือประชาชน เพราะสมมุติไปฟ้องในศาล เช่น นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ไปฟ้อง กกต.ขอเรียกเงินคืนค่าเสียหายทั้งหลายทั้งปวง เงินพวกนี้ไม่ได้เอามาจาก กกต. ต้องมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพราะฉะนั้นการออกระเบียบยิบย่อย ในแง่หนึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นผลดี จะได้รู้ชัดเจน แต่ความจริงไม่ใช่ ยิ่งยิบย่อยเท่าไหร่ยิ่งทำให้ประชาชนขยับตัวไม่ได้ แล้วเกิดการฟ้องร้องหรือการร้องเพื่อแกล้งกัน เกิดการ SLAPP (การดําเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ) มากขึ้น

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.และรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องศึกษากฎระเบียบดังกล่าว ก่อนลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าว พร้อมระมัดระวังการหาเสียงมากขึ้น เชื่อว่านักการเมืองส่วนใหญ่รู้และเข้าใจกฎหมาย และปรับตัวไปตามสถานการณ์การเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี เพราะบางรายผ่านการเลือกตั้งดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะ ส.ส.เก่า ที่มีประสบการณ์มากกว่าผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ทำให้สร้างแรงกดดันในการลงพื้นที่หาเสียง โดยเฉพาะประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน

ประเด็นรัฐมนตรีและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สามารถไปร่วมงาน หรือกิจกรรมในพื้นที่ได้ อาทิ งานทำบุญ งานแต่ง งานศพ หรือไปช่วยผู้ประสบภัย แต่ห้ามใส่ซอง และแจกสิ่งของช่วยเหลือนั้น เชื่อว่าประชาชน หรือเจ้าภาพงานดังกล่าวเข้าใจ เพราะถูกกฎหมายบังคับ เพียงผู้สมัคร ส.ส.ไปร่วมงาน หรือเยี่ยมเยือนให้กำลังใจ ชาวบ้านก็ดีใจแล้วว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งแต่การห้ามขนคนไปฟังปราศรัยหาเสียง มองว่าเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ไม่ให้เข้าถึง รับรู้ข้อมูลข่าวสาร นโยบายพรรค และผู้สมัครโดยตรง อาจกระทบต่อการรณรงค์ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของ กกต. ทำให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าวลดลง กกต.ควรส่งเสริมให้ประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปฟังปราศรัยหาเสียงมากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบพิจารณาเลือกพรรคและผู้สมัคร ก่อนตัดสินใจลงคะแนนดีกว่า เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ไปใช้สิทธิมากขึ้น อย่ามองว่าผู้ไปฟังปราศรัยหาเสียง เป็นหัวคะแนน หรือถูกจ้างไปเชียร์ผู้สมัครเท่านั้น เพราะการหย่อนบัตรลงคะแนน ไม่มีใครไปบังคับ หรือชี้นำในคูหาเลือกตั้งได้

ส่วนประเด็นเลขาธิการ กกต. ได้กำชับให้ กกต.จังหวัด ต้องแม่นกฎหมาย และให้คำปรึกษาแนะนำผู้สมัครได้นั้น มองว่าเป็นการโยนภาระให้ กกต.จังหวัด ส่วนใหญ่จะแนะนำผู้สมัครว่าให้หลีกเลี่ยงการกระทำผิดที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่สามารถระบุว่าได้อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะต้องใช้ระเบียบของ กกต.อ้างอิง สุดท้ายการพิจารณาหรือการวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดอยู่ที่ กกต.กลาง เนื่องจากมีอำนาจออกใบเหลือง ส้ม แดง ได้ ไม่ใช่เป็นอำนาจของ กกต.จังหวัดอย่างใด

ภาพรวมกฎเหล็ก กกต. ข้อดีทำให้พรรคและผู้สมัครระมัดระวัง เกรงกลัวกฎหมาย ไม่กล้ากระทำผิด ข้อเสียลิดรอนสิทธิประชาชน และส่งเสริมให้มีนักร้อง เพื่อจับผิดผู้สมัครที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญเป็นการเพิ่มอำนาจ กกต.ให้พิจารณา หรือวินิจฉัยแจกใบเหลือง ส้ม แดงได้ง่ายขึ้น เพื่อมีอำนาจต่อรองกับพรรค หรือนักการเมืองที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ไปสู่การบริหารประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ในขณะที่องค์กรอิสระที่ดูแลเรื่องการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ไม่สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง จึงเป็นช่องทางให้บางองค์กรหรือบุคคล ใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้องส่งผลให้การปฏิรูปประเทศและการเมือง ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image